อิทธิพลคำลาวในวรรณคดีไทย “ขุนแผน” กับ “แถนฟ้า” หมายถึงพระพรหม!?

ขุนช้าง ขุนแผน เชื่อมโยงกับ แถน แถนฟ้า และ พระพรหม ร่องรอยจาก โองการแช่งน้ำ

หลักฐานที่ยืนยันว่า ภาษาลาว มีบทบาทสำคัญใน วรรณคดีไทย คือคำว่า “ขุนแผน” ใน โองการแช่งน้ำ เพราะเชื่อได้ว่าคำนี้มีรากมาจากภาษาลาว คือ แถน, แถนฟ้า หรือ “ผีฟ้าพญาแถน” และคำเดียวกันนี้ก็ใช้เรียก พระพรหม เทพในคติฮินดูด้วย

จากโองการแช่งน้ำ พระพรหม มีชื่อพื้นเมืองในภาษาตระกูลไทย-ลาว คือ “ขุนหงส์ทองเกล้าสี่” ตามเทวลักษณะที่มีสี่หน้าและมีหงส์เป็นพาหนะ ดังว่า

ขุนหงส์ทองเกล้าสี่   ช่วยดู

ชรอ่ำฟ้าใต้   แผ่นหงาย ฯ

เชื่อได้ว่าคนตระกูลไทย-ลาวรู้จัก พระพรหม ผ่านการติดต่อกับคนตระกูลมอญ-เขมรแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ขอม) หรืออาจรับรู้ผ่านการติดต่อกับชาวอินเดียโดยตรงก็ไม่ทราบได้ แต่เมื่อรู้จักแล้วพวกเขาคงเปรียบเทียบพระพรหมกับ “ผีบรรพบุรุษ” ของตนอย่าง แถน เพราะมีตำนานร่วมคือ เป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งเช่นเดียวกัน จึงเรียก พรหม ด้วยคำพื้นเมืองลาวว่า แถน เสียเลย

ต่อมาคำว่า แถน จึงเพี้ยนเป็นคำไทย ๆ ว่า แผน หรือขุนแผน ดังปรากฏในโองการแช่งน้ำตอนพระพรหมสร้างโลก ที่ว่า

กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาดฟองหาว   ดับเดโชฉ่ำหล้า

ปลาดินดาวเดือนแอ่น   ลมกล้าป่วนไปมา ฯ

และเป็นแผ่นเมืองอินทร์   เมืองธาดาแรกตั้ง

ขุนแผนแรกเอาดินดูที่ ทุกยั้งฟ้าก่อคืน ฯ

◉ แลเป็นสี่ปวงดิน   เป็นเขายืนทรง้ำหล้า

เป็นเรือนอินทร์ถาเถือก   เป็นสร้อยฟ้าคลี่จึงบาน ฯ

ขุนแผน ในโองการแช่งน้ำ จึงหมายถึง พระพรหม ในคติฮินดู รวมถึง ผีฟ้าพญาแถน อย่างไม่น่าผิดเพี้ยน

สุจิตต์ วงษ์เทศ ยังวิเคราะห์ด้วยว่า “ครั้นภายหลังชื่อนี้ติดมาตั้งชื่อตัวละครอย่างยกย่องว่า ‘ขุนแผน’ อีกครั้งในเสภาขุนช้างขุนแผน

“ขุนแผน” นามตัวเอกใน เสภาขุนช้างขุนแผน จึงไม่ได้อุบัติขึ้นมาลอย ๆ แบบนึกอยากตั้งก็ตั้ง แต่เป็นนามมงคลอันหมายถึงผู้เป็นใหญ่ มีนัยสื่อถึงทั้งพญาแถนและพระหรหมนั่นเอง

จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาษาลาว ในวัฒนธรรมสองฝั่งโขงอยู่ในสำนึกของคนไทยแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยอโยธยา (ก่อนกรุงศรีอยุธยา) หรือก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างน้อย ดังประจักษ์พยานสำคัญเห็นจะเป็นวรรณคดีเก่าแก่อย่าง โองการแช่งน้ำ นี่แหละ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2543). “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2566