เบื้องหลัง ร.6 นำสยามร่วมสงคราม สู่วีรกรรมทหารไทยบนสมรภูมิยุโรปในสงครามโลกครั้งที่ 1

กองทหารบกรถยนตร์ในพิธีรับธงชัยเฉลิมพลที่สถานีรถไฟเมืองนอยสตัดต์ ประเทศเยอรมนี วันที่ 17 มีนาคม 2461 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นับแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในยุโรปใน .. 2457 ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ กับฝ่ายมหาอำนาจกลางซึ่งประกอบด้วยเยอรมนี ออสเตรียฮังการี จักรวรรดิออตโตมาน และบัลแกเรีย ส่วนประเทศสยามนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศเป็นกลางและคงดำรงความเป็นกลางโดยเคร่งครัดมาโดยตลอด

ครั้นการสงครามในยุโรปดำเนินมาจนถึง .. 2460 จนทรงตระหนักแน่ด้วยพระปรีชาญาณทางทหารว่า เยอรมนีจะต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้เป็นแน่แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดประชุมเสนาบดีสภาเป็นการลับ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม .. 2460 มีสมาชิกเสนาบดีสภาเข้าร่วมประชุม คือ

1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จเรทหารทั่วไป

2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

3. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

4. จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (... อรุณ ฉัตรกุล) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

5. เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (... ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

6. เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (... สท้าน สนิทวงศ์) เสนาบดีกระทรวงคมนาคม

7. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (... ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง

8. เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

9. พระยาธรรมศักดิ์มนตรี [1] (สนั่น เทพหัสดิน อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

10. พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ์) สภาเลขานุการ ทำหน้าที่จดรายงานการประชุม

ในการประชุมเสนาบดีสภาวันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีภูริปรีชา สภาเลขานุการอ่านพระราชบันทึกแนวพระราชดำริในการรักษาความเป็นกลางของกรุงสยาม ซึ่งอุปทูตเยอรมันและออสเตรียแสดงความกังวลว่าจะทรงละทิ้งความเป็นกลาง อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลสยามได้ช่วยจับพวกอินเดียที่คิดขบถ รวมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปช่วยภรรยาและบุตรของทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม (Durham Light Infantry)

ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 5 พระราชาธิบดีแห่งประเทศอังกฤษได้มีพระราชโทรเลขมาอัญเชิญให้ทรงรับยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ นอกจากจะทรงตอบรับพระราชไมตรีดังกล่าวแล้ว ยังได้ทรงเชิญสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ให้ทรงเป็นนายพลเอกของกองทัพบกสยาม นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเอเชียได้เป็นนายพลเอกของกองทัพบกอังกฤษและชาวอังกฤษได้รับยศนายพลเอกของกองทัพบกสยาม  

แม้ว่าการดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายดังกล่าวจะเป็นการล่อแหลมต่อความเป็นกลางของประเทศสยามก็ตาม  แต่ก็ทรงระมัดระวังโดยทรงหารือกระทรวงการต่างประเทศก่อนทุกครั้ง จึงไม่หวั่นไหวพระราชหฤทัยไปตามที่อัครราชทูตทั้ง 2 ประเทศได้แสดงความกังวลมา แต่ที่ทรงพระปริวิตกนั้นคือ

ฐานะแท้จริงของกรุงสยามนั้น เป็นอยู่อย่างไร อาณาเขตของเราตกอยู่ในท่ามกลางระหว่างแดนของอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะฉนั้น ถ้าแม้เราแสดงความลำเอียงเข้าข้างเยอรมันแม้แต่น้อย เพื่อนบ้านผู้มีอำนาจ ก็คงจะได้ชนเอาหัวแบนเมื่อนั้น การที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เขายอมให้กรุงสยามคงเป็นกลางอยู่นั้น ก็เพราะเขายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะให้เราเข้ากับเขาเท่านั้น และถ้าเมื่อใดเขารู้สึกว่าความเป็นกลางของเราเป็นเครื่องกีดขวางแก่เขาแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยเขาคงจะไม่ยอมให้เราคงเป็นกลางอยู่เป็นแน่แท้[2]

