28 มิ.ย. 1914: “ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์” แห่งออสเตรียถูกลอบปลงพระชนม์ จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 1

ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์
ภาพถ่ายของอาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ขณะเสด็จออกจากหอประชุมไม่นานก่อนที่พระองค์พร้อมพระชายาจะถูกลอบปลงพระชนม์ในกรุงซาราเยโว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 อันเป็นเหตุนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (AFP PHOTO)

28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 “ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์” แห่งออสเตรีย ถูกลอบปลงพระชนม์ จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 1

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในอดีตถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก ด้วยอาณาเขตที่เป็นรองเพียงรัสเซียในยุโรป มีประชากรมากเป็นอันดับสามของทวีปรองจากรัสเซียและเยอรมนี แต่ความทะเยอทะยานในการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิกลับเป็นสิ่งที่ทำให้จักรวรรดิแห่งนี้ล่มสลายลงพร้อมกับราชวงศ์ผู้กุมอำนาจ

เชื้อแห่งสงครามถูกบ่มเพาะขึ้นในคาบสมุทรบอลข่าน พื้นที่กันชนของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเมื่อถึงศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิออตโตมันที่กำลังเสื่อมถอยก็ค่อยๆ เสียอิทธิพลในคาบสมุทรแห่งนี้ไป และเมื่อถึงปลายศตวรรษเพื่อยับยั้งอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคมหาอำนาจในยุโรปจึงเข้าแทรกแซงข้อพิพาท (Congress of Berlin, 1878) โดยตกลงกันให้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเข้ามามีอำนาจในการบริหารจัดการดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (โดยยังถือว่าดินแดนดังกล่าวอยู่ใต้อธิปไตยของออตโตมัน)

ในปี 1908 ออสเตรีย-ฮังการีได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับนักชาตินิยมชาวเซิร์บและสลาฟใต้ในคาบสมุทรบอลข่าน เมื่อออสเตรีย-ฮังการีประกาศผนวกเอาดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ พร้อมกันนั้นก็สร้างความประหลาดใจให้กับชาติมหาอำนาจอื่นๆ และก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการทูตเป็นระยะเวลาหลายเดือน

ภาวะความตึงเครียดในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนายิ่งขยายตัวมากขึ้นในช่วงสงครามบอลข่านครั้งที่ 1 ในช่วงปี 1912-13 (พ.ศ. 2455-2456) เมื่อเซอร์เบียได้แพร่อิทธิพลลงใต้ขับไล่กองกำลังชาวเติร์กออกจากโคโซโว, โนวีพาซาร์ (Novi Pazar, เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของเซอร์เบีย) และมาซิโดเนีย ในเดือนพฤษภาคม 1913 ข้าหลวงผู้ดูแลด้านการทหารแห่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ยุบรัฐสภา สั่งปิดสมาคมทางวัฒนธรรมของชาวเซิร์บทั้งหมด พร้อมกับสั่งงดการใช้ศาลยุติธรรม

หนึ่งปีให้หลัง ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย (Franz Ferdinand, Archduke of Austria) รัชทายาทโดยพฤตินัยของจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ (Emperor Franz Joseph) [เนื่องจากมกุฎราชกุมารรูดอล์ฟ (Rudolf, Crown Prince of Austria) พระโอรสของจักรพรรดิโจเซฟ ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม ทำให้อาร์ชดยุกคาร์ล ลุดวิก (Karl Ludwig, Archduke of Austria) พระบิดาของอาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ และพระอนุชาของจักรพรรดิโจเซฟเป็นผู้สืบราชบัลลังก์โดยธรรม แต่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อน] ได้เสด็จมายังบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเพื่อเยี่ยมชมการซ้อมรบ

ในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 (พ.ศ. 2457) ระหว่างเสด็จพระดำเนินด้วยรถเปิดประทุนในกรุงซาราเยโวของบอสเนีย อาร์ชดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์พร้อมด้วยพระชายาถูกลอบยิงสิ้นพระชนม์ด้วยฝีมือของ กาฟริโล พรินซิป (Gavrilo Princip) ชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ สมาชิกกลุ่ม Mlada Bosna (หรือ Young Bosnia ขบวนการปฏิวัติของคนรุ่นใหม่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บ)

หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อิตาลี "Domenica del Corriere" แสดงภาพวาดเหตุการณ์ที่กาฟริโล พรินซิป ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ พร้อมพระชายา (Achille Beltrame [Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons)
หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อิตาลี “Domenica del Corriere” แสดงภาพวาดเหตุการณ์ที่กาฟริโล พรินซิป ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ พร้อมพระชายา (Achille Beltrame [Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons)
แผนการดังกล่าวเชื่อกันว่า ดรากูติน ดิมิตริเยวิช (Dragutin Dimitrijevic, หรือ Apis) นายทหารหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองของกองทัพเซอร์เบีย และผู้กองตั้งองค์กร “หัตถ์ทมิฬ” (Black Hand) น่าจะเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการวางแผน ซึ่งนิโกลา ปาซิส (Nicola Pasic) นายกรัฐมนตรีเซอร์เบียในขณะนั้นและศัตรูทางการเมืองของ ดิมิตริเยวิช ได้เตือนถึงแผนการดังกล่าวไปยังรัฐบาลออสเตรียก่อนล่วงหน้าแล้ว แต่คำเตือนดังกล่าวกลับเลือกใช้คำอย่างระมัดระวังจนอีกฝ่ายไม่อาจเข้าใจสารที่ต้องการจะสื่อได้อย่างชัดเจน

หลังเกิดเหตุออสเตรีย-ฮังการีได้ยื่นข้อเรียกร้องที่คาดว่าเซอร์เบียจะไม่ยอมรับแต่แรก แต่ปรากฏว่าในวันที่ 25 กรกฎาคม เซอร์เบียได้รับข้อเรียกร้องเกือบทั้งหมด นอกเสียจากข้อเรียกร้องให้ปลดเจ้าหน้าที่เซอร์เบียตามคำสั่งออสเตรีย-ฮังการี และข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ออสเตรีย-ฮังการีมีอำนาจในดินแดนของเซอร์เบียเพื่อการสอบสวนคดีลอบปลงพระชนม์

ด้านจักรพรรดิวิลเลียมที่ 2 แห่งเยอรมนีพันธมิตรของออสเตรีย-ฮังการีเมื่อได้ทรงทราบการตอบรับข้อเรียกร้องของเซอร์เบียก็ได้มอบนโยบายให้กับกระทรวงต่างประเทศให้แจ้งออสเตรีย-ฮังการีว่า เหตุในการประกาศสงครามนั้นได้สิ้นไปแล้วในวันที่ 28 กรกฎาคม แต่ลีโอโปลด์ กราฟ ฟอน เบิร์ชโทลด์ (Leopold Graf von Berchtold) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรีย-ฮังการีได้ยุยงให้จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟประกาศสงครามกับเซอร์เบียได้สำเร็จในวันเดียวกันนั่นเอง

เหตุการณ์ที่น่าจะสามารถยุติได้ด้วยวิถีทางการทูตจึงลุกลามดึงให้หลายประเทศที่เป็นพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมสงคราม จนกลายเป็นมหาสงคราม (The Great War) หรือสงครามโลกครั้งที่ 1 ตลอดการสู้รบกว่า 4 ปี มีทหารต้องเสียชีวิตกว่า 8.5 ล้านราย หลังสิ้นสุดสงครามยังทำให้จักรวรรดิเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และออตโตมันล่มสลายไปพร้อมกับราชวงศ์ผู้ปกครอง รวมถึงราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซียที่ถึงกาลสิ้นสุดหลังการปฏิวัติในปี 1917

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Franz Ferdinand, archduke of Austria-Este”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 27 Jun. 2016
<http://global.britannica.com/…/Francis-Ferdinand-archduke-o…Este>.

“Bosnia and Herzegovina”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica
Online. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 27 Jun. 2016 <http://global.britannica.com/…/Bosnia-and-Her…/Cultural-life>.

“World War I”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 28 Jun. 2016
<http://global.britannica.com/…/W…/Killed-wounded-and-missing>.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2559