ตำนานพระเจ้าอู่ทองฆ่ามังกร “ปราบโรคระบาด” สร้างอยุธยา?

The Temptation of Saint Anthony
ภาพผู้ป่วยที่มุมหนึ่งในภาพเขียน “The Temptation of Saint Anthony” ผลงานของ Matthias Grünewald ศิลปินชาวเยอรมัน เขียนขึ้นราว ค.ศ. 1510-1515

ตำนาน “พระเจ้าอู่ทอง” ฆ่ามังกร ปราบ “โรคระบาด” สร้างอยุธยา มาจากไหน คืออะไรกันแน่?

“พระเจ้าอู่ทองเป็นผู้ปราบโรคระบาดสร้างอยุธยา?” คำบอกเล่าของชาวเมืองอยุธยาซึ่งมีบันทึกอยู่ในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต* พ.ศ. 2182 อยู่ในรูปตำนาน, นิทาน, คำบอกเล่า มีสัญลักษณ์โรคระบาดเป็น “น้ำลาย” ของมังกร หรือนาค

Advertisement

เป็นคำบอกเล่าของชาวเมืองอยุธยา ราว พ.ศ. 2176-2185 ว่ากันว่า “ก่อนยุคพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาเคยมีโรคระบาดครั้งใหญ่ ผู้คนล้มตายเกือบหมดเมือง”

เรื่องราวเกริ่นเริ่มตั้งแต่พระนามเดิมพระเจ้าอู่ทอง ชื่อว่า “เจ้าอู่” เป็นโอรสจักรพรรดิจีนถูกเนรเทศทางทะเลเพราะนิสัยไม่ดี ทำความชั่วร้ายแรง สำเภาไปถึงเมืองปัตตานีแล้วย้ายไปอยู่เมืองต่างๆ ที่อยู่ชายทะเลเช่นเมืองนครศรีธรรมราช, เมืองกุยบุรี(ประจวบฯ), เมืองเพชรบุรี, เมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ท้ายที่สุดมาปราบ “โรคระบาด” แล้วสร้างกรุงศรีอยุธยา ดังตัวอย่างตอนโรคระบาดในพงศาวดารฯ วัน วลิต ที่ระบุไว้ว่า

“ขณะนั้นพระองค์ได้ทรงทราบข่าวเกี่ยวกับเกาะซึ่งจะเป็นที่ตั้งเมืองอยุธยาและพระองค์ทรงฉงนพระทัยเป็นอย่างมาก สถานที่ที่สวยงามเช่นนั้น ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่หรือมีใครตั้งเมืองขึ้น แต่พระองค์ก็ได้พบพระฤาษีตนหนึ่งซึ่งได้ทูลพระองค์ว่าเมื่อก่อนนี้มีเมืองๆ หนึ่งตั้งอยู่ชื่อว่า อยุธยา แต่พระฤาษีไม่สามารถจะกราบทูลได้ว่าเมืองนั้นได้เสื่อมโทรมไปอย่างไร และยังได้เพิ่มเติมอีกว่าไม่มีใครจะสร้างเมืองบนเกาะนั้นได้อีก

เหตุผลหนึ่งก็คือมีสถานที่ หนึ่งชื่อ Whoo Talenkengh (วัดตะแลงแกง?) ปัจจุบันอยู่ใจกลางเมืองมีบ่อซึ่งเป็นที่อาศัยของมังกรดุร้ายตัวหนึ่ง ซึ่งชาวสยามเรียกว่านาคราช (Nack Phaij) เมื่อไรก็ตามที่มังกรตัวนี้ถูกรบกวนก็จะพ่นน้ำลายพิษออกมาซึ่งทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณนั้นเกิดโรคระบาดเสียชีวิตลงเพราะกลิ่นเหม็น

ภาพสลักหินที่ปราสาทบายน ในนครธม เชื่อว่าเป็นภาพที่เล่าเรื่องกษัตริย์กับ “นาค” ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง (สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์, 2546)

