เปิดชีวิต “พระเจ้าอู่ทอง” แท้จริงคือเจ้าชายจากเมืองจีน?

แผนที่ อยุธยา
แผนที่กรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ฉบับภาษาอังกฤษ A Map of the City of Siam (ขนาด ๑๐ x ๑๔ ซม.) แผนที่ระบุที่ตั้งสถานที่สำคัญทั้งภายในและภายนอกกรุงศรีอยุธยาจำนวนทั้งสิ้น ๑๒ แห่ง (ภาพจากหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรัง” ของธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549)

แม้เราจะทราบว่า “พระเจ้าอู่ทอง” เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง อยุธยา แต่สิ่งที่ยังคงเป็นคำถาม คือ พระราชประวัติแต่เดิมของพระองค์เป็นใครกันแน่…

อีกหนึ่งหลักฐานที่น่าสนใจ เกี่ยวข้องกับ “พระเจ้าอู่ทอง” ปรากฏอยู่ใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต (พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาประจำสำนักงานการค้าที่อยุธยา) พ.ศ. 2182 ซึ่ง สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้หยิบยกขึ้นมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทองดังนี้

“เป็นเวลานานกว่า 300 ปีมาแล้ว มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ซึ่งปกครองแว่นแคว้นหลายแว่นแคว้นในประเทศจีน (ชาวสยามไม่ทราบพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้) พระองค์มีโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่าเจ้าอู่ (T’Jaeu ou-e) ซึ่งเป็นเจ้าชายที่ตัณหาจัด ได้ข่มเหงภรรยาขุนนางจีนสำคัญๆ ไปหลายคน

หญิงคนใดที่ไม่ยอมให้พระองค์ข่มเหงก็จะถูกฆ่าตายอย่างลึกลับ ขุนนางเหล่านี้ได้เข้าร้องเรียนพระเจ้าแผ่นดินถึงความประพฤติตัวไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรมของพระราชโอรส และขู่จะถอดถอนพระเจ้าแผ่นดินออกจากราชบัลลังก์ ถ้าหากพระองค์ทรงปฏิเสธไม่ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมและตั้งใจที่จะปลงพระชนม์พระราชโอรส

แต่สมเด็จพระราชินี (พระมารดาของเจ้าชายที่ถูกกล่าวหา) ทรงคัดค้านและเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือให้พระราชโอรสออกนอกประเทศ พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมและได้เล่าความคิดนี้แก่พวกขุนนาง พวกขุนนางก็พออกพอใจและเห็นด้วยกับพระองค์” 

เมื่อเรื่องรู้เข้าถึงหูขององค์ชาย พระองค์ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร ทั้งพระเจ้าแผ่นดินยังพระราชทานข้าวของจำเป็นและมีค่ามากมาย รวมถึงข้าราชบริพารกว่า 200,000 คน แก่พระราชโอรส 

รวมถึง พระเชษฐาผู้ทรงรักน้องมากยังติดตามมาอีกด้วย 

การออกมาจากบ้านเกิดเมืองนอนนี้ ไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่ว่างเปล่า เพราะพระองค์ต้องการสร้างถิ่นฐานของตนเองขึ้น ซึ่งจะเป็นที่ใดก็แล้วแต่สวรรค์จะนำพา

พระองค์ พระเชษฐา และเหล่าข้าทาสบริวารผู้ติดตาม ล่องเรือจนมาถึงพื้นที่ที่เรียกว่า “ปัตตานี” ด้วยความบังเอิญ และขึ้นบกที่บริเวณนี้ ก่อนจะพบว่ามีผู้คนมากมายหนาแน่นมากแล้ว จึงตัดสินใจเดินเลียบขึ้นไปบริเวณ “อุลุปัตตานี” แทน และได้สร้างเมืองที่ชื่อว่า “ลังกาสุกะ” ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมา

กระทั่งลังกาสุกะเต็มไปด้วยประชาชน ผู้คน พร้อมด้วยกฎหมาย จึงขยายเมืองเกิดเป็น “ลีคร” (นครศรีธรรมราช) และต่อด้วยการสร้างเมือง “กุย” ขึ้น

ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต ยังเล่าต่อไปว่า…

“ในเวลานั้นมีเรือสำเภาจากจักรพรรดิจีนสองลำมาปรากฏที่เมืองกุย และมีข่าวเข้าหูเจ้าอู่ว่า นายเรือ (annachodas) และพ่อค้าจีนยินดีที่จะได้รับไม้ฝาง พระองค์จึงใช้วิเทโศบายให้ไม้ฝางแก่บุคคลดังกล่าวเป็นจำนวนมากเท่าที่เรือทั้งสองลำจะบรรทุกไปได้ 

ดังนั้นพวกพ่อค้าจึงกลับเมืองจีนไปด้วยความปีติอย่างล้นพ้น เมื่อมาถึงเมืองจีนก็ได้รายงานให้พระจักรพรรดิทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม้ฝางซึ่งได้มาเป็นของกำนัล พระจักรพรรดิทรงปีติเป็นอย่างมากที่ได้ไม้ฝางเป็นกำนัล จึงยกพระธิดาพระนามว่านางปะคำทอง (Nangh Pacham Tongh) ให้อภิเษกกับเจ้าอู่

พระองค์ได้จัดพิธีส่งพระราชธิดาอย่างเอิกเกริก นอกจากนี้ยังพระราชทานนามเจ้าอู่ว่าท้าวอู่ทองเพื่อเป็นรางวัลอีกด้วย

หลังจากที่เจ้าอู่ ซึ่งมีพระนามใหม่ว่าท้าวอู่ทอง ครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองกุยกับพระมเหสีธิดาจักรพรรดิจีนชั่วระยะเวลาอันสั้น พระองค์ก็ตัดสินพระทัยที่จะตั้งบ้านเมืองในประเทศสยามให้ดีกว่านี้ เมื่อได้ทราบข่าวว่ามีโอกาสที่จะทำได้ พระองค์ก็ทรงเดินทางออกจากเมืองกุย (Cuji) และสร้างเมืองอื่นๆ ขึ้น เมืองแรกได้แก่ พริบพรี (Pijprij)

ขณะที่กำลังขุดดินอยู่นั้น คนงานก็ได้พบรูปปั้นทองแดงสูงประมาณหกสิบฟุตนอนอยู่ใต้ดิน ซึ่งนำความแปลกใจมาให้พระเจ้าอู่ทองเป็นอันมาก แต่หลังจากที่พระองค์ได้สดับคำอธิบายเกี่ยวกับรูปปั้นและรากฐานของศาสนาชาวสยาม พระองค์จึงได้เปลี่ยนจากนับถือศาสนาของจีนมานับถือศาสนาของชาวสยาม”

ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งหลักฐานที่กล่าวถึง “พระเจ้าอู่ทอง” เท่านั้น ยังมีข้อสงสัยอีกมากเกี่ยวกับที่มาของข้อมูลที่นำมาจดบันทึก รวมทั้งความน่าเชื่อถือต่างๆ อีกด้วย และท้ายที่สุดเราก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า พระราชประวัติเดิมของพระองค์เป็นอย่างไรกันแน่…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. พระเจ้าอู่ทอง ไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง แต่เป็นเจ้าชายตัณหาจัดมาจากเมืองจีน | สุจิตต์ วงษ์เทศ. https://www.matichonweekly.com/culture/article_694933.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2567