ตำนานกำเนิด โขง-ชี-มูล-หนองหาน สายน้ำแห่งชีวิตของคนอีสาน

โขง ชี มูล แม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง (ภาพจาก www.matichon.co.th)

ภาคอีสานคล้ายแอ่งกระทะ มีเทือกเขาภูพานผ่าพาดตรงกลางแอ่ง ทำให้แบ่งเป็น 2 ส่วนตามธรรมชาติ คือ แอ่งสกลนคร เรียก อีสานเหนือ กับแอ่งโคราช เรียกอีสานใต้ โดยมีแม่น้ำสำคัญ 3 สาย พาดผ่าน คือ โขง ชี มูล และมีหนองน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ หนอง หานหลวง (จ. สกลนคร) และหนองหานน้อย (จ. อุดรธานี)

อีสานเหนือ ถือเป็นเขตวัฒนธรรมบ้านเชียง อยู่ตอนเหนือของภูพานถึงแม่น้ำโขง เริ่มจาก จ.เลย, อุดรธานี, หนองคาย, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร

อีสานใต้ ถือเป็นเขตวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ อยู่ตอนใต้ของภูพาน แยกย่อยเป็น 2 เขต ได้แก่ 1. ลุ่มน้ำมูล เป็นวัฒนธรรมพราหมณ์-มหายาน ตั้งแต่ จ. นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี 2. ลุ่มน้ำชี เป็นวัฒนธรรมพุทธเถรวาท ตั้งแต่ จ. ชัยภูมิ, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ยโสธร, อำนาจเจริญ

โขง-ชี-มูล-หนองหาน

น้ำโขง แม่น้ำโขงเป็นคำเรียกอย่างภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่คนพื้นเมืองในวัฒนธรรมลาวเรียก น้ำ (แม่) ของ คำว่า ของ มีรากจากภาษามอญว่า โคล้ง พวกไทย-ลาวรับ มาใช้แล้วเพี้ยนเป็น คลอง แปลว่า ทางคมนาคม เช่น แม่น้ำลำคลอง แต่ในวัฒนธรรมลาวไม่ออกเสียงควบกล้ำ เลยเรียก ของ แล้วคนทาง ภาคกลางออกเสียงเป็น โขง

แต่ในคำบอกเล่าเก่าแก่และในกาพย์กลอนโคลงสองฝั่งโขง เรียกแม่น้ำโขงว่า กาหลง เช่น น้ำแม่กาหลง มีในมหากาพย์ท้าวฮุ้ง ท้าวเจือง และในโคลงพระลอ เป็นต้น เพราะกลายมาจากชื่อ เก้าลวง หมายถึงนาคเก้าตัวพิทักษ์น้ำโขง

บริเวณสองฝั่งโขงหลายแห่ง เช่น หลวงพระบาง, อัตตะปือ ฯลฯ เป็นแหล่งทองคำธรรมชาติมาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ มีกิจกรรมร่อนทองคำธรรมชาติสืบจนทุกวันนี้ ฉะนั้น ถ้าชื่อ “สุวรรณภูมิ” ในคัมภีร์ อินเดีย-ลังกา หมายถึง ทองคำ บริเวณสองฝั่งโขงก็เป็นแหล่งทองคำสำคัญของสุวรรณภูมิได้แห่งหนึ่ง มีคำบอกเล่าอยู่ในพงศาวดารล้านช้าง ตอนต้นเรื่องว่ามีพ่อค้าชื่อ จันทพานิช ถ่อเรือทวนน้ำโขงจากเมืองเวียงจันไปค้าขายที่เชียงดง เชียงทอง (หลวงพระบาง) มีทองคำติดต่อจำนวนมาก ดังนี้

