โบราณว่า “น้ำเต้า” หน้าตาเหมือน “มดลูก”

น้ำเต้า น้ำเต้าปุง เหมือน มดลูก

น้ำเต้า เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ของคนเกือบทั้งโลก (หรือทั้งโลกก็ไม่รู้?) โดยเฉพาะคนสุวรรณภูมิลุ่มน้ำโขง เชื่อว่ามนุษย์ 5 พี่น้องเกิดจาก น้ำเต้าปุง (คือ น้ำเต้าใหญ่หลวง) เช่น กลุ่มคนพูดภาษา มอญ-เขมร, ไทย-ลาว, เวียดนาม, ฯลฯ

วรรณกรรมดึกดำบรรพ์ 

ภาชนะดินเผามีฝา รูปร่างเหมือนน้ำเต้า มีคอคอด บรรจุกระดูกมนุษย์ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในแหล่งโบราณคดี เขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด (ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์ https://www.matichonweekly.com/column/article_120100)

ถ้าภาชนะดินเผาใบนี้มีต้นแบบจากน้ำเต้าจริง ๆ ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญว่า เรื่องมนุษย์มีกำเนิดจากน้ำเต้าปุง เป็นคำบอกเล่าตามความเชื่อของคนไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

Advertisement

น้ำเต้า เหมือน “มดลูก” ของแม่

น้ำเต้าทั่วไปมีรูปทรงกลมป่อง ดูเหมือนท้องแม่ใกล้คลอดลูก แต่คอดตรงกลาง คนแต่ก่อนจินตนาการว่าเหมือน มดลูก ของแม่ที่ให้กำเนิดลูกทุกคน น้ำเต้ามีเมล็ดมากอยู่ข้างใน ถ้าแม่มีลูกมากเหมือนเมล็ดน้ำเต้าจะทำมาหากินได้ผลผลิตมาก เพราะมีลูกช่วยทำ

ลูกน้ำเต้ามีรูปต่าง ๆ หลากหลาย มีทั้งกลมทั้งแป้น ตั้งกับพื้นได้ มีคอคอดหรือไม่มีก็ได้ จนถึงมีรูปทรงรีหรือยาว และมีเมล็ดมาก เมื่อแห้งผิวกร้านแข็ง น้ำเต้าแห้งมีพื้นที่ข้างในกว้าง ใส่น้ำไปกินเมื่อเดินทางไกลได้ (โบราณว่าใครกินน้ำในน้ำเต้าทุกวันจะมีอายุยืนยาว) ใส่ของสำคัญบางอย่างก็ได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ฯลฯ บางกลุ่มชาติพันธุ์แขวนหรือวางน้ำเต้าแห้งไว้ในบ้าน เป็นเครื่องรางป้องกันผีร้าย โรคภัยไข้เจ็บ

ภาชนะยุคแรก ๆ ทำเลียนแบบรูปทรงน้ำเต้า แล้วส่งอิทธิพลให้ภาชนะหล่อด้วยสำริดทำตาม

น้ำเต้า ให้กำเนิดคน

สามัญชนชาวบ้านเชื่อว่าคนทั้งสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เกิดจากน้ำเต้าปุง (ปุง หมายถึง ภาชนะใส่ของ) เป็นพี่น้องท้อง (น้ำเต้าปุง) เดียวกัน 5 คน

สองคนแรกออกมาก่อนเป็น ข้า สามคนหลังออกตามมาเป็น ไทย (หมายถึง ไม่เป็น ข้า และไม่ใช่คนไทย อย่างปัจจุบัน ไทย คำนี้ แปลว่า คน, ชาว เป็นคำร่วมสุวรรณภูมิ ในภาษาลาว, เขมร ก็มี) ทั้งหมดล้วนเป็นไพร่ของผู้เป็นนาย

ความเชื่อของสามัญชนยุคดึกดำบรรพ์ ว่าคน 5 จำพวกเกิดจากน้ำเต้าปุงเดียวกัน ย่อมเป็นเครือญาติพี่น้องท้องเดียวกัน เหมือนคนที่เกิดจากท้องแม่เดียวกัน

คน 5 จำพวกเป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งผืนแผ่นดินใหญ่แม่น้ำลำคลอง กับชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะ ได้แก่ คนในตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลมาเลย์-จามหรือชวา-มลายู, ตระกูลม้ง-เย้า, ตระกูลไทย-ลาว-เวียดนาม, ฯลฯ เรื่องนี้อาจอธิบายความหมายเป็นตระกูลอื่นต่างไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตรงกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“คนเกิดจากน้ำเต้า”. จากหนังสือ“วัฒนธรรมร่วม อุษาคเนย์ในอาเซียน”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์นาตาแฮก. 2559


ปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2566