จิตร ภูมิศักดิ์ วิพากษ์ “ดนตรีไทย-เพลงไทยเดิม” เหตุไม่พัฒนา จึงสาบสูญ

ดนตรีไทย โขน รำ
ภาพประกอบเนื้อหา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2542)

ดนตรีไทย และ เพลงไทยเดิม อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้ดนตรีไทยและเพลงไทยเดิมค่อยๆ หายจากการรับรู้ของผู้คน ประเด็นนี้ไม่เพียงได้รับการพูดถึงในยุคปัจจุบัน แต่มีการวิพากษ์ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 หรือ 70 กว่าปีมาแล้ว ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาก็คือ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนคนสำคัญของไทย ที่ใช้นามปากกา “มนัส นรากร” เขียนบทความเกี่ยวกับ “ดนตรีไทย” ไว้ชุดหนึ่งตั้งแต่เมื่อราวปี 2497 ในชื่อ “หลุมฝังศพของดนตรีไทยอยู่ที่อะไร? และที่ไหน?”

1

เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ สถานีวิทยุแห่งหนึ่งของไทย คือ สถานีวิทยุจเรทหารสื่อสาร ได้ซาวเสียงจากผู้ฟังว่านิยมฟังเพลงสากล, ไทยสากล หรือไทยเดิม ผลปรากฏว่า “แฟน” เรียกร้องเพลงสากลเป็นลำดับที่หนึ่ง ส่วนเพลงไทยเดิมนั้น ได้ยินว่ามีเพียงเปอร์เซ็นต์เดียวเท่านั้น

ท่านพวกผู้เฒ่าผู้แก่ก็พากันบ่นว่าเพลงไทยเดิมอันไพเราะเพราะพริ้ง และเยือกเย็น นับวันจะสูญสิ้นไปทุกที อีกหน่อยก็ไม่มีใครรู้จักเพลงเขมรไล่ควาย, ไส้เดือนฉกตวัก, คุดทะราดเหยียบกรวด หรือจระเข้หางยาว กันอีกแล้ว แล้วท่านก็ถอนใจเฮือกใหญ่

ก็ด้วยเหตุไฉนเล่า เพลงไทยเดิม จึงกำลังจะสาบสูญ? เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่นี้ไม่รักของเก่าของไทยหรือ? ไม่รักวัฒนธรรมของชาติไทยอันเป็นมรดกของบรรพบุรุษหรือ? ยังก่อน ข้าพเจ้ายังไม่พึงปรารถนาจะโทษหนุ่มสาวรุ่นนี้ ซึ่งมีตัวข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย

สาเหตุที่เพลงไทยกำลังสูญและจะต้องสูญอย่างไม่มีปัญหาในกาลต่อไปเหมือนชามเบญจรงค์นั้น ไม่ได้อยู่ที่พวกเด็กรุ่นนี้ ไม่ใช่ความผิดของเราเลยจริง ๆ หากอยู่ที่ “ลักษณะอันไม่ยอมเคลื่อนไหว” ของเพลงไทยเดิมเองต่างหาก ขอให้เราวิจารณ์กันอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาที่สุด

ประการแรกที่จะชี้ให้เห็นก็คือเครื่องมือ เครื่องไม้ เครื่องมือในการบรรเลงเพลงไทยเดิมของเรามีลักษณะที่ง่ายต่อการสาบสูญอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เมื่อสมัยโบราณเป็นมาอย่างไร สมัยนี้ก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เราไม่คิดที่จะปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นหรือให้พิสดารออกไป

ซอด้วงหรือซออู้เคยเป็นอยู่อย่างไร เราก็คงปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนั้น เราไม่นิยมใช้ความคิดที่นอกแนวทางหรือความคิดริเริ่ม เพื่อปรับปรุงให้สุ่มเสียงของมันให้มากขึ้น ดังกังวานนุ่มนวลกว่าเดิมซึ่งดังแจ๊ดแสบแก้วหูหรือดังอ้อแอ้อย่างอืดอาด

ที่เป็นทั้งนี้ก็เนื่องด้วยเรามีประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง คือศิษย์จะต้องไม่นอกครู ถ้าศิษย์เกิดดีกว่าครูขึ้นมา เราก็จะเหมาว่าเป็น “ลูกศิษย์คิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน” ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “จินดามณี” แบบเรียนสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งยังใช้มาจนถึงสมัยกรุงแตก! และเชื่อว่าถ้ากรุงไม่แตกเราก็คงใช้กันต่อมาอีกนาน

ด้วยเหตุนี้เองที่บังคับให้ศิลปินของเราไม่พะวงถึงการปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เราจะพะวงแต่การประดับประดาเครื่องดนตรีให้งดงามถึงขนาดประกวดประขันกัน เช่นซอด้วงจะต้องทำด้วยงาทั้งคัน ซออู้ก็ต้องใช้คันงา กะโหลกต้องแกะสลักอย่างวิจิตรพิสดาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็ดีอยู่ แต่มันก็ไม่ทำให้คุณภาพทางดนตรีของเครื่องดนตรีเหล่านั้นดีขึ้นเลย