แต่ในเวลาที่ทรงนำเรื่องนี้ขึ้นหารือในที่ประชุมเสนาบดีสภานั้น ทรงตระหนักแน่แล้วว่ากลุ่มมหาอำนาจกลางซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรียฮังการีหมดหนทางที่จะเอาชนะในมหาสงครามครั้งนี้แล้ว และถ้าสยามยังคงเป็นกลางต่อไปก็คงจะมีแต่เสมอตัวกับขาดทุน เพราะถ้าอังกฤษและฝรั่งเศสใจดีก็เสมอตัว แต่ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทมาว่า ฝรั่งเศสจะขอให้สยามไล่ชาวเยอรมันที่ทำราชการออกทั้งหมด และให้เราทำสัญญาการค้าใหม่ให้เขาได้เปรียบเยอรมนี ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราต้องวิวาทกับเยอรมนีโดยไม่มีใครมาช่วย

แต่ถ้าเราเข้าข้างสัมพันธมิตรเสียแล้ว ก็มีแต่ทางได้กับเสมอตัว เพราะเมื่อสงครามสงบลงแล้วเราสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นชาติที่ชนะสงครามเจรจากับนานาชาติเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและแก้พิกัดภาษีศุลกากร 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับ นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้ากองทูตทหารซึ่งนำนายทหารกองบินทหารบกกลับจากงานพระราชสงครามทวีปยุโรป เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2462

อนึ่ง ในเวลานั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วว่า ทั้งฝรั่งเศสและรัสเซียต่างก็รู้สึกเป็นเกียรติที่สยามจะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่อังกฤษยังคงแสดงท่าทีคัดค้านเพราะคำนึงถึงประโยชน์ทางการค้าอยู่ และถ้าสยามไม่คำนึงถึงท่าทีของอังกฤษแล้ว อังกฤษก็คงจะไม่ยอมรับและคงจะตอบรับการเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรของสยามเช่นเดียวกับที่ตอบประเทศจีนไปก่อนหน้านั้นว่าไม่รู้ไม่ชี้ จะทำสงครามกับเยอรมันก็ทำไปตามลำพัง

เมื่อที่ประชุมเสนาบดีสภาได้พิจารณาในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้เสนอความเห็นว่า หากสยามจะเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ ต้องทำอย่างมีเกียรติ ที่ประชุมเสนาบดีสภาในวันนั้นจึงได้มีมติว่าสยามตกลงจะคุมเชิงไว้จนอังกฤษเปลี่ยนแนว

แต่อังกฤษก็ยังคงยืนกรานตามแนวทางเดิมตลอดมา ในการประชุมเสนาบดีสภาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน .. 2460 ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดโดยเชิญทูตสัมพันธมิตรมาหารือพร้อมๆ กัน แต่การนี้ก็ยังไม่เกิดผลอันใดจนกระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน .. 2460 จึงทรงแจ้งให้ที่ประชุมเสนาบดีสภาทราบว่า อังกฤษตอบรับแสดงความยินดีที่ประเทศสยามจะเข้าสงครามและร่วมรบในสงคราม ทวีปยุโรป

แต่อังกฤษเกี่ยงว่าทหารไทยเท่าที่ปรากฏไม่เคยได้รบกับใครมาก่อน จึงจะให้ทหารไทยไปขนสัมภาระผ่านทะเลทรายเมโสโปเตเมียและส่งเสบียง ทรงเห็นว่าข้อเสนอของอังกฤษนี้เป็นการหมิ่นเกียรติยศทหารไทย จึงทรงหันไปเจรจากับฝรั่งเศส และเมื่อทูตฝรั่งเศสนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า กองทัพฝรั่งเศสกำลังขาดแคลนเรื่องการพาหนะ ทั้งเรื่องกองยานยนต์ นักบิน รวมทั้งเรื่องพยาบาลสนาม ขอให้สยามช่วยใน 3 เรื่องนี้ เมื่อทรงเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของฝรั่งเศส จึงได้ทรงเตรียมการประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรียฮังการีเป็นลำดับต่อมา 