ท้าวอู่ทองตรัสถามพระฤาษีว่าจะฆ่ามังกรและถมสระเสียจะได้หรือไม่

พระฤาษีกราบทูลว่าไม่มีวิธีที่จะแก้ไขได้นอกจากจะต้องหาฤาษี (ที่ลักษณะเหมือนฤาษีองค์นั้น) โยนลงไปให้มังกร ท้าวอู่ทองจึงมีพระบรมราชโองการให้สืบหาฤาษีลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศ

พระฤาษีกล่าวต่อว่าเมื่อฆ่ามังกรและถมสระแล้ว หากท้าวอู่ทองต้องการจะอยู่ในที่นั้นด้วยสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์จะต้องทำ 3 ประการตามนี้ ยิงลูกธนูออกไปและต้องให้กลับมาเข้ากระบอกธนู ชโลมร่างกายทุกวันด้วยมูลโค และเป่าเขาสัตว์ทุกวันเฉกเช่นพราหมณ์ปฏิบัติบัติเมื่อเวลาลงโบสถ์ หรือไปยังสถานที่สักการะ

ท้าวอู่ทองตรัสว่าพระองค์ทรงสามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ และพระองค์จะเสด็จลงเรือเล็ก มุ่งสู่ยังกึ่งกลางแม่น้ำ ยิงลูกธนูไปยังต้นน้ำขณะที่ลูกธนูไหลตามน้ำมาพระองค์ก็ใช้กระบอกลูกธนูดักลูกธนูไว้ได้ แทนที่พระองค์จะใช้มูลโคชโลมพระวรกาย พระองค์กลับใช้ข้าวผสมน้ำมันขี้ผึ้งเล็กน้อย ตรัสว่าข้าวขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้ใส่ปุ๋ยมูลโค ทั้งนี้พระองค์ทรงหมายความว่ามูลโคเป็นส่วนหนึ่งของข้าว ในเรื่องเป่าเขาสัตว์นั้น พระองค์ได้มีพระราชโองการ ให้ม้วนใบพลู และเสวยเป็นหมากพลู ซึ่งมีลักษณะเหมือนเป่าเขาสัตว์

ในระหว่างนั้นผู้ส่งข่าวซึ่งได้ส่งออกไปสืบหาพระฤาษีได้กลับมาทูลว่า ไม่สามารถจะหาพระฤาษีได้ ท้าวอู่ทองทรงเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับและได้เสด็จพร้อมกับพระฤาษีออกไปที่ปากสระซึ่งเป็นที่อยู่มังกร และโดยที่ไม่ได้ตรัสให้พระฤาษีรู้ตัว พระองค์ทรงเหวี่ยงพระฤาษีลงสระไปและถมสระ

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมามังกรก็ไม่ปรากฏตัวขึ้นมาอีก และแผ่นดินก็พ้นจากโรคระบาด จากนั้นท้าวอู่ทองก็เริ่มบูรณะเมืองในวันขึ้นห้าค่ำเดือนสี่ (ตรงกับเดือนมีนาคมของเรา) ปีขาล และเรียกเมืองนี้ว่า อยุธยา

นิทานเรื่องท้าวอู่ทองหรือพระอู่ทองที่จดไว้ วัน วลิต คงฟังมาจากคำบอกเล่าของชาวพระนครศรีอยุธยา ทั้งที่เป็นขุนนางข้าราชการ และพ่อค้าประชาชนสมัยนั้นอาจกล่าวว่ามีการบันทึกนิทานเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าที่สุดก็ได้

*วัน วลิต เป็นพ่อค้าชาวฮอลันดา เดินทางเข้ามาประจำสำนักงานการค้า อยู่ที่พระนครศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2176-2185 ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามในสมัยนั้น แล้วเรียนรู้ภาษาไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “โรคระบาดยุคพระเจ้าอู่ทอง ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต”. ใน “BLACK DEATH โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง ฝังโลกเก่า ฟื้นโลกใหม่ได้ “ราชอาณาจักรสยาม”. จัดพิมพ์โดย กระทรวงวัฒนธรรม, 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2562