กษัตริย์อังกฤษทรงชื่นชมครอบครัวส่งลูก 8 คนร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1..ใครรอดบ้าง?

8 พี่น้องตระกูลเอฟเวอร์ตันที่ร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1 (ภาพจาก LINDA WITHEY/BBC)

ครอบครัว “เอฟเวอร์ตัน” เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่เห็นลูกชายในตระกูลไปร่วมรบใน สงครามโลกครั้งที่ 1 พวกเขาไม่ได้ส่งไป 3-4 คนเท่านั้น แต่เป็นลูกชายทั้ง 8 คนที่ไปร่วมสงคราม และพวกเขาสูญเสียลูกชายไปหนึ่งรายจากสงครามครั้งใหญ่อีกหนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

โธมัส และเอลิซ่า เอฟเวอร์ตัน คู่สามีภรรยาที่ส่งลูกชายทั้ง 8 รายที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 43 ปีเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง แม้แต่คณะองคมนตรียังส่งจดหมายในฐานะตัวแทนของพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรเมื่อ ค.ศ. 1915 แสดงความขอบคุณลูกชายของคู่สามีภรรยารายนี้ในการรับใช้ชาติในสงคราม

จดหมายดังกล่าวนี้เป็นมรดกตกทอดมาสู่รุ่นลูกหลานของครอบครัวเอฟเวอร์ตันที่ปัจจุบันอาศัยในย่านเบอร์มิงแฮม ของอังกฤษ ปัจจุบันตระกูลสืบทอดมาถึงรุ่นเหลนคือนางริต้า ซึ่งแต่งงานกับนายจอห์น โจนส์ ในวัย 76 ปี

สำหรับรุ่นพ่อแม่ของพี่น้องทหารอังกฤษทั้ง 8 รายคือโธมัส จอห์น เอฟเวอร์ตัน เกิดเมื่อ ค.ศ. 1851 แต่งงานกับเอลิซ่า และมีบุตร 8 คน บุตรีอีก 2 คน ทั้งคู่ย้ายจากวอร์เชสเตอร์ไชร์ มาเบอร์มิงแฮม เพื่อหางานทำ แต่การสมัครงานในสถานการณ์สมัยนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก พวกเขาเดือดร้อนมาก ใน ค.ศ. 1881 โธมัส ได้รับงานจากสภาเทศบาลเมืองเบอร์มิงแฮม

เหตุการณ์พลิกผันสำหรับครอบครัวจำนวนมากในยุโรปคือช่วง ค.ศ. 1914 อังกฤษประเทศสงครามกับเยอรมนี ประเทศชาติเรียกร้องกำลังคนอังกฤษให้ร่วมเป็นกำลังพล และลูกชายทั้ง 8 รายของครอบครัวที่ขณะนั้นมีอายุตั้งแต่ 20 ถึง 43 ปียินดีเป็นส่วนหนึ่งในการรับใช้ชาติ อัลเฟรด ลูกชายคนโต และฟรานซิส น้องชาย เป็น 2 รายที่แต่งงานแล้วและต้องหันหลังให้ครอบครัวเพื่อไปร่วมรบ โดยที่ทั้ง 8 รายไปอยู่ต่างหน่วยกันและล้วนมีส่วนร่วมรบในแนวหน้า

ฟรานซิส ยังส่งไปรษณียบัตรที่มีรูปผีเสื้อถักจากผ้าไหมมาจากฝรั่งเศสมาให้ภรรยาที่เขาแต่งงานด้วยไม่กี่เดือนก่อนหน้าสงครามจะเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1914  แต่เมื่อเวลาผ่านไปอักษรข้อความบนไปรษณียบัตรจางหายไปสภาพ

หลังจากร่วมรบไปได้ 13 เดือน โธมัส วิลเลียม ลูกชายคนรองเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1915 ในการรบที่ลูส ในฝรั่งเศส ขณะอายุได้ 38 ปี เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 เฟรเดอริค ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมภรรยาที่เพิ่งสูญเสียลูกสาววัย 21 เดือนเป็นเวลา 14 วัน

หลังสงครามจบลงทั้ง 7 พี่น้องเดินทางกลับบ้าน ขณะที่ฟรานซิส เฟรเดอริค ไม่เคยเอ่ยถึงวีรกรรมในสงคราม ขณะที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คู่หมั้นของลูกสาวของเขาเดินทางไปร่วมรบในสงครามด้วยและเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย

จอห์น โจนส์ เล่าว่า บรรพบุรุษของภรรยาที่เห็นลูกชายทั้ง 8 รายร่วมรบในสงครามโดยที่ทั้ง 8 รายเป็นอาสาสมัครด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องที่หายากมาก


อ้างอิง:

Rimmer, Monica. The eight brothers who fought in World War One. BBC. 11 Nov 2018. <https://www.bbc.com/news/uk-england-birmingham-46044001>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2561