ล่วงพ้นเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 21 กรกฎาคม .. 2460 ย่างเข้าสู่วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม .. 2460 แล้ว จึงได้มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรียฮังการี แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมออกประกาศรับสมัครและคัดเลือกชายฉกรรจ์จำนวนกว่าพันคนจัดเป็นกองทหารบกรถยนต์และกองบินทหารบก พร้อมทั้งหมวดพยาบาล ไปร่วมรบ สมรภูมิทวีปยุโรป

ก่อนที่กองทหารอาสาจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเลี้ยงส่งนายและพลทหารทุกคนที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และได้พระราชทานเสมาเงินมีสายพร้อม ด้านหน้าเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ .พระมหามงกุฎ มีฉัตรเครื่องสูง 2 ข้าง และที่ด้านหลังจารึกอักษรว่าพระราชทานสำหรับงานพระราชสงคราม 2460” กับเสื้อโอเวอร์โค้ตแก่นายและพลทหารทุกคน

และในวันรุ่งขึ้นก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ยังได้พระราชทานโคลงสยามานุสสติให้เป็นเครื่องเตือนใจนายและพลทหารที่จะไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรปด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานตรารามาธิบดีประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลกองทหารบกรถยนต์

กองทหารอาสาได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน .. 2461 และเมื่อเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศสก็ได้แยกย้ายกันไปฝึกหัด โดยกองบินทหารบกนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดส่งนายแพทย์มาตรวจร่างกายนายและพลทหารทั้งหมด มีผู้ผ่านการตรวจร่างกายได้เข้ารับการฝึกหัดเป็นศิษย์การบินจำนวน 106 นาย และสามารถผ่านการฝึกหัดได้รับประกาศนียบัตรเป็นนักบินถึง 95 นาย ได้ไปประจำในกองรบเพื่อฝึกหัดการต่อสู้ทางอากาศ ทั้งการยิงปืนรบในอากาศและจากอากาศสู่ภาคพื้น การฝึกทิ้งลูกระเบิดสู่เป้าหมาย ส่วนนายและพลทหารที่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายจำนวน 225 นายนั้น ได้เข้ารับการฝึกหัดเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานพร้อมกันไปด้วย

เนื่องจากการฝึกบินและบำรุงรักษาอากาศยานนั้นต้องใช้เวลาฝึกหัดและเสริมสร้างความชำนาญเป็นเวลานาน จึงปรากฏว่าในระหว่างที่นายทหารในกองบินทหารบกกำลังฝึกหัดอยู่นั้น ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน .. 2461 ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เยอรมนีได้ขอสงบศึกลง แต่ในระหว่างที่กำลังเจรจาสงบศึกกันนั้นทางราชการก็ได้มีคำสั่งให้กองบินทหารบกคงฝึกหัดต่อไป

จนการเจรจาสงบศึกยุติลงเป็นอันว่าสงครามได้สงบลงโดยสมบูรณ์แล้ว จึงได้มีพระบรมราชโองการให้เลิกกองทูตทหาร และให้ นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน อยุธยา) [3] หัวหน้ากองทูตทหารหรือแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยในสมรภูมิทวีปยุโรปนำกำลังพลในกองบินทหารบกเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม .. 2462 แต่ นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) [4] ผู้บังคับกองบินทหารบกได้จัดให้นักบินและช่างเครื่องยนต์จำนวนหนึ่งคงฝึกหัดและเล่าเรียนวิชาเพิ่มเติมสำหรับกลับมาเป็นครูในราชการของกองบินทหารบกสยามต่อไป

