“หลวงประดิษฐไพเราะ” ครูเพลงไทย ที่กษัตริย์กัมพูชาขอยืมตัวจาก ร.7 ไปสอนดนตรีให้ราชสำนัก

หลวงประดิษฐไพเราะ และภรรยา (โชติ ศิลปบรรเลง) กับบุตรธิดา ขวามือ-ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง บุตรชายที่ติดตามไปกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2473 (ภาพจาก https://archives-prasidh.silapabanleng.org)

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) คือครูเพลงไทยผู้มีฝีมือหาตัวจับยาก กระทั่ง พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ มณีวงศ์ (เอกสารกัมพูชาเรียก พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์) กษัตริย์กัมพูชา ทรงขอยืมตัว หลวงประดิษฐไพเราะ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จฯ ประเทศกัมพูชา ไปช่วยสอนดนตรีในราชสำนัก ซึ่งรัชกาลที่ 7 ก็มีพระบรมราชานุญาตให้ยืมตัวเป็นเวลา 1 เดือน

รายละเอียดของเรื่องนี้ อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง บุตรชายของหลวงประดิษฐไพเราะ ที่ร่วมเดินทางไปด้วย ได้บันทึกประสบการณ์เป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า Thai Music at the Court of Cambodia : a personal souvenir of Luang Pradit Phairoh’s visit in 1930 เพื่อตีพิมพ์ในวารสารของสยามสมาคม เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2513 ต่อมา มธุรส วิสุทธกุล ถอดความเป็นภาษาไทย สรุปความบางส่วนได้ว่า

Advertisement

เมื่อรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จประพาสอินโดจีน (ประเทศเวียดนามและกัมพูชา) ใน พ.ศ. 2473 รัชกาลที่ 7 ทรงเล็งเห็นว่า ควรนำนักดนตรีไทยในราชสำนักร่วมขบวนเสด็จด้วย จึงมีพระราชโทรเลขแจ้งมายังราชสำนักให้ส่งนักดนตรีฝีมือเอกจำนวนหนึ่งตามไปสมทบขบวนเสด็จ

ขณะนั้นหลวงประดิษฐไพเราะรับราชการเป็นผู้ควบคุมวงมโหรีหลวงในวังหลวง และมีฝีมือเป็นที่พอพระทัย จนโปรดให้เป็นครูผู้ถวายการสอนดนตรีและการประพันธ์เพลงไทย แก่พระองค์และสมเด็จพระราชินี ได้รับเลือกให้เป็นผู้ตามเสด็จ

การตามเสด็จครั้งนั้น หลวงประดิษฐไพเราะสั่งให้ ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง-บุตรชาย เดินทางไปด้วยในฐานะผู้ติดตามและล่ามส่วนตัว เนื่องจากมีความรู้ภาษาอังกฤษ กำหนดออกเดินทางเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2473 โดยรถไฟไปอรัญประเทศ จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