ยิ่งเป็นซอสามสายด้วยแล้ว คันซอจะต้องทำด้วยทองคำหรือนากหรือเงิน บางครั้งก็มีลวดลายเป็นถม กะโหลกซอก็ต้องเสาะหากะลาที่มีนมสามนม ซึ่งหายากเย็นเต็มประดา หนังที่ขึงหน้าซอต้องถ่วงด้วยเพชรหรือทับทิมเม็ดเขื่อง ๆ ยิ่งนับวันก็ยิ่งทำให้ซอสามสายเลือนไปจากความทรงจำของประชาชน ทั้งนี้เพราะผู้เล่นถ้าหาซอวิเศษอย่างนี้ไม่ได้ ก็ไม่กล้านำเอาซอธรรมดาออกมาแสดงฝีมือ

นั่นแหละ ถ้าจะว่าไปเครื่องดนตรีของฝรั่งบางอย่างก็วิจิตรพิสดาร ราคานับหมื่นเช่นปิอาโน แต่ทว่าคุณลักษณะของมันคุ้มค่า เสียงของปิอาโนมีพอเพียงจนแทบจะเหลือเฟือ มีทั้งเสียงหลัก เสียงผสาน และเสียงธรรมชาติ ตลอดจนแสดงอารมณ์ได้ใกล้เคียง ส่วนซอสามสายคุณลักษณะเทียบกันกับปิอาโนไม่ได้เลย เราจะมีเสียงผสานได้แต่เพียงเสียงสองเสียง ซึ่งก็ดังแพร่ด ๆ พิกล

ถ้าเราเอาใจใส่ในประสิทธิภาพซอสามสายบ้าง สักครึ่งหนึ่งของความเอาใจใส่ในรูปร่างอันงดงามของมัน บางทีซอสามสายอาจจะยังอยู่ในความนิยมของประชาชน โดยที่มันเพิ่มสายขึ้น เป็นสี่หรือหก มีเสียงที่นุ่มนวลกว่านี้ เล่นได้ง่ายกว่าที่เก้งก้างเต็มประดา กล่าวคือต้องตั้งกับพื้น พุ่งออกไปห่างตัวและค่อย ๆ ประคองสีอย่างทะนุถนอมอย่างเช่นเดี๋ยวนี้

2

ซอสามสายนั้นที่จริงเคยมีวิวัฒนาการมาเหมือนกัน เดิมทีเดียวเป็นของชวา มีเพียงสองสาย มีเสียงเพียง 5 เสียง เท่านั้น แต่เขมรเมื่อพันปีก่อนรับเข้ามาดัดแปลงแก้ไขขึ้นเป็นสามสาย มีเสียงครบ 7 เสียง ครั้นมาถึงเมืองไทยซอสามสายก็เลยย่ำเท้าอยู่ที่เดิม เมื่อมันย่ำเท้าแต่สภาพชีวิตของผู้เล่นไม่ย่ำเท้า ตรงข้ามกลับพัฒนารุดไปข้างหน้า ดังนี้มันก็ต้องกลายเป็นของไม่เหมาะ และต้องสาบสูญไปในที่สุด ซึ่งเป็นของธรรมดาเหลือเกิน

เครื่องดนตรีของไทยที่สูญไปแล้วก็มีอยู่ให้เห็นเป็นตัวอย่างหลายสิ่ง เช่น กระจับปี่ เครื่องดนตรีชนิดนี้เดิมเล่นอยู่ในวงเครื่องสาย เล่นก็ยาก เสียงก็ค่อย เล่นเดี่ยวก็ไม่ค่อยเพราะ ได้แต่ใช้ผสมไปกับเครื่องอื่น ๆ แต่เราก็ทนเล่นไปโดยไม่คิดจะปรับปรุง

ครั้นมาราวรัชกาลที่ 3 เราได้จะเข้มาจากมอญ เสียงจะเข้ดังกว่า เพราะกว่า เวลาเล่นร่วมกันในวง กระจับปี่จะถูกจะเข้กลบหมด ในที่สุดกระจับปี่ก็ถูกทิ้งและลืมกันสนิทจนสูญไปในปัจจุบัน

ถ้าเราจะหันไปดูดนตรีของฝรั่ง ทุกอย่างของเขาย่อมมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ บางชนิดก็เริ่มมาจากเครื่องดนตรีดั้งเดิม (Primitive) อย่างเดียวกับเรา เช่นพิณชนิดหนึ่งที่ทำด้วยกะโหลกผลไม้เราก็เคยมี เรียกว่าพิณน้ำเต้า คือทำจากกะโหลกน้ำเต้า