กองทหารบกรถยนต์ในบังคับ นายพันตรี หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี) [5] ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์นั้น เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสแล้วรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดการฝึกหัดขับรถยนต์และบำรุงรักษารถยนต์ รวมตลอดทั้งการฝึกวิชาทหารราบซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นพื้นฐานของทหาร มีนายและพลทหารในกองทหารบกรถยนต์สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการขับขี่รถยนต์เป็นจำนวนถึงร้อยละ 95 ของกำลังพล ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกหัดนั้นก็ได้จัดให้เป็นผู้ช่วยพลรบ 

เมื่อกองทหารบกรถยนต์เสร็จการฝึกหัดแล้ว  ได้เข้าสู่สมรภูมิและได้แสดงความสามารถและความกล้าหาญให้เป็นที่ประจักษ์แก่นายทหารฝรั่งเศส ดังได้เล่าต่อๆ กันมาว่า เมื่อทหารไทยได้รับมอบหมายให้ลำเลียงพล สัมภาระและเสบียงเข้าสู่แนวหน้า และต้องรุกเข้าไปในแนวกระสุนของทั้ง 2 ฝ่าย ข้างฝ่ายทหารฝรั่งเศสนั้นพอได้ยินเสียงปืนดังเข้าก็เริ่มระมัดระวังตัวกันทีเดียว

แต่ทหารไทยหาได้เกรงกลัวภยันตรายใดๆ คงขับรถที่สุดแสนจะโปเกนั้นเรื่อยไป จนสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จหลายครั้งหลายหน รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้มอบเหรียญกล้าหาญที่ชื่อครัวซ์ เดอ แกรร์” (Croix de Guerre) ประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลเป็นเกียรติยศแก่กองทหารบกรถยนต์และกองทัพไทย  และเมื่อกองทหารบกรถยนต์เดินทางกลับถึงพระนครในวันที่ 21 กันยายน .. 2462 ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลแก่กองทหารบกรถยนต์ พร้อมกับมีพระราชกระแสความตอนหนึ่งว่า

การที่ธงของกองเจ้าได้รับตราต่างประเทศมาแล้ว ย่อมเป็นพยานอยู่ในตัวแล้วว่านานาประเทศรู้สึกว่าทหารไทยทำการกล้าหาญน่าชมเชย ครั้นจะให้ตราทั้งหมดทุกคนก็เป็นการมากมายไม่ไหวอยู่เอง ส่วนตัวข้าเองข้าได้ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะต้องสแดงอย่างใดอย่างหนึ่งให้เจ้าทั้งหลายแลเห็นชัดว่า ข้าปลื้มปานใดในการที่พวกเจ้าได้ไปหาชื่อให้แก่ชาติไทยในครั้งนี้ ครั้นว่าข้าจะแจกตราให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน ก็จะเป็นการมากมายนัก ข้าจึงได้คิดว่าจะให้ตราแก่ธงประจำกองของเจ้า ขอให้เจ้าถือว่าที่ข้าให้ตราแก่ธงนี้ เท่ากับให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน

เพราะธงเป็นเครื่องหมายสำหรับกอง เพราะฉะนั้นเมื่อธงได้รับตราไปแล้ว ขอเจ้าจงรู้สึกว่าทุกๆ คนได้รับตรา และทุกๆ คนต้องตั้งใจรักษาเกียรติยศให้สมแก่เป็นผู้ได้รับตรารามาธิบดีอันมีศักดิ์ ช่วยกันรักษาศักดิ์นี้ไว้ เพราะศักดิ์อันนี้ไม่ใช่ของเจ้าโดยเฉพาะตัว นับว่าเป็นศักดิ์ของกองทหาร และเป็นศักดิ์ของตัวข้าผู้เป็นประมุขแห่งเจ้าทั้งหลายด้วย [6]

