ตำนานอัศจรรย์ การกำเนิดคนจาก “น้ำเต้า” ของกลุ่มชนตระกูลไท-ลาว

ตำนาน นิทาน กำเนิด คน ตระกูลไท-ลาว จาก น้ำเต้า หรือ น้ำเต้าปุง
กำเนิดคนไท-ลาว จากน้ำเต้าปุง วาดโดย สุรเดช แก้วท่าไม้ จัดแสดง ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ถ่ายภาพ : ชัชพิสิฐ ปาชะนี / ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565)

“บรรพชนสองฝั่งโขงมีกำเนิดจากน้ำเต้าปุง” (‘ปุง’ คือ ใหญ่, หลวง) ถือเป็นตำนานคำบอกเล่าเก่าแก่ และอยู่ในความทรงจำของกลุ่มชน ตระกูลไท-ลาว ที่มีหลักแหล่งบริเวณสองฝั่งโขง ว่าด้วย “แถน” และกำเนิดคนจาก “น้ำเต้า”

การบันทึกความทรงจำหรือคำบอกเล่านั้น ปรากฏอยู่ใน พงศาวดารล้านช้าง ดังนี้ [เว้นวรรค เน้นคำ ปรับย่อหน้าใหม่ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

“กาลครั้งก่อนนั้น ก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด เมื่อนั้น ยังมีขุนนางใหญ่ 3 คน ผู้หนึ่งชื่อขุนคาน อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่มกินปลา เฮ็ดนาลุ่มกินข้าว เมื่อนั้น แถนจึงใช้ให้มากล่าวกับคนทั้งหลาย ว่าในเมืองลุ่มนี้กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินชิ้นก็ให้ส่งขา ได้กินปลาก็ให้ส่งรอยแก่แถน

เมื่อนั้น คนทั้งหลายก็บ่ฟังความแถน แม้นใช้มาบอกสองทีสามทีก็บ่ฟัง หั้นแล แต่นั้น แถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่มลีดเลียง ท่วมเมืองเพียงละลาย คนทั้งหลายก็ฉิบหายมากนักชะแล ยามนั้น ปู่ลางเชิงและขุนเค็กขุนคาน รู้ว่าแถนเคียดแก่เขา ๆ จึงเอาไม้ขาแรงเฮ็ดแพ เอาไม้แปงเรือนเฮ็ดพวง แล้วเขาจึงเอาลูกเอาเมียเข้าอยู่ในแพนั้น แล้วน้ำจึงพัดเขาขึ้นเมือบน ขนเอาเมือเมืองฟ้า พู้นแล

พระยาแถนจึงถามเขา ว่าสูจักมาเมืองฟ้าตูพี้เฮดสัง เขาจึงบอกเหตุการณ์ทั้งมวล พระยาแถนจึงว่าตูใช้ให้ไปกล่าวแก่สูสองสามที ให้ยำแถนยำผีเฒ่ายำเจ้ายืนกาย สูสั่งบ่ฟังคำกูจิงเท่าสูแล้ว

ทีนั้น พระยาแถนจึงให้เขาไปอยู่ที่บึงดอนแถนลอ หั้นแล แต่นั้น น้ำจึงแห้งจึงบกเป็นพื้นแผ่นดิน เขาจึงไหว้ขอพระยาแถน ว่าตูข้อยนี้อยู่เมืองบนบ่แกว่น แล่นเมืองฟ้าบ่เป็น ตูข้อยขอไปอยู่เมืองลุ่มลีดเลียง เมืองเพียงพักยอม พู้นเทอญ