“แต่นั้นจิรกาลล่วงมา ยังมีผู้หนึ่งอยู่เวียงจันทรพานิชซา จึงขึ้นมาค้าในเชียงดงเชียงทอง ในคืนวันหนึ่งนั้นท่านก็ฝันว่า มือขวาป่ายพระอาทิตย์ มือซ้ายป่ายพระจันทร์ สองยืนยันกงรถพระสุริยา ปรากฎออกมา พานิชจึงไปหาพ่อค้าแก้คำฝันอันเป็นอัศจรรย์ พ่อค้าผู้นั้นว่าผู้น้อยฝันใหญ่ จักได้กินขี้เพื่อน พ่อค้าพานิชซาจึงเมือไหว้ มหาเถรเจ้าแก้คำฝัน

มหาเถรเจ้าจึงให้พานิชซาคืนมาหมกขี้ฮ้ากินแล้วสะหัวเสีย แล้วมาหาเฮาเทอญ มหาเถรว่าดังนั้นมันก็ตามคำมหาเถรเจ้า แล้วมหาเถรจึงทำนายทายว่า อุบาสกขึ้นเมือเงินคำจักติดสันถ่อขึ้นมา อุบาสกอย่าได้เอาเมือฮวดเชียงทองเงินกำจัดเนืองนองมามากแก้วแหวนหากเหลือตรา ช้างม้ามากมูลมาถวายบูชาอุบาสกดีหลีแล

เมื่อนั้นพานิชซาก็ไหว้มหาเถรเจ้า แล้วก็ขึ้นมา เงินคำติดก่อขึ้นมา พานิชซาก็บเอามาฮวดเชียงทองเห็นเงินคำหลายหลาก ฝั่งฟากน้ำของ เท่าเอามาให้ทานยาจกคนขอเป็นอันมาก ชาวเมืองเหนหลากแก่ตา ก็จึงอุศยาภิเศกเป็นพระยาในเชียงดงเชียงทอง สร้างบ้านแปงเมืองสืบแนวเนื่องราชวงศาชั้นนั้นแล้ว

น้ำชี คำเดิมว่า ซี หรือ ซี่ หมายถึง เจาะ ไช แทง เช่น เหล็กแหลมใช้เจาะไชให้เป็นร่องเป็นรู เรียกเหล็กซีหรือเหล็กซี่ มีตัวอย่างในพงศาวดารล้านช้าง ตอนกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง มีความตอนหนึ่งว่า “ยามนั้น ปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กซีแดงชีหมากน้ำนั้น” และ “ฝูง ออกมาทางฮูซีนั้นเป็นข้า…”

คนแต่ก่อนเรียก น้ำ (แม่) ซี หมายถึง แม่น้ำที่เกิดจากการเจาะ ไช แทง ของอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น นาค

น้ำมูล คำเดิมว่า มูน หมายถึง มาก, ล้น, มั่งคั่ง ฯลฯ มีใช้ในชีวิตประจำวันว่า มั่งมูน และมีในกาพย์กลอนโคลงสังข์ศิลป์ชัยว่า “น้ำสมุทรมูนมากล้น ลืบแผ่นธรณี”

คนแต่ก่อนเรียก น้ำ (แม่) มูน หมายถึง แม่น้ำใหญ่ มีน้ำมาก มูนล้นฝั่ง ภายหลังมีนักบวชบัณฑิตแต่งแปลงอย่างบาลีว่า มูล เป็นมูลนที เลยเขียนว่าแม่น้ำมูล

หนองหาน คำว่า หาน ในชื่อหนองหานหลวง (สกลนคร) และหนองหานน้อย (อุดรธานี) กร่อนจากคำเต็มว่า หนองละหาน มีคำว่า หนอง กับ ละหาน หนอง หมายถึง แอ่งน้ำ บางที่มีในภาษาปากชาวบ้านว่าหนองน้ำ ละหาน หมายถึง ที่ลุ่มเก็บน้ำไว้จำนวนมาก บางทีเรียก ลำห้วย ต้นน้ำลำธารว่า ห้วยละหาน แล้วกร่อนเหลือ หาน คำเดียว

แต่ในวัฒนธรรมลาว เรียกหญ้ามีใบสีแดงเป็นจุดๆ เมื่อถูกตัวคน แล้วคันว่า หญ้าบ้งหาน เรียกแมลงมีขนสีดำทั้งตัว เมื่อขนถูกตัวคน แล้วคันว่า แมงบ้งหาน