ส่วนกองพยาบาลทหารบกที่โปรดให้ออกไปในงานพระราชสงครามพร้อมด้วยกองบินทหารบกและกองทหารบกรถยนต์นั้น นอกจากจะได้ติดตามกองทหารเข้าร่วมปฏิบัติการในสนามรบ ได้เรียนรู้การปฏิบัติหน้าที่รักษาพยาบาลในสนาม และจัดทำรายงานระเบียบปฏิบัติของกองพยาบาลทหารฝรั่งเศสส่งกลับเข้ามากรุงเทพฯ แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนไทยที่กำลังศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ทวีปยุโรปเข้าร่วมสมทบในกองพยาบาลทหารบกเพื่อเรียนรู้และฝึกหัดการปฏิบัติงานภาคสนามอีกด้วย

อนึ่ง ในระหว่างที่กองทหารไทยคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแผ่นดินฝรั่งเศสและราชศัตรูนั้น นอกจาก นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์จะได้จัดการรวบรวมระเบียบข้อบังคับของกองทัพฝรั่งเศสส่งกลับเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเป็นแนวทางในการฝึกศึกษาของกองทัพบกสยามตามพระบัญชาของ นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกแล้ว นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ยังได้เจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสจนเป็นที่ยอมรับกันว่า กองทหารไทยเป็นกองพลอิสระมิใช่กองพลอินโดจีนของฝรั่งเศส จึงต้องได้รับการปฏิบัติเสมอกับนายทหารฝรั่งเศสมิใช่พวกเมืองขึ้น

และเมื่อฝรั่งเศสวางข้อกำหนดให้ทหารไทยขึ้นศาลทหารฝรั่งเศส นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ก็สามารถเจรจาจนฝรั่งเศสยินยอมให้ตั้งศาลทหารไทยขึ้นในดินแดนฝรั่งเศส จึงนับได้ว่าการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้เริ่มขึ้นแล้วในยุโรปเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตในแผ่นดินไทย

ผลที่ประเทศสยามได้รับจากการตัดสินพระราชหฤทัยเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการพระราชสงคราม ทวีปยุโรปครั้งนี้ นอกจากจะได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่ง นายนาวาโท พระประดิยัตินาวายุทธ [7] (ศรี กมลนาวิน) ไปฝึกหัดปฏิบัติการในเรือพิฆาตของกองทัพเรือเดนมาร์ก และ นายนาวาตรี  หลวงหาญสมุท [8] (บุญมี พันธุมนาวิน) ไปฝึกหัดปฏิบัติการในเรือใต้น้ำของกองทัพเรืออังกฤษแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้ช่วยฝึกหัดนายทหารไทยให้มีความรู้ความสามารถโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการฝึกหัดแต่อย่างใดทั้งสิ้นแล้ว ยังทำให้บรรดาสนธิสัญญาทั้งหลายที่ประเทศสยามได้ตกลงกันไว้กับเยอรมนีและออสเตรียฮังการีต้องเป็นอันสิ้นสุดลงในทันทีนับแต่วันประกาศสงคราม คือ วันที่ 22 กรกฎาคม .. 2460 อีกทั้งรัฐบาลสยามยังได้ยึดทรัพย์สินและเรือสินค้าของเยอรมันที่จอดเทียบท่าอยู่ในดินแดนสยามเข้าเป็นราชพัทยาทั้งสิ้น

แม้กระนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีเยอรมนียังได้กล่าวถึงที่สยามประกาศสงครามกับเยอรมันในที่ประชุมรัฐสภาว่า ไม่มีเหตุผลอันสมควรแต่ประการใดเลยที่ไทยจะประกาศสงคราม แต่หากถูกอังกฤษและฝรั่งเศสบีบบังคับให้ทำ และการกระทำของไทยจะไม่ทำให้เยอรมนีเสียหายแต่ประการใดได้ ในส่วนของประชาชนชาวเยอรมันเองนั้น โดยมากก็เชื่อตามคำของรัฐบาลเยอรมนีว่า เราถูกประเทศสัมพันธมิตรบีบคั้นให้ประกาศสงคราม แต่มีความรู้สึกผิดกับรัฐบาลเยอรมนีที่ไม่โกรธเคืองเราเลย ถือเสียว่าเราเป็นชาติเล็กไม่มีกำลัง เมื่อถูกบีบคั้นและไม่มีใครช่วยแล้ว จะไปต่อสู้อย่างไรได้