เมื่อนั้น พระยาแถนจึงให้เอาลงมาส่ง ทั้งให้ควายเขาลู่แก่เขา จึงเอากันลงมาตั้งอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนูก่อน หั้นแล แต่นั้น เขาจึงเอาควายนั้นเฮ็ดนากิน นานประมาณ 3 ปี ควายเขาก็ตายเสีย เขาละซากควายเสียที่นาน้อยอ้อยหนูหั้นแล้ว อยู่บ่นานเท่าใด เครือหมากน้ำก็เกิดดอกฮูดัง (รูจมูก-ผู้เขียน) ควายตัวนั้นออกยาวมาแล้ว ก็ออกเป็นหมากน้ำเต้าปุง 3 หน่วย และหน่วยนั้นใหญ่ประมาณเท่ารินเขาปลูกข้าวนั้น

เมื่อเครือหมากนั้นแก่แล้ว คนทั้งหลายก็เกิดมาอาศัยซึ่งหมากน้ำเป็นดังนางอาสังโนเกิดในท้องดอกบัว เจ้าฤาษีเอามาเลี้ยงไว้ คนทั้งหลายฝูงเกิดในผลหมากน้ำเต้า ฝูงนั้นก็ร้องนี่นันมากนักในหมากน้ำนั้นแล ยามนั้น ปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กชีแดงชีหมากน้ำนั้น คนทั้งหลายจึงบุเบียดกันออกมาจากทางฮูที่ชีนั้น ออกมาทางฮูที่ชีนั้น ออกมาทางฮูทีนั้นก็บ่เบิ่งคับคั่งกัน ขุนคานจึงเอาสิ่วไปสิ่วฮู ให้เป็นฮูแควนใหญ่แควนกว้าง คนทั้งหลายก็ลุไหลออกมานานประมาณ 3 วัน 3 คืนจึงหมด หั้นแล

คนทั้งหลายฝูงออกมาทางฮูชีนั้นแบ่งเป็น 2 หมู่ ๆ หนึ่งเรียกชื่อไทยลม หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยลี ผู้ออกทางฮูสิ่วนั้นแบ่งเป็น 3 หมู่ ๆ หนึ่งเรียกชื่อไทยเลิง หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยลอ หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยควางแล

แต่นั้น ฝูงปู่ลางเชิงจึ่งบอกสอนเขาให้เฮ็ดไฮ่ไถนาทอผ้าทอซิ่นเลี้ยงชีวิตเขา แล้วก็ปลูกแปงเขาให้เป็นผัวเป็นเมียมีเหย้ามีเรือนก็จึงมีลูกหญิงลูกชายมากนักแล เมื่อนั้น ปู่ลางเชิงเล่าบอกให้เขารักพ่อเลี้ยงรักแม่เลี้ยง เคารพยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่กว่าตนเขานั้นแล

แต่อยู่หึงนานไปพ่อแม่เขาก็ตาย ท่านปู่ลางเชิงเล่าให้เขาไหว้พ่อแม่เขา แล้วให้ส่งสการเมี้ยนซาก ฝูงออกมาทางฮูสิ่วให้เผาเสีย เก็บถูกล้างสร้อยสีแล้วให้แปงเถียงใส่ลูกไว้ให้ไปส่งข้าวส่งน้ำชุมื้อ ฝูงออกทางฮูชีนั้นให้ฝังเสีย แล้วแปงเถียงกวมไว้เล่า ให้ไปส่งข้าวส่งน้ำชุวัน ครั้นเขาไปบ่ได้ปู่ลางเชิงบอกให้แต่งเพื่อนข้าว เหล้า ไว้ห้าห้องเรือนเขาแล้วให้เขาเรียกพ่อแม่เขาฝูงตายนั้นมากิน หั้นแล

แต่นั้น คนทั้งหลายฝูงเกิดมาในน้ำเต้า ฝูงออกมาทางฮูสิ่วนั้นเป็นไทย ฝูงออกมาทางฮูชีนั้นเป็นข้า คนฝูงนั้นลวดเป็นข้อยเป็นไพร่เขาเจ้าขุนทั้งสามนั้นแล เมื่อนั้น คนเผ่าพวกมามากนัก มากอย่างทรายหลายอย่างน้ำท่อ ว่าหาท้าวหาพระยาบ่ได้ ปู่ลางเชิงทั้งขุนเค็กขุนคานบอกสอนเขาก็บ่แพ้ แม่ว่าใครเขาก็บ่เอาคำ ขุนทั้งสามก็จึงขึ้นเมือ ขอหาท้าวพระยากวนแถนหลวง พระยาแถนจึงให้ขุนครูแลขุนครองลงมาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่เขาหั้นแล