นิทานกำเนิดแม่น้ำโขง-ซี-มูล-หนองหาน

นิทานกำเนิดภูมิประเทศในอีสาน เช่น น้ำโขง, น้ำชี, น้ำมูล, หนองหาน ฯลฯ มีอยู่ในเอกสารโบราณที่สำคัญเล่มหนึ่งชื่ออุรังคธาตุ (หรือตำนานพระธาตุพนม) พรรณนากำเนิดของแม่น้ำสำคัญๆ โดยเฉพาะแม่น้ำมูลกับแม่น้ำชี ว่าเป็นการกระทำของพวกนาค [อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กรมศิลปากร พิมพ์เนื่องในการสัมมนาทาง วิชาการเรื่อง “วรรณกรรมสองฝั่งโขง” ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2537 หน้า 90-92] มีความโดยย่อต่อไปนี้

มีนาค 2 ตัวเป็นมิตรสหายกันอยู่ใน หนองแส ตัวหนึ่งชื่อ พินทโยนกวตินาค เป็นใหญ่อยู่หัวหนอง อีกตัวหนึ่งชื่อ ธนะมูลนาค เป็นใหญ่อยู่ท้ายหนองกับด้วย ชีวายนาค ผู้หลาน.

นาคทั้งสองคือ พินทโยนกวตินาคกับธนะมูลนาคให้ความสัตย์ไว้ซึ่งกันและกันว่า ถ้าหากมีสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งมาตกที่หัวหนองก็ดี ตกที่ท้ายหนองก็ดี เราทั้งสองรักกันด้วยอาหารการเลี้ยงชีวิต เราทั้งสองจงเอาเนื้อสัตว์นั้นๆ มาแบ่งปันแก่กันเพื่อเลี้ยงชีวิต. แล้วตั้งชีวายนาค ผู้เป็นหลานให้เป็นสักขี. เมื่อนาคทั้งสองให้สัตย์ปฏิญาณแก่กันดังนั้น แล้วต่างก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตน

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ยังมีช้างสารตัวหนึ่งตกลงที่ท้ายหนอง ธนะมูลนาคจึงเอาเนื้อสัตว์นั้นมาแบ่งปันออกเป็น 2 ส่วน เอาไปให้พินทโยนกวตินาคส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้บริโภค

อยู่ต่อมาอีกสองสามวันมีเม่นตัวหนึ่งมาตกลงที่หัวหนอง พินทโยนกวตินาคก็เอาเนื้อสัตว์มาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาไปในมูลนาคส่วนหนึ่ง ธนะมูลนาคบริโภคไม่พออิ่ม แต่บังเอิญมองไปเห็นขนเม่นยาวแค่ศอกก็บังเกิดมีความโกรธขึ้น นำเอาขนเม่นไปให้ชีวายนาคผู้เป็นหลานดู แล้วกล่าวว่าคำสัตย์ปฏิญาณของเรากับพินาทโยนกวตินาคจะขาดจากกันเสียแล้ว

เมื่อเราได้ช้างสารมาเป็นอาหารครั้งนั้น เราก็เอาเนื้อนั้นมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่งไปให้พินทโยนกวตินาคส่วนหนึ่ง เราเอาไว้บริโภคส่วนหนึ่งก็พออิ่มถึงแม้ขนก็พอปานนั้น แต่เราเห็นว่าเม่นนี้จะใหญ่โตกว่าช้างสารนัก เพราะขนก็โตยาวเป็นศอก เหตุใดพินทโยนกวตินาคจึงให้เนื้อแก่เราน้อยเช่นนี้ เราบริโภคก็ไม่อิ่ม