นอกจากนั้นเยอรมันยังดูแลนักเรียนไทยที่ตกเป็นชนชาติศัตรูเป็นอย่างดี โดยนำตัวไปควบคุมไว้กับนายทหารสัญญาบัตรที่ตกเป็นเชลยสงครามที่เซลส์สลอฟ (Celle-Schloss) ซึ่งเป็นพระราชวังโบราณของพระเจ้าไกเซอร์ ทั้งยังอนุญาตให้ครูเข้าไปสอนภาษาเยอรมัน และเรียนหนังสือภาษาฝรั่งเศสกับเชลยศึกชาวฝรั่งเศสอีกด้วย

อนึ่ง ผลของการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในครั้งนี้ นอกจากกองทหารบกรถยนต์จะได้ส่งผู้แทนไปร่วมสวนสนามอวดธงไตรรงค์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมแล้ว ยังได้ใช้โอกาสที่เป็นคู่สงครามนี้เจรจายกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติสัมพันธมิตรและชาติอื่นๆ จนสำเร็จสมบูรณ์ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนั้นเมื่อสงครามสงบลงมีเครื่องบินรบของฝรั่งเศสเหลือใช้อยู่เป็นจำนวนมาก ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ นายพันเอก พระเฉลิมอากาศเลือกซื้อเครื่องบินที่ยังคงมีสภาพดีจำนวนหนึ่งส่งกลับเข้ามากรุงเทพฯ จนสามารถตั้งกรมอากาศยานทหารบกขึ้นได้สำเร็จใน .. 2464 และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าของกองบินทหารบกที่ดอนเมือง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม .. 2464

กองทหารบกรถยนต์ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462

นับได้ว่าการที่ตัดสินพระราชหฤทัยละทิ้งความเป็นกลาง และเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ประเทศสยามมีแต่ได้กำไร ดังมีพยานปรากฏในกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวพระราชทานเลี้ยงฉลองวันเสมอภาคของกรุงสยาม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม .. 2469  ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“…เราได้พยายามที่จะตั้งบ้านเมืองของเราให้มั่นคงขึ้นไปเปนเวลาช้านาน ถ้าจะพูดถึงแต่เพียงเมื่อครั้งตั้งเปนกรุงรัตนโกสินทร์แล้วนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลต้นๆ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ 3 พระองค์นั้น ได้ทรงพยายามที่จะรวบรวมบ้านเมืองไทยให้เปนปึกแผ่นต่อสู้กับสัตรูข้างเคียงของเราตามคติแผนโบราณ และก็ได้เปนผลสำเร็จตลอดมา

ครั้นต่อมามีภัยอื่นเปนของใหม่ใกล้เข้ามา คือภัยอันอาจจะเกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์กับพวกฝรั่งหากเรากลับตัวไม่ทัน ภัยอันนั้นประเทศที่ใกล้เคียงของเราไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้ต้องพ่ายแพ้ไป กลับกลายไปเปนเมืองขึ้นของประเทศทางฝ่ายยุโรปต่างๆ โดยรอบข้าง มีเฉภาะแต่ประเทศสยามเราแห่งเดียวที่สามารถรักษาตนมาได้