เมื่อขุนทั้งสองมาสร้างบ้านก็บ่เปลือง สร้างเมืองก็บ่กว้าง สูกินเหล้าชุมื้อชุวันนานมาไพร่ค้างทุกข์ค้างยากก็บ่ดูนา เมื่อนั้น ขุนเค็กขุนคานจึงขึ้นมือไหว้สาแก่พระยาแถน ๆ จึงถกเอาทั้งสองหนีเมือบนหนเมือฟ้าดังกล่าวเล่าแล ปางนั้น พระยาแถนหลวงจึงให้ท้ายผู้มีบุญ ชื่อว่าขุนบูลมมหาราชาธิราช  อันได้อาชญาพระยาแถนแล้ว ก็จึ่งเอารี้พลคนทั้งหลายลงเมือเมืองลุ่มลีดเลียงเมืองเพียงคักค้อย มาอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนูอันมีลุ่มเมืองแถนหั้นก่อนแล

ทีนั้น คนทั้งหลายฝูงออกมาแต่น้ำเต้าฝูงนั้น ผู้รู้หลักนักปราชญ์นั้นเขาก็มาเป็นลูกท่านบ่าวเธอขุนบูลมหาราชา และผู้ใบ้ช้านั้นเขาก็อยู่เป็นไพร่ไปเป็นป่า สร้างไฮ่เฮ็ดนากินแล”

ตำนานคำบอกเล่าช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะนี่คือคำอธิบายเกี่ยวกับการเคารพยำเกรง “แถน” ของคน ตระกูลไท-ลาว

จากคำบอกเล่า กำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง ระบุคน 5 กลุ่ม 2 หมู่ ได้แก่

หมู่ผิวคล้ำ เพราะออกทาง “ฮูชี” หรือรูที่เกิดจากเหล็กเผาไฟร้อนแดง ถูกไฟลวก ทำให้คนที่ออกทางนี้มีผิวคล้ำ กลายเป็นพวก “ข้า” หรือข่า คือ ชาว (ไทย) ลม และชาว (ไทย) ลี่

หมู่ผิวไม่คล้ำ เพราะออกทาง “ฮูสิ่ว” ไม่ต้องถูกไฟลวก กลายเป็น ชาว (ไทย) เลิง ชาว (ไทย) ลอ และชาว (ไทย) ควาง

ทั้งนี้ คำว่า ไทย ไท ไต ในเอกสารโบราณนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้ว่า “มีความหมายเดียวกันว่า คน หรือ ชาว เท่านั้น ไม่ได้หมายถึง คนไทย ในสังกัดรัฐชาติไทยอย่างปัจจุบัน คนสองฝั่งโขงยังใช้ไท ไต ในความหายว่า คน หรือ ชาว จนทุกวันนี้ เช่น ‘ไทบ้านได๋ หมายความว่า เป็นคนที่ไหน ชาวอะไร ฯลฯ”

ว่ากันตามตำนาน คน 5 กลุ่มที่ออกจากน้ำเต้าย่อมเป็นเครือญาติกัน อาจอนุมานได้ว่า เรื่องเล่าโบราณนี้พยายามอธิบายที่มาของชาติพันธุ์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ คือไม่ใช่แค่ ตระกูลไท-ลาว เท่านั้น โดยอาจเหมารวมทั้งภาคพื้นทวีปและดินแดนหมู่เกาะ ได้แก่ คนในตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลมาเลย์-จาม หรือชวา-มลายู, ตระกูลม้ง-เย้า, เวียดนาม ฯลฯ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2543). “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2566