เปิดปม “พระยาสัจจาภิรมย์ฯ” เจ้าเมืองรับเสด็จเจ้านาย จนกลายเป็นเรื่อง

พระยาสัจจาภิรมย์อุมราชภักดี ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2467 อายุ 41 ปี ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี (ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพถนนลูกรัง ใช้เป็นภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น)

เนื้อหานี้คัดจาก เล่าให้ลูกฟัง ของพระยาสัจจาภิรมย์อุมราชภักดี กระทรวงมหาดไทย พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาสัจจาภิรมย์อุมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502

สรรพนาม “พ่อ” ในที่นี้คือตัวพระยาสัจจาภิรมย์ฯ-ผู้เขียนเอง ด้วยในที่นี้ท่านผู้เขียนถือว่าเป็นการเล่าประวัติของท่านให้ลูกๆ ฟัง

ในการคัดมาเผยแพร่ในที่นี้ ได้จัดย่อหน้าใหม่แตกต่างจากฉบับนิตยสารเพื่อให้สะดวกต่อการอ่านในระบบออนไลน์


 

“…ครั้งที่ 4 รับเสด็จกรมพระกำแพงเพชรอรรคโยธิน เสนาบดีกระทรวงคมนาคม การรับเสด็จคราวนี้โชคไม่ดี พ่อได้จัดตำหนักน้ำเป็นที่รับเสด็จ พร้อมทั้งอาหาร การบริโภค อุปโภค ด้วยทุนรอนส่วนตัวของพ่อทั้งสิ้น คราวหนึ่งนำเสด็จประพาสบ้านบึง เพื่อทอดพระเนตรไร่อ้อยและการทำน้ำตาลทรายด้วยอ้อย และเลี้ยงอาหารกลางวันที่โรงสีของนายกิมหอย ลูกขุนวัฒนา (อากรวัด) ด้วยอาหารจีนในระหว่างร่วมโต๊ะเสวย มีพระองค์ท่าน 1 พ่อ 1 พระองค์เจ้ามยุรฉัตรพระธิดาของท่าน 1 หลวงวิวรณ์วิทยุเทพ 1 กับนายทหารเป็นแพทย์ประจำพระองค์ท่าน 1 พระเสถียรถาปนกิจ (ตระกูลบุนนาค) 1 ดูเหมือนใครอีกคนหนึ่งเป็น 6 คนด้วยกัน

ท่านเสวยพลางรับสั่งพลาง พอรับสั่งถึงเรื่องการเดินรถยนต์เมล์ ก็รับสั่งถามพ่อว่า ทางรถเมล์สายหนองรีทำไมจึงไม่ให้เข้ามาถึงบ้านบึง พ่อตอบว่ารถยนต์ทุกสายในเมืองชลเมื่อขออนุญาตแล้วพ่อทำสัญญาไว้ทุกสายว่าสายใดจะเดินจากไหนถึงไหน ไม่ให้แย่งกัน เพราะรถเมล์ที่เดินจากจังหวัดถึงบ้านบึงมีผู้รับอนุญาตอยู่แล้ว สายหนองรีจะเดินแย่งไม่ได้ ท่านรับสั่งเฉยๆ ว่า “ฉันเห็นว่าได้”

พ่อก็ทูลตอบอีกว่า ที่นี่ถ้าให้แย่งคนโดยสารกันปลายทางเช่นนี้ ก็คงเกิดยิงกันตายตามนิสัยคนเมืองชล ท่านก็รับสั่งสั้นๆ ว่า “ฉันว่าเดินได้” พ่อทูลตอบว่า พ่อเป็นนายทะเบียนรถยนต์ย่อมมีอำนาจกำหนดเส้นทางเพื่อความเรียบร้อยได้ตามพระราชบัญญัติ

ท่านก็ยังรับสั่งยืนคำของท่านอยู่ แต่พ่อสังเกตเห็นพระพักตร์ซึ่งแสดงว่าโกรธ พ่อจึงทูลว่าถ้าจะโปรดให้เดินให้ได้ ก็ขอได้โปรดทรงสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร พ่อก็จะทำตาม โดยความเคารพในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นเสนาบดี ท่านนิ่งไม่รับสั่งอย่างไรอีก เมื่อเสร็จจากการเสวยแล้วก็เสด็จกลับ รุ่งขึ้นก็เสด็จศรีราชา ไปประทับแรมอยู่ที่บ้านแหลมฟาน ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี

พ่อก็ตามไปส่งเสด็จด้วยทั้งๆ ที่รู้ว่า พระองค์ท่านกริ้วพ่อ ไม่รับสั่งด้วยเลย พ่อจึงนำนายอำเภอ และผู้บังคับกองตำรวจไปเฝ้า และทูลว่า ถ้ามีพระธุระอะไรก็ขอให้ทรงใช้สอย ส่วนพ่อนั้นอยู่ไม่ได้ที่นี่ เพราะเจ้าของบ้านไม่ชอบพอ แล้วพ่อก็ทูลลากลับจังหวัดชล จึงมานึกอยู่ว่า เรารับและเลี้ยงเจ้าพระองค์นี้มาเสียข้าวสุกเปล่าแล้วยังถูกกริ้วไม่พอพระทัยอีก

ในขณะที่ท่านประทับแรมอยู่ศรีราชานั้นเอง ขุนประนนท์ผู้รับอนุญาตเดินรถสายหนองรีก็เดินเข้าไปรับคนที่บ้านบึง พ่อจึงสั่งจับตัวฟ้องศาล รุ่งจากวันนั้นพระเสถียรถาปนกิจที่ตามเสด็จได้มาพูดกับพ่อว่า เสด็จในกรมฯ รับสั่งว่าเดินได้ ทำไมพ่อถึงไปจับ พ่อบอกว่าขุนประนนท์ทำผิดกฎหมายก็ฟ้อง ลองสู้ความกันในศาลหลวงดูซี จะได้รู้ว่าใครถูกใครผิด พระเสถียรฯ ตอบพ่อว่าถอนฟ้องเลิกกันไม่ได้หรือ พ่อแกล้งตอบไปว่าถ้าเสด็จในกรมฯ สั่งให้เลิกก็จะเลิก เพราะท่านเป็นเสนาบดีมีอำนาจเหนือพ่อ แล้วพระเสถียรฯ ก็ลากลับ

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

ต่อมาสักกี่วันไม่ทราบ กรมพระกำแพงเพชรฯ ก็เสด็จกลับจากศรีราชาไปกรุงเทพฯ โดยทางเรือกลไฟเมล์ (เข้าใจว่าเป็นเรือภาณุรังษีที่เดินอยู่ระหว่างจังหวัดจันทบุรีกับกรุงเทพฯ) ครั้นต่อมาไม่กี่วันนัก ศาลเมืองชลก็ตัดสินปรับขุนประนนท์ ในฐานที่เดินรถยนต์เมล์ไปที่บ้านบึงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์

เมื่อศาลตัดสินให้ขุนประนนท์แพ้แล้ว ก็ได้ทราบว่า ขุนประนนท์ได้เข้ามาเฝ้ากรมพระกำแพงเพชรฯ ที่กรุงเทพฯ ขุนประนนท์คนนี้ นัยว่าฝากตัวเป็นข้าของในกรมฯ แต่จะมีสินบาดสินบนกันอย่างไรไม่ทราบ จึงทรงช่วยกันมากนัก เมื่อขุนประนนท์กลับไปเมืองชลก็ยื่นอุทธรณ์ ครั้นต่อมาอีก 4-5 วัน พ่อก็ได้รับโทรเลขกระทรวงมหาดไทย สั่งย้ายพ่อไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร

สมัยนี้กรมพระนครสวรรค์วรพินิจเป็นเสนาบดีมหาดไทย พ่อนึกไม่ออกว่าพ่อทำผิดอะไรจึงถูกย้ายเช่นนี้ เพราะฐานะพ่อเวลานั้นเป็นเจ้าเมืองชั้นพิเศษ เงินเดือนเดือนละ 700 บาท นับว่าเด่นกว่าเจ้าเมืองอื่นๆ ทำไมจึงให้ไปเป็นเจ้าเมืองชุมพร ซึ่งเป็นเมืองเล็กนิดเดียว มีอำเภออยู่ 2 อำเภอ กับ 1 กิ่งเท่านั้น จึงได้โทรเลขมาถามพระยาจ่าแสนยฯ อธิบดีกรมพลำภัง ว่ามีเรื่องอะไรสำหรับพ่อ ท่านโทรเลขตอบมาว่า “ให้เข้ามาพบ”

ครั้นพ่อเข้ามาพบ ท่านบอกว่าเห็นกรมกำแพงฯ เข้าไปเฝ้าครู่ใหญ่ๆ พอกรมกำแพงฯ กลับไปก็รับสั่งให้ทำโทรเลขสั่งย้ายพ่อ ท่านก็ไม่รู้เหตุผลอะไร พ่อก็เลยเล่าเรื่องกรมกำแพงฯ ให้ท่านฟัง ท่านว่าไปก่อนเถิด หมายถึงไปอยู่ชุมพร ท่านจะจัดการให้ทีหลัง พ่อก็กลับจังหวัดชล เตรียมการจะย้ายครอบครัว ในระหว่างนั้นพวกข้าราชการและพ่อค้าคฤหบดีได้จัดการเลี้ยงส่งพ่อ หม่อมเจ้าอุปพัทธพงษ์เทศาก็เสด็จร่วมด้วย มีการเลี้ยงกันที่หน้าศาลากลาง เขาจัดของขวัญให้พ่อเป็นหีบบุหรี่ทองคำ 3 หีบ ขนาดเขื่องๆ ทั้ง 3 หีบ ถามได้ความว่าเป็นของข้าราชการ 1 ของพ่อค้าคฤหบดี 1 ของแม่แสง อากรวัด สามีภรรยาอีก 1

พ่อก็คิดกระดากใจมากนักจึงบอกแก่ใครจำไม่ได้ว่า เอาหีบเดียวรวมกันก็งดงามแล้ว ต่างฝ่ายเขาต่างไม่ยอม เขาว่าเขาให้ด้วยความรักนับถือพ่อจริงๆ เพราะพ่อก็จะจากไปแล้ว ไม่ใช่เขาให้เพื่อหวังพึ่งพาบารมีอะไรพ่อ ขณะนั้นท่านเทศาประทับฟังอยู่ด้วยก็รับสั่งว่า เจ้าคุณรับของเขาเถิด เพราะฉันได้ยินอยู่ว่า เขาให้ด้วยความรักนับถือ พ่อก็ยอมตกลง แล้วก็เลี้ยงดูกัน มีคนไปกินเลี้ยงครั้งนี้ราว 200 คน เสร็จแล้วเขาก็มอบหีบทองนั้น ต่อพระพักตร์ท่านเทศา ราว 4 ทุ่มเศษก็เสร็จการเลี้ยงเพื่อส่งพ่อ แล้วพ่อก็จากจังหวัดชลไปด้วยความรักและอาลัยในพวกเขาเป็นอย่างมาก และได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2471

ครั้นมาอยู่ชุมพรได้เดือนเศษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาแก่พ่อ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 นั้น ในฐานะที่แสดงว่าพ่อรับราชการมาครบ 25 ปีบริบูรณ์ แต่ที่จริงนั้นพ่อรับราชการมาตามที่ปรากฏในประวัติตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เป็นเวลา 30 ปีแล้ว แต่พ่อถูกตัดระหว่างเป็นเด็กเสีย 4 ปี ในระหว่าง 3 เดือนแรก ที่พ่อมาอยู่ชุมพร ได้ออกไปตรวจการตามท้องที่เพื่อรู้จักภูมิประเทศและนิสัยใจคอของชาวเมืองก่อนอื่นอย่างที่เคยปฏิบัติมา นี่แหละคือทุนแห่งการปกครองในจังหวัดชุมพรนี้มีพื้นภูมิประเทศเป็นภูเขามาก สวนที่ราบก็มีราษฎรทำการเกษตรกสิกรรมกันเป็นหย่อมๆ มีสวนผลไม้มากกว่าที่นาปลูกข้าว ทั้งข้าวและผลไม้ที่ซื้อขายกันถูกๆ เช่น ลูกเงาะก็ร้อยละไม่เกินสลึง ทุเรียนก็ราวลูกละ 10 สตางค์ มะพร้าวลูกละ 2-3 สตางค์ โรงงานอุตสาหกรรมก็มีโรงน้ำแข็ง 1 โรง โรงสีข้าว 2 โรง

