ที่มาของ “การกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน” ของไทย

การกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระราชครูวามเทพมุนี เชิญ พระแสงศร อ่านโองการ ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 25 มีนาคม 2512 (ภาพจาก พระราชพิธีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร, กรมศิลปากร 2542)

ปัจจุบันก่อนที่ผู้นำฝ่ายบริหารสำคัญของแต่ละประเทศในโลก เช่น นายกรัฐมนตรี, ประธานาธิบดี ฯลฯ จะรับตำแหน่งหน้าที่ จำเป็นต้องมี “การกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน” โดยอาจเรียกแตกต่างกันไป เช่น สหรัฐอเมริกา-พิธีสาบานตน, ไทย-พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน ฯลฯ ความสำคัญของพิธีดังกล่าวเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จาก เมื่อครั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวคำสาบานตนผิดพลาด (20 มกราคม 2552) คณะทำงานด้านกฎหมายเกรงว่าจะมีผลทำให้การเป็นประธานาธิบดีไม่สมบูรณ์ จึงจัดให้มีการสาบานตนเป็นครั้งที่ 2 ในวันเดียวกันนั้น

สำหรับประเทศไทยพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกดังนี้ [มีการจัดย่อหน้าเพื่อสะดวกในการอ่าน]

Advertisement

“พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลคือถือน้ำพิพัฒน์สัจจา

เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินมีสืบมาแต่โบราณ ไม่มีเวลาเว้นว่าง มีคําอ้างถึงว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง กําหนดมีปีละสองครั้ง คือในเดือน 5 ขึ้น 3 ค่ำครั้งหนึ่ง เดือน 10 แรม 13 ค่ำครั้งหนึ่ง

เมื่อจะคิดหาต้นเหตุการถือน้ำให้ได้ความว่า เหตุใดเมื่อให้คนอ่านคําสาบานทําสัตย์แล้วจึงต้องให้ดื่มน้ำชำระพระแสงด้วยอีกเล่า ก็เห็นว่าลัทธิที่ใช้น้ำล้างอาวุธเป็นน้ำสาบานนี้ ต้นแรกที่จะเกิดขึ้นด้วยการทหาร เป็นวิธีของขัตติย หรือกษัตริย์ ที่นับว่าเป็นชาติทหารในจำพวกที่หนึ่งของชาติ ซึ่งแบ่งกันอยู่ในประเทศอินเดีย คล้ายกันกับไนต์ของอังกฤษ หรือสมุไรของญี่ปุ่น…

…การถือน้ำครั้งกรุงเก่า ซึ่งได้ความตามคำเล่าสืบมาก็ว่าเหมือนกันกับที่กรุงรัตนโกสินทรนี้ เช่นแบบอย่างในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 แปลกแต่ข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ แล้วย้ายไปที่วิหารพระวัดมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วมีดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร ซึ่งเป็นพระรูปพระเจ้าอู่ทอง คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งได้สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา แล้วจึงได้เข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน แต่พระราชวงศานุวงศ์นั้นไม่ได้เสด็จไปถือน้ำวัด ดังกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ยกมากล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น

ครั้นในกรุงรัตนโกสินทรนี้ ข้าราชการก็ไปพร้อมกันถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมีธูปเทียนมาถวายบังคมพระบรมอัฐิ ในรัชกาลที่ 1 โปรดให้ถวายบังคมพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีแทนพระเชษฐบิดร ในรัชกาลต่อๆ มาก็ถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปโดยลําดับนั้นด้วย แล้วจึงพร้อมกันเฝ้ากราบถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินในท้องพระโรงเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่พระราชวงศานุวงศ์ตั้งแต่กรมพระราชวังเป็นต้นลงไป เจ้าพนักงานนำน้ำมาถวายให้เสวยในท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งเวลาที่เสด็จออกข้าราชการถวายบังคมนั้น

ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประชุมพร้อมกันเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นเป็นเวลาทรงผนวช เสด็จพระราชดําเนินมาประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทําสัตยานุสัตย์ถวายครั้งแรก ก็ต้องทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไม่ได้มาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เหมือนอย่างเมื่อเปลี่ยนรัชกาลที่ 1 เป็นที่ 2 รัชกาลที่ 2 เป็นที่ 3 รัชกาลที่ 4 เป็นที่ 5 จึงทรงพระราชดําริว่า

การที่ประชุมพร้อมกันทําสัตยานุสัตย์ ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระฉลองพระองค์สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช สมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสองพระองค์นี้ ดูเป็นการสวัสดิมงคลและพร้อมเพรียงกัน ดีกว่าที่แยกย้ายกันอย่างแต่ก่อน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาถือน้ำต่อๆ มา ด้วยอ้างว่าเป็นเหตุที่ทรงเคารพต่อพระมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปฉลองพระองค์ทั้งสองพระองค์นั้น เมื่อเสด็จพระราชดําเนินออกวัดดังนี้ การเพิ่มเติมต่างๆ และเปลี่ยนแปลงการเก่าก็เกิดขึ้นหลายอย่างดังที่ได้เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้”