พิณของดั้งเดิมดึกดำบรรพ์นี้มีสายเดียวเท่านั้น แต่ทว่ามีครบครันทุกเสียง และมีหางเสียง (Harmony) ตามหลักดนตรีสากลอีกด้วย ครั้นถึงบัดนี้พิณน้ำเต้าสายเดียวของเราก็คงมีรูปอย่างเดิม และสูญไปแล้วจากภาคกลาง ยังเหลือแต่ตามชนบทบางแห่ง ส่วนของฝรั่งเขาพัฒนามาเป็นแมนโดลิน, แบนโจ, กีตาร์ ที่เรากำลังคลั่งกันอยู่เดี๋ยวนี้

การรักษาไว้ซึ่งดนตรีไทยนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเราจะทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามีทางเดียวคือปล่อยให้มันสูญไปเฉย ๆ แต่ถ้าจะตกลงใจรักษาไว้เราก็ต้องยอมให้มันพัฒนา

ชีวิตของเด็กตามสภาวะที่สังคมกำลังแปรเปลี่ยนไปในบัดนี้ มันมีลักษณะผาดโผน มีชีวิตชีวาผิดกับสมัยก่อน เสียงของดนตรีที่เคยทำให้เด็กคุ้นเคยกับการพับเพียบ, คลานศอก, เก็บตัว, หัวอ่อน, ว่าง่าย, คิดเหมือนผู้ใหญ่สอนให้คิด นั้นมันไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมเสียแล้วกับเด็กสมัยนี้ เราจำต้องยอมให้มันมีการพัฒนาไปตามเงื่อนไขของความผันแปรแห่งสังคม

เครื่องดนตรีบางอย่างของเรา เช่นจะเข้ วิธีเล่นของเราทารุณมากไป ผู้เล่นจะต้องมัดไม้ดีดเข้ากับนิ้วชี้ข้างขวาแน่นเปรียะ จนมือเขียวและปวด ถ้าไม่อดทนจริง ๆ ก็เล่นไม่ได้ และเมื่อเล่นแล้วมือก็เสีย นิ้วแตก นี่ก็เป็นลักษณาการของการสงวนศิลปะแบบหนึ่งของคนโบราณ ศิลปะทุกอย่างตั้งแต่การไสยศาสตร์เหลวไหลมาจนถึงดุริยางคศิลป์ “ครู” มักจะวางกับวางอุปสรรคกั้นไว้อย่างแน่นหนาเสมอ มิให้ศิษย์ได้ไปง่าย ๆ

จะเข้ของเรานั้นเสียงเพราะจับใจ ถ้าเราได้ปรับปรุงกันให้เล่นได้ง่าย รูปร่างเหมาะอย่างกีตาร์และเสียงใสกังวานขึ้น แทนจะเอาเด่นทางเสียงแตกแต่อย่างเดียว และวิธีเล่นพอที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นยกขึ้นดีดแนบกับตัวได้ เฮฮาไปกับหมู่เพื่อนฝูงได้ ไม่ต้องนั่งพับเพียบอกแอ่นก้มหน้าก้มตาดีดจะเข้ที่วางหนักอึ้งอยู่กับพื้นอย่างเดี๋ยวนี้ บางทีจะเข้อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปอีกนาน

ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว เวลาดูนักเล่นดนตรีไทยบรรเลงเพลง จะหามุมที่สง่าไม่ค่อยได้ ผิดกับวงดนตรีสากลตรงกันข้าม

จริงอยู่เป็นธรรมเนียมไทยที่จะต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อย แต่เดี๋ยวนี้ชีวิตจริงของเราไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เราเลิกนุ่งโจงกระเบนอันดูต้วมเตี้ยมมานุ่งกางเกงสากลอันสง่าผ่าเผย ท่าทางของเราก็อกผายไหล่ผึ่งแบบสากลโลก แล้วลักษณะนักดนตรีที่จะต้องถอยหลังไปนั่งซึมกะทือเหมือนเมื่อครั้งยังนุ่งผ้าโจงกระเบน มันจะเป็นการเหมาะสมชวนใจเด็กหนุ่มสาวสมัยนี้ได้อย่างไร?

การที่จะยอมให้เครื่องดนตรีของไทยพัฒนานั้น บางคนที่เป็นคนหัวโบราณสักหน่อยอาจจะเสียดายของเก่า ถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็จะสูญเปล่า เราไม่ควรมัวเสียดาย ควรรีบหาทางออกให้มันเสียแต่บัดนี้ และผู้ที่จะหาทางออกให้มันได้ก็คือศิลปินเองไม่ใช่ใครอื่น เดี๋ยวนี้ยุโรปและทั้งโลกกำลังหาทางออกให้แก่ modern art แล้วศิลปินดนตรีไทยเดิมเล่าจะไม่ยอมหาทางออกให้ดนตรีไทยเดิมของเราบ้างหรือ?

หมายเหตุ : มีการปรับย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพื่อความสะดวกในการอ่าน โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมออนไลน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2567