“โองการแช่งน้ำ” วรรณกรรมไทยยุคแรก คืออะไร ทำไมต้อง “แช่ง” น้ำ?

สมุดไทย สมุดข่อย โองการแช่งน้ำ
ภาพประกอบบทความ - สมุดไทย สมุดข่อย

“โองการแช่งน้ำ” เป็นวรรณกรรมภาษาไทยชุดต้น ๆ ของรัฐอโยธยา แสดงแนวคิดทางการเมืองแบบรวบอำนาจรวมศูนย์อย่างชัดเจน โดยอ้างอิงแนวทางพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ ถือเอา “กษัตริย์” เป็นสมมติราช ได้รับการยกย่องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หมายถึงเจ้าของที่ดินทั้งมวลในขัณฑสีมา (รัฐ)

เมืองอโยธยา
เมืองอโยธยา แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันคือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก (นอกเกาะเมืองอยุธยา) บริเวณสถานีรถไฟอยุธยา [ภาพจากวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2560 รองปกหน้า-หน้า 1]
วรรณกรรมนี้มีชื่อเต็มดั้งเดิมว่า โองการแช่งน้ำพระพัทธ์ แต่งขึ้นราว ๆ พ.ศ. 1750-1800 คือก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา จิตร ภูมิศักดิ์ นิยามว่า เป็นวรรณกรรมประเภทกาพย์กลอนที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบในประเทศไทย เนื้อหาโดยสรุปเล่าถึงไฟบรรลัยกัลป์ที่ทำลายล้างโลก เมื่อโลกถูกสร้างใหม่อีกครั้งด้วยอำนาจเหนือธรรมชาติ คนทั้งหลายจะเลือก “ผู้มีบุญ” คนหนึ่งขึ้นเพื่อยกย่องเป็นราชา เรียก สมมุติราช เจ้าแผ่นดิน ดังโคลงพรรณนาว่า

เลือกผู้เป็น   ยิ่งยศ

เป็นราชา   อะคร้าว

เรียกนามสมติ   -ราช

เจ้าจึ่ง ตั้งท้าวเจ้า   แผ่นดิน

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในหนังสือ อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย (สนพ.นาตาแฮก : 2566) ว่า เนื้อหาในวรรณกรรมได้เผยแนวคิดใหม่ทางการเมือง ณ สมัยนั้น ว่าด้วยที่มาของกษัตริย์เป็นสมมติราชที่เปิดช่องให้สามัญชนผู้มั่งคั่งจากการค้าได้รับการยกย่องว่าสั่งสมบุญจากชาติที่แล้ว จนเป็น “ผู้มีบุญ”  เมื่อมีบุญมากจึงได้เป็นกษัตริย์

แนวคิดดังกล่าวยังกล่อมเกลาผู้คนให้มุ่งทำบุญในชาตินี้ เพื่อรอคอยการเสวยสุขสมปรารถนาในชาติหน้า แล้วยอมรับต่อ “ผู้มีบุญ” ในชาตินี้ไว้เหนือหัว

เนื้อหาในโองการแช่งน้ำ

โองการแช่งน้ำเป็นวรรณกรรมภาษาไทยที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ใน “พิธีถือน้ำพระพัทธ์” โดยเฉพาะ มีรากฐานจากการดื่ม “น้ำสาบาน” อันเป็นความเชื่อทางศาสนาผี ชนชั้นนำไทยได้ปรับมาใช้ในราชสำนักโดยเพิ่มคติและพิธีพราหมณ์จากอินเดียเพื่อเสริมความศักดิ์สิทธิ์

ต้นแบบของการดื่มน้ำสาบานมี “ผี” เป็นสักขีพยาน พิธีถือน้ำพระพัทธ์จึงต้องมีสักขีพยานด้วย โดยเชิญ “เทวดา” มารับรู้เป็นสักขีพยาน พร้อมเพิ่มรายรูปแบบคือคำประพันธ์และทำนองที่พราหมณ์หลวงต้องอ่านในระหว่างพิธี

ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ต้องเป็นคำคล้องจอง มี “กลอนร่าย” สำหรับเชิญมหาเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และตอนแช่ง กับ “กลอนลำ” เพื่อพรรณนาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโลกและมนุษย์จนถึงสมมติราชา

พราหมณ์หลวงจะอ่านโองการจากกลอนร่าย-กลอนรำข้างต้น ส่วนนี้มีต้นแบบจากพิธีทำขวัญของหมอขวัญ (หมอผี) พื้นเมืองในศาสนาผีที่เก่าแก่ ผสมการสวดของพราหมณ์ (เป็นต้นแบบของพิธีอื่น ๆ ของพราหมณ์สยามจนถึงปัจจุบัน)

เนื้อหาแบ่งออกเป็น 6 ตอน ได้แก่ เริ่มเรื่อง เล่าเรื่อง เชิญ แช่ง อวยพร และถวายพระพร จะเห็นว่ามีเพียงการ “แช่ง” ที่เป็นตอนที่ให้ความรู้สึกเชิงลบ แถมเป็นที่มาของชื่อด้วย

ทำไมต้องแช่ง? ต้องมาไล่เรียงดูเนื้อหาตอนต่าง ๆ ดังนี้

เริ่มเรื่อง เป็นกลอนร่ายสรรเสริญมหาเทพฮินดู ได้แก่ พระวิษณุ (พระนารายณ์) พระอิศวร (พระศิวะ) และพระพรหม (จะเห็นว่าล้วนเป็นเทวดาในศาสนาพราหมณ์) เล่าเรื่อง เป็นกลอนลำที่เล่าตั้งแต่ปฐมกัลป์จนถึงการมีพระราชา เชิญ เป็นกลอนลำเชิญผีกับเทวดาอารักษ์มาร่วมเป็นสักขีพยานในการดื่มน้ำสาบาน

“แช่ง” เป็นร่ายที่รวบรวมคำสาปแช่งทั้งหมดเพื่อแช่งคนคิดคดทรยศ หรือเป็นหลักประกันให้ข้าราชการขุนนางทั้งหลายภักดีต่อพระราชา

ถัดมาคือ อวยพร เป็นร่ายและโคลงสลับกันเพื่ออวยพรคนซื่อตรงจงรักภักดี และจบด้วย ถวายพระพร คือบทถวายพระพรกษัตริย์

ความหมายจริง ๆ ของชื่อโองการแช่งน้ำจึงเป็น “คำศักดิ์สิทธิ์” ที่สาปแช่งน้ำดื่มในพิธีทำสัตย์สาบานต่อกษัตริย์ แช่งน้ำ หมายถึง สาปแช่งน้ำสาบานที่จะดื่มนั่นเอง

พิธีถือน้ำพระพัทธ์ หรือพิธีกระทำสัตย์สาบาน จึงเป็นพิธีกรรมเพิ่มความเข้มแข็งและเข้มข้นในอำนาจของกษัตริย์รัฐจารีต พัฒนาจากระบบอุปถัมภ์หรือระบบเครือญาติที่ต้องเน้นความจงรักภักดี เมื่อชุมชนขยายตัวเป็นรัฐที่มีอำนาจรวมศูนย์ การจะรักษาศูนย์กลางอำนาจให้มั่นคงจึงต้องใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์มาเป็นสักขีพยาน ควบคู่การสาปแช่งให้ผู้คิดจะคิดคดได้เกรงกลัว

โองการแช่งน้ำพระพัทธ์ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระราชครูวามเทพมุนี เชิญ พระแสงศร อ่านโองการ ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 25 มีนาคม 2512 (ภาพจาก พระราชพิธีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร, กรมศิลปากร 2542)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2566). อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2567