ทูลกระหม่อม สมเด็จ และเสด็จ 3 คำนี้ใช้ต่างกันอย่างไร?

ภาพถ่าย ประภาพรรณพิไลย ประไพพรรณพิลาส พระราชธิดาฝาแฝด รัชกาลที่ 5 ทูลกระหม่อม สมเด็จ และเสด็จ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส พระราชธิดาแฝดในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม

ทูลกระหม่อม สมเด็จ และเสด็จ เป็น 3 คำที่คนไทยส่วนใหญ่พอจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ทั้ง 3 คำนี้เป็นการขานพระนามพระบรมวงศานุวงศ์อย่างลำลอง โดยใช้แตกต่างกันตาม “สกุลยศ”

ทูลกระหม่อม สมเด็จ และเสด็จ

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ อธิบาย “สกุลยศ” ไว้ว่า คือพระยศที่ได้มาตั้งแต่ประสูติ หากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาประสูติแต่พระมารดาที่เป็นเจ้า จะได้พระยศชั้น “เจ้าฟ้า”

พระยศชั้นเจ้าฟ้า ยังแบ่งเป็น “เจ้าฟ้าชั้นเอก” และ “เจ้าฟ้าชั้นโท” ซึ่งการแบ่งเช่นนี้พิจารณาจากพระยศของ “แม่” ว่า มีสายสัมพันธ์อะไรกับพระมหากษัตริย์

ทูลกระหม่อม

หากแม่เป็น “ลูก” ของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ จะจัดเป็น “พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง” เช่น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

เมื่อพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงทรงให้กำเนิดพระราชโอรสหรือพระราชธิดา “ลูก” ที่เกิดมานี้ก็จะจัดเป็น “เจ้าฟ้าชั้นเอก” เรียกขานว่า “ทูลกระหม่อม”

ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ที่ชาววังขานพระนามพระองค์ว่า “ทูลกระหม่อมโต”, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายเมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระมหานคร ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกไปรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ประทับคอยอยู่ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ที่หน้าเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2445

สมเด็จ

หากแม่เป็น “หลาน” ของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ จะจัดเป็น “พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง” เช่น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งทั้ง 3 พระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ลูก” ที่เกิดจากพระราชมารดาที่เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง จะจัดเป็น “เจ้าฟ้าชั้นโท” เรียกขานว่า “สมเด็จ”

ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ

พระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5 ประทับจากซ้าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ประทับยืน สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ราชพัสตราภรณ์ ราชสำนักฝ่ายใน
พระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5 ประทับจากซ้าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ประทับยืน สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (ภาพจาก “ราชพัสตราภรณ์”)

เสด็จ

ส่วนอีกคำคือ “เสด็จ” ที่หากใครอ่านวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ที่ประพันธ์โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็อาจจำประโยคคลาสสิกนี้กันได้เป็นอย่างดี “เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จจะเสด็จด้วย เสด็จตรัสตอบให้กลับไปทูลเสด็จว่าเสด็จจะเสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จด้วย เสด็จก็จะดีพระทัยมาก”

หากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาประสูติแต่เจ้าจอมมารดา ซึ่งเป็นสตรีสามัญชน “ลูก” ก็จะได้พระยศชั้น “พระองค์เจ้า” เรียกขานพระนามว่า “เสด็จ”

ตัวอย่างเช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส พระราชธิดาแฝดในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ

ที่กล่าวมาเป็นหลักกว้างๆ ในการขานพระนามว่า ทูลกระหม่อม สมเด็จ และเสด็จ ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเรื่องสกุลยศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สกุลยศ “เจ้าฟ้า” และ “พระองค์เจ้า” ต่างกันอย่างไร?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2567