ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
โองการแช่งน้ำ เป็นวรรณคดีไทยที่เชื่อว่าแต่งสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มีความเก่าแก่เป็นอันดับต้น ๆ และถือเป็นรากเหง้าของวรรณคดีไทยเรื่องอื่น ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า โองการแช่งน้ำมีภาษาและวัฒนธรรม “ลาว” สอดแทรกอยู่เต็มไปหมด
โองการแช่งน้ำมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น โองการแช่งน้ำพิพัฒน์สัตยา, ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า, โคลงแช่งน้ำ จิตร ภูมิศักดิ์ แสดงความเห็นว่า ชื่อที่ถูกต้องตามเจตจำนงเดิมของราชสำนักศักดินาเมื่อต้นอยุธยา คือ “โองการแช่งน้ำพระพัทธ์” เพราะ “พัทธ์” ในภาษาเขมรโบราณ หมายถึง สาบาน หรือคำสาบาน
โดยชื่อที่รับรู้กันทั่วไปของโองการแช่งน้ำ หมายถึง คำศักดิ์สิทธิ์สาปแช่งน้ำสาบานที่จะดื่มในพิธีทำสัตย์สาบาน ส่วนคำว่า “ลิลิต” เพิ่งมาเพิ่มเอาสมัยหลังเป็น “ลิลิตโองการแช่งน้ำ”
โองการแช่งน้ำแต่งด้วยฉันทลักษณ์แบบ “ร่าย” กับ “โคลง” สลับกันแบบไม่เคร่งครัด ฉันทลักษณ์เหล่านี้มีต้นเค้ามาจาก “คำคล้องจอง” ของผู้คนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-ลาว ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ก่อนรับศาสนาจากชมพูทวีป เช่น ทำไร่ไถนา, ทำมาหากิน, กินแลงกินงาย
โดยเฉพาะฉันทลักษณ์แบบ “กลอนร่าย” หรือภาษาร่าย ถือเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของพวกหมอผี-หมอขวัญ หรือแม้แต่ โคลง ก็พบร่องรอยอยู่ในคำคมหรือภาษิตอีสานที่เรียกว่า “ผญา”
สำหรับเนื้อในโองการแช่งน้ำจะแบ่งเป็น 6 ตอน ได้แก่ 1) เริ่มเรื่อง สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระวิษณุ (พระนารายณ์) พระอิศวร (พระศิวะ) และพระพรหม 2) เล่าเรื่อง แสดงสถานะของกษัตริย์ 3) เชิญผี พระภูมิ เทวดาอารักษ์มาร่วมเป็นพยาน 4) แช่งคนคิดคดทรยศ 5) อวยพรคนซื่อตรง จงรักภักดี และ 6) ถวายพระพรพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสิทธรบรมมหาจักรพรรดิศรราช เป็นอันเสร็จพิธี
ต้นฉบับโองการแช่งน้ำจะเขียนอักษรลงบนสมุดข่อยที่พับเป็นเล่มขนาดยาว โดยคัดลอกสืบเนื่องกันมายาวนานเกือบพันปี เป็นเหตุให้มีข้อพิศวงสงสัยทั้งรูปคำและรูปฉันทลักษณ์ ดังจะเห็นว่าคนจำนวนไม่น้อยอ่านโองการแช่งน้ำไม่เข้าใจด้วยซ้ำ แต่สำหรับคนสมัยที่แต่งโองการแช่งน้ำ ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ภาษาเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน น่าจะเป็นภาษาง่าย ๆ เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันทั่วไป
เหตุผลหนึ่งเพราะแม้จะรับศาสนาพุทธและพราหมณ์ (ฮินดู) จากชมพูทวีปมาแล้ว แต่คนแต่งก็ดัดแปลงเรียกชื่อเทพเจ้าและสถานที่สำคัญเป็นคำพื้นเมืองในภาษาตระกูลไท-ลาว หรือมอญ-เขมร ซึ่งใช้แพร่หลายกันมาก่อน
จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายโดยสรุปว่าหลักการทั่วไปของ โองการแช่งน้ำ คือ เรียกเทวดาไสยศาสตร์ทั้งหลายด้วยคำไทย-ลาว ดั้งเดิมอย่างโบราณ ได้แก่
ภูเขาพระสุเมรุ เรียก ผาหลวง
พระอิศวร เรียก เจ้าผาหลวง
เขาตรีกูฏ (มีสามยอด) เรียก ผาสามเส้า
เขากาลกูฏ (มีสีดำ) เรียก ผาดำ
เขาไกรลาศ (มีสีขาวดังเงินยวง) เรียก ผาเผือก
เขาคันธมาทน์ (มีกลิ่นหอม) เรียก ผาหอมหวาน
วิมานไพชยนต์ของพระอินทร์ เรียก เรือนอินทร์
ฉกามาพจรสวรรค์ คือสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น เรียก ฟ้าชระแร่ง หกคลอง
ท้าวจตุโลกบาล หรือผีรักษาทวีปทั้ง 4 เรียก สี่ปวงผี
ทศกัณฐ์ เรียก สิบหน้าเจ้าอสูร
พญาหงส์ เรียก ขุนห่าน
พระพรหม (ผู้ทรงหงส์) เรียก ขุนหงส์ทองเกล้าสี่
นาค เรียก งู และ เงือก
โคนนทิ พาหนะของพระอิศวร เรียก วัวเผือก
จิตร ภูมิศักดิ์ ย้ำด้วยว่า “การที่โองการแช่งน้ำเรียกเทวดาของพราหมณ์ด้วยคำไทย ๆ นั้น ไม่ใช่โวหารกวี หากเป็นภาษาพื้นบ้านพื้นเมืองไทยสมัยยังไม่คุ้นกับถ้อยคำภาษาสันสกฤต พยานยังมีคำตกค้างอยู่ในจารึกบ้าง และในภาษาตระกูลไท-ลาว ที่อิทธิพลของภาษาสันสกฤตเข้าไปมีบทบาทน้อย”
จึงอาจกล่าวได้ว่า หากอยากรู้ว่าภาษาพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยสมัยก่อน หรือก่อนภาษาสันสกฤตจะมามีอิทธิพลสูงนั้นเป็นอย่างไร ขอให้ดูที่ “ภาษาลาว”
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของ “การกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน” ของไทย
- คำสาปแช่งในวรรณคดีไทย ที่ทำให้เกิดพระราม-ทศกัณฐ์
- อิทธิพลคำลาวในวรรณคดีไทย “ขุนแผน” กับ “แถนฟ้า” หมายถึงพระพรหม!?
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2543). “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2566