ตั้งแต่นั้นมา นาคทั้งสองก็เกิดทะเลาะวิวาทกัดกันขึ้นในหนอง เป็นเหตุให้น้ำขุ่นมัวไปสิ้นทั้งหนอง สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในหนองนั้นตายกันสิ้น เมื่อพระอาทิตย์ทรงทราบ จึงใช้ให้วิสุกรรมเทวบุตร ลงมาขับไล่นาคทั้งสองให้ออกไปเสียจากหนองนั้น นาคทั้งสองก็วัดเหวี่ยงกัดกันหนีออกจากหนองแสไปด้วยอก ดินก็ลึกเป็นคลอง

ชีวายนาคเห็นดังนั้น จึงได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปตามคลองอกแห่งนาคทั้งสอง แม่น้ำนั้นจึงเรียกชื่อว่า อุรังคนที หรือ แม่น้ำอู ส่วนพินทโยนกวตินาคได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปทางเมืองเชียงใหม่ เรียกชื่อว่า แม่น้ำพิง และเมืองโยนกวตินคร ตามชื่อนาคตัวนั้น

ส่วนผียักษ์ผีเปรตเห็นสัตว์ทั้งหลายในน้ำหนองแสตายมากนัก เป็นต้นว่า จระเข้, เหี้ย, เต่า จึงพากันมาชุมนุมกันอยู่ในที่นั้น พวกนาคก็พากันหนีไปอยู่ที่อื่น เช่น ปัพพารนาค คุ้ยควักหนีไปอยู่ที่ภูเขาหลวง. ทำให้พญาเงือกตัวหนึ่งกับพญางูตัวหนึ่งไม่ต้องการปะปนด้วย จึงคุ้ยควักออกไปเป็นแม่น้ำอันหนึ่งมีนามว่า แม่น้ำงึม หรือแม่น้ำเงือกงู

ฝ่ายธนะมูลนาคหนีไปอยู่ที่ใต้ดอยกัปปนคีรีคือ ภูกำพร้า ประดิษฐานพระธาตุพนม พวกนาคที่กลัวผียิ่งกว่านาคทั้งหลายก็พากันไปขออยู่กับธนะมูลนาค แล้วหนีไปจนถึงน้ำสมุทรจึงเรียกว่า น้ำลี่ผี ต่อมาน้ำที่อยู่ของธนะมูลนาคเกิดแห้งแล้ง ธนะมูลนาคจึงคุ้ยควักเป็นแม่น้ำออกไปถึงเมืองกรุนทนคร, แม่น้ำนั้นจึงชื่อว่า แม่น้ำมูลนที หรือ แม่น้ำมูล ตามชื่อนาค.

ข้างชีวายนาคก็คุ้ยควักจากแม่น้ำมูลออกเป็นแม่น้ำอ้อมเมือง พระยาสมุทรอุทกที่กินเมืองหนองหานหลวง พร้อมทั้งเมืองขุนขอม นครหนองหานน้อย ตลอดขึ้นไปถึงเมืองกรุนทนคร แต่นั้นมาแม่น้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า แม่น้ำชีวายนที หรือแม่น้ำชี.

นาค ในนิทานเรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์ของคนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนหนองแสอันเป็นถิ่นที่อยู่ของนาคคือ ทะเลสาบเตียนฉือ ที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน เป็นแหล่งผลิตกลองทอง (มโหระทึก) สัมฤทธิ์ ยุคแรกของภูมิภาคอุษาคเนย์ (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ 2 เล่ม คือ (1) ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม โดย ศรีศักร วัลลิโภดม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน 2536, (2) คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2537)

นิทานเรื่องนี้พยายามจะบอกว่า ในยุคดึกดำบรรพ์นานมาแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนย้ายมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำโขง ผ่านลำน้ำอูเข้ามาอยู่สองฝั่งโขงบริเวณที่เป็นประเทศลาวและภาคเหนือ กับภาคอีสานของไทย แม้จะยึดถือเป็นความจริงไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาประกอบหลักฐานทางโบราณคดีก็จะพบว่ามีหลายส่วนแฝงเรื่องจริงเอาไว้ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ, ระบบความเชื่อเกี่ยวกับ นาค ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2562