ทางปากน้ำติดทะเลก็มีบ้านชาวประมง และโรงงานทำปลาเค็มตากแห้งส่งไปขายต่างประเทศ พลเมืองส่วนมากยากจน คนที่นับว่ามีอันจะกินอยู่ไม่สู้จะมากนัก การโจรผู้ร้ายก็มีน้อยที่สุด ราชการงานประจำไม่ใคร่จะมีอะไรมากนัก ที่ว่าการเมืองตั้งอยู่ที่บ้านท่าตะเภา ห่างจากทะเลในราว 400 เส้น ส่วนมากชาวเมืองเป็นคนไทย แต่ตามชุมนุมตลาดมีพวกจีนเป็นคนค้าขายมากกว่าไทย อากาศเย็นสบายไม่ใคร่ร้อนตลอดปี ศาสนามีแต่ฝ่ายพุทธ ไม่มีศาสนาอื่นแทรกแซง แต่รู้สึกว่าชาวเมืองค่อนข้างโง่ แต่การพูดจาคล่องแคล่วเชื่อยากอยู่บ้าง ต้องตามคติโบราณที่ว่าพูดมากโกหกมาก

ครั้นต่อมาราวสัก 4-5 เดือน กระทรวงมหาดไทยจะเกิดการบ้าจี้อะไรขึ้นมาไม่ทราบ ได้มีตราสั่งไปยังเทศานครศรีธรรมราช มีใจความว่าให้คุมๆ พ่อไว้และไม่ให้ขอบำเหน็จ 2 ปี ครั้นพ่อทราบจากพวกของเราทางกระทรวงมหาดไทยเขาคัดสำเนาส่งไปให้พ่อ จึงทำให้รู้สึกว่า พ่อถูกกระทรวงทำโทษเอาอย่างหนัก คือลดศักดิ์จากเป็นเจ้าเมืองชั้นเอกลงมา เป็นเจ้าเมืองชั้นจัตวา และยังหยามเราประดุจคนจรจัดให้เทศาควบคุมเรา งดบำเหน็จอีก 2 ปี นี่มันเรื่องอะไรกัน

พ่อได้คำนึงถึงตัวเองอยู่ถึง 2-3 วัน จึงตกลงใจทำใบบอกตรงไปทางกระทรวงมหาดไทย ถามตรงๆ ว่าพ่อทำผิดอะไร จึงถูกลงโทษถึงเพียงนี้ และกระทรวงมหาดไทยได้ไต่สวนแล้วหรือ ถ้ายัง พ่อร้องให้ทำการไต่สวนเพื่อขอทราบความผิด ถ้าเผื่อความผิดนั้นเบา พ่อจะได้สังวรมิกระทำต่อไป แต่ถ้ารุนแรงก็ยอมรับโทษตามโทษานุโทษ แล้วพ่อก็นำใบบอกนั้นเข้ามายังกรุงเทพฯ ตรงไปหาพระยาจ่าแสนยบดีอธิบดี ซึ่งเป็นนายเหนือพ่อ พ่อก็เล่าเรื่องและปรารภความแก่ท่าน แล้วก็ยื่นใบบอกนั้น เมื่อท่านอ่านแล้วบอกแก่พ่อว่าเวลานี้ลมกำลังแรง ให้พ่อสงบไว้ก่อนแล้วท่านจะจัดการให้

เมื่อได้พูดกันอยู่ครู่หนึ่ง พ่อก็ลากลับจากห้องอธิบดี พระยาสุนทรเทพฯ เจ้ากรมปกครองเห็นพ่อเข้าก็เรียกเข้าไปที่โต๊ะของแก แกหัวเราะแล้วก็พูดขึ้นว่า กำแพงหักทับเอาหรือ พ่อก็ตอบแกว่าไม่เป็นไรดอก มันทับตรงตีนนิดเดียว แต่ทำเอาต้องเดินกะเผลกไปบ้าง ให้ดูต่อไปก่อน พวกเรามันจะเป็นอย่างไร พอคุยกันประเดี๋ยวหนึ่ง พ่อก็ลากลับจังหวัดชุมพร…”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม 2563