ทั้งนี้ต้องนับว่าเปนไปด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในอดีตกาล ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนต้นมา ในสมัยนั้นเปนเวลาที่ฝรั่งเข้ามาในเมืองไทยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นสิ่งสำคัญว่า ในการที่เราจะรักษาอิศรภาพของเรานั้น จำจะต้องเรียนให้รู้วิชาของพวกฝรั่งเหล่านั้นแล้วและแก้ไขการปกครองของบ้านเมืองให้ทันเขา นั่นเปนวิธีเดียวที่จะรักษาอิศรภาพไว้ได้ ด้วยเหตุนั้นจึ่งได้ทรงพระราชอุสาหะเล่าเรียนภาษาฝรั่งขึ้น

ต่อมาเมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสของพระองค์ท่านทุกพระองค์ได้ทรงเล่าเรียนภาษาต่างประเทศ พระบรมราโชบายอันนี้มีผลใหญ่หลวงที่สุดอันหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนเปนสิ่งเล็กน้อย แต่นั่นเองทำให้เราทรงฐานะอยู่ได้จนบัดนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ท่านความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชาวยุโรปได้ทวีมากขึ้นตามลำดับ และได้ทรงเปิดโอกาศให้ชาวยุโรปได้เข้ามาทำมาค้าขายในประเทศสยามได้โดยสดวก

ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินพระบรมราโชบายอันนั้นต่อมาด้วยพระปรีชาญาณอันยอดเยี่ยมหาที่เปรียบมิได้ นับว่าเปนเคราะห์ดีที่สุดของประเทศสยาม ที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระปรีชาญาณ และน้ำพระราชหฤทัยอันสุจริตต่อบ้านเมืองเปนอย่างเอก จะหาเทียบมิได้ ข้าพเจ้าไม่จำเปนต้องกล่าวว่า ในรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองได้เจริญขึ้นเพียงใด เพราะย่อมทราบอยู่ด้วยกันแล้ว ครั้นภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงดำเนินราโชบายนั้นต่อมา ได้ทรงพระราชดำริห์แก้ไขและเพิ่มเติมพระราชกำหนดกฎหมายให้เหมาะกับกาลสมัยเปนลำดับมา

ครั้นเมื่อประสบโอกาศเหมาะ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเจรจากับต่างประเทศเพื่อแก้ไขสัญญาใหม่ให้ประเทศสยามได้อิศรภาพบริบูรณ์ในทางศุลกากรและให้เลิกศาลกงสุลทุกประเทศ พระบรมราโชบายนั้นเปนผลสำเร็จอย่างงดงามที่สุด เพราะเราสามารถทำสัญญากับต่างประเทศเหล่านั้นได้ใหม่หมด ด้วยความปรองดองอย่างดีและโดยมิต้องมีสิ่งใดแลกเปลี่ยนเลย

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การเจรจาแก้ไขสัญญานั้นหาได้สำเร็จหมดทุกประเทศในรัชสมัยของพระองค์ไม่แต่ก็ได้จัดทำไปเปนส่วนมากแล้วถึงสัญญาที่ทำต่อมาภายหลังก็ดำเนินไปตามพระบรมราโชบายของพระองค์เท่านั้นเองแต่หากเสด็จสวรรคตเสียก่อนมิได้ลงพระบรมนามาภิธัยทุกฉบับผลสำเร็จที่สุดจึ่งตกมาในรัชสมัยของข้าพเจ้า[9]


เชิงอรรถ :

[1] ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

[2] ม.. ปิ่น มาลากุล. “ก่อนประกาศสงคราม,” ใน มานวสาร. ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 (กรกฎาคม 2522), . 9.

[3] ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลเอก พระยาเทพหัสดิน

[4] ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ

[5] ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพันโท พระอาสาสงคราม

[6] ประวัติกองทหารอาสา ซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเล พระพุทธศักราช 2460-61-62, . 432-434.

[7] ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน

[8] ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุท

[9] “พระราชดำรัสในการพระราชทานเลี้ยงฉลองวันเสมอภาคของกรุงสยาม วันที่ 30 มีนาคม .. 2469,” ราชกิจจานุเบกษา 44 (10 เมษายน 2470), . 86-91.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2562