พระราชพิธีสิบสองเดือนยังอธิบายถึงการถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาว่า

“การถือน้ำที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ นี้มี 5 อย่าง คือถือน้ำแรกพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติอย่างหนึ่ง ถือน้ำปรกติ ผู้ที่ได้รับราชการอยู่แล้วต้องถือน้ำปีละ 2 ครั้งอย่างหนึ่ง ผู้ซึ่งมาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอย่างหนึ่ง 3 อย่างนี้เป็นถือน้ำอย่างเก่า ยังทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธอยู่เสมอ ต้องถือน้ำทุกเดือนพวกหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการต้องถือน้ำพิเศษในเวลาแรกเข้ารับตำแหน่งอีกพวกหนึ่ง ในสองพวกนี้เป็นถือน้ำเกิดขึ้นใหม่

ในการถือน้ำของพวกที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ไม่มีกําหนดว่าเมื่อใด แล้วแต่เหตุการณ์นั้นๆ และต้องอ่านคำสาบานตลอดทั่วหน้าไม่มียกเว้น แต่ถือน้ำอย่างที่ 2 นั้น พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว ไม่ต้องอ่านคําสาบาน เป็นแต่ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การถือน้ำทั้ง 3 อย่าง คือ ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 นั้น นับว่าเป็นการจร แต่ถือน้ำอย่างที่ 2 ที่ 4 นั้นเป็นการประจําปี ซึ่งจะนับเข้าในหมวดพระราชพิธี 12 เดือน อันเป็นเรื่องที่จะกล่าวอยู่นี้

กําหนดที่ถือน้ำอย่างที่ 2 ซึ่งเป็นการประจําปีปีละสองคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในวิธีอธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ซึ่งได้ลงในหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษเล่ม 2 หน้า 159 และหน้า 167 มีเนื้อความพิสดารอยู่แล้ว จะย่นย่อแต่ใจความมากล่าวในที่นี้เป็นสังเขป เพื่อให้ผู้ซึ่งไม่อยากจะต้องขวนขวายค้นหาหนังสือวชิรญาณเก่ามาอ่านได้ทราบเค้าความว่า

กําหนดถือน้ำแต่ก่อนนั้นเคยใช้กําหนดในท้ายพระราชพิธีสารทครั้งหนึ่ง ท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ครั้งหนึ่ง ใช้น้ำมนต์ซึ่งตั้งในการพระราชพิธีนั้น ทำน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การพระราชพิธีสารทเริ่มแต่วันเดือน 10 แรม 13 ค่ำ ไปเสร็จลงในวันเดือน 10 แรม 15 ค่ำ เวลาเช้า การถือน้ำสารทคงอยู่ในวันเดือน 10 แรม 15 ค่ำ หรือเดือน 11 ขึ้นค่ำหนึ่ง การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เริ่มแต่วันเดือน 4 แรม 11 ค่ำ ไปเสร็จลงในวันเดือน 4 แรม 15 ค่ำเวลาเช้า คงถือในวันเดือน 4 แรม 15 ค่ำ หรือเดือน 5 ขึ้นค่ำหนึ่ง ว่าเป็นธรรมเนียมเดิมมาดังนี้

แต่เพราะเหตุที่เดือน 4 ต้องกับนักขัตฤกษ์ตรุษ เป็นเวลาที่คนทั้งปวงเล่นการนักขัตฤกษ์ต่างๆ มีเล่นเบี้ยเป็นต้น และคนเมามายตามถนนก็ชุกชุม ต้องตั้งกองลาดตระเวนรักษาโจรผู้ร้าย ต่างคนต่างไม่เต็มใจที่จะมาถือน้ำในท้ายพระราชพิธีตามกำหนดเดิม จึงได้คิดเลื่อนกำหนดเสีย ซึ่งเลื่อนกำหนดไปจนถึงเดือน 5 ขึ้น 3 ค่ำปีใหม่นั้น เพราะตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ มาถือว่าเป็นวันจ่ายตรุษ วันแรม 14 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันตรุษ วันขึ้น 2 ค่ำเป็นวันส่งตรุษ เมื่อตั้งวันขึ้น 3 ค่ำเป็นวันถือน้ำ ก็เป็นอันพ้นเขตตรุษ ซึ่งถือน้ำปีหลังเกี่ยวเข้าไปในปีใหม่นั้น ถือว่ายังไม่เป็นปีใหม่ เพราะยังมิได้เถลิงศกเปลี่ยนศักราชใหม่ คงนับเป็นถือน้ำปีหลัง

เมื่อถือน้ำตรุษเลื่อนวันไปเช่นนี้แล้ว จึงมีผู้คิดเลื่อนถือน้ำสารทเข้ามาเสียก่อนพระราชพิธี ให้ตกอยู่ในวันเดือน 10 แรม 13 ค่ำ ด้วยจะให้เป็นที่สังเกตง่าย ว่าเมื่อถือน้ำสารทนี้เป็นวันไร คือวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ ถือน้ำตรุษในปีนั้นก็คงเป็นวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ตรงกัน ที่ว่าดังนี้ต้องเข้าใจว่าถือน้ำสารทเป็นคราวแรก ถือน้ำตรุษเป็นคราวหลัง คือเหมือนอย่างถือน้ำจํานวนปีชวดสัมฤทธิศกนี้ เมื่อถือน้ำสารทเป็นวันพุธเดือน 10 แรม 13 ค่ำ ถือน้ำตรุษในปีฉลูยังเป็นสัมฤทธิศก ซึ่งนับว่าเป็นถือน้ำจํานวนปีชวดสัมฤทธิศก ก็คงตกในวันพุธเดือน 5 ขึ้น 3 ค่ำ เป็นวันพุธต่อวันพุธตรงกันดังนี้

แต่ส่วนถือน้ำที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนถือน้ำประจำเดือนของทหารนั้นใช้วันขึ้น 3 ค่ำ ทุกๆ เดือนไม่ได้เปลี่ยนแปลง ซึ่งกำหนดเอาวันขึ้น 3 ค่ำนั้น ก็เพราะเหตุที่ทหารเปลี่ยนกันเข้ามารับราชการเป็นเดือนๆ กําหนดเข้าวันขึ้นค่ำหนึ่งไปจนวันขึ้น 3 ค่ำเป็นกําหนด ถ้าพ้นขึ้น 3 ค่ำไป ทหารไม่มาเข้าเวรเป็นกําหนดเกาะเหมือนกันกับเลขไพร่หลวงจ่ายเดือนทั้งปวง แต่ที่ต้องทําน้ำพระพิพัฒน์สัจจาสำหรับทหารต่างหากอยู่เพียงสิบเดือน ในเดือน 5 กับเดือน 10 ทหารคงถือน้ำพร้อมด้วยพระราชพิธีประจําปีเหมือนข้าราชการทั้งปวง การถือน้ำประจําเดือนเป็นการย่อๆ ลงกว่าถือน้ำสารทและตรุษ จะได้กล่าวภายหลัง…”

นอกจากนี้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีการเปลี่ยนชื่อเรียก “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัทธ์สัตยา” เป็น “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” หรือ “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา”

ประเพณีดังกล่าวยกเลิกไปเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2512 สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ได้แก่ ทหารและตำรวจ ที่ได้ประกอบวีรกรรมด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติในการต่อสู้กับศัตรูของบ้านเมือง จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นอัศวิน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

กล่าวกันว่า คำสัตย์ปฏิญาณ หรือคำสาบานของผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2512 ปรากฏเป็นถ้อยคำที่ได้ปรับแต่งขึ้นใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้สมกับกาลสมัย เพราะเดิมนั้น ใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษาไทยโบราณ สำหรับการอ่านโองการแช่งน้ำและการชุบพระแสงศาสตราวุธนั้น พระราชครูพราหมณ์เป็นผู้กระทำโดยขอให้น้ำพระพิพัฒน์สัตยา มีฤทธิ์มีอำนาจ อาจบันดาลให้ผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นไปตามคำสาบานแล้ว ยังสาปแช่งผู้ที่คิดทรยศไม่ซื่อตรง แต่ได้ให้พรต่อผู้ที่ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และมีความกตัญญู

ส่วนคำสัตย์ปฏิญาณนั้น มีผู้อ่านนำ โดยให้ผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นผู้ว่าตาม เพื่อที่จะให้มีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ต่อชาติบ้านเมือง และต่อหน้าที่การงาน เมื่อจบแล้วให้นำพระแสงศาสตราวุธต่างๆ ลงชุบในน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ครั้นแล้ว ให้นำน้ำซึ่งผ่านพิธีกรรมต่างๆ แล้วนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้เสวยด้วย ถ้วยสำหรับตักน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้นเคยปรากฏจารึกเป็นอักษรขอมว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา” ฉะนั้นผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาจึงต้องถือว่าตนเป็นผู้ที่ได้ดื่มน้ำสาบานร่วมกับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพ

แม้ว่าในปัจจุบัน คนรุ่นหลังอาจจะไม่ค่อยได้เห็นพิธีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแล้วก็ตาม แต่การกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ หรือการสร้างความมั่นคงทางจิตใจซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการถือน้ำพิพัฒน์สัตยานี้ ก็ยังมีการกระทำในรูปการปฏิญาณหรือการสาบานอยู่อีกไม่น้อย เช่น ในวงราชการทหาร ตำรวจ ลูกเสือ แพทย์ และสถานศึกษาอื่นๆ เช่น เวลารับปริญญาบัตร เป็นต้นอีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติไว้ให้กระทำด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ข่าวต่างประเทศ. เหตุแห่งการสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ 2 ครั้งในวันเดียวของ “บารัค โอบามา”, https://www.matichon.co.th (สืบค้นวันที่ 7 สิงหาคม 2562)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน  จาก https://vajirayana.org (สืบค้น 7 สิงหาคม 2562 )

มนตรี ชลายนเดชะ. “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”, รัฐสภาสาร สิงหาคม 2512

วิจิตรา ประยูรวงษ์. การถวายสัตย์ปฏิญาณ, http://wiki.kpi.ac.th (สืบค้น 7 สิงหาคม 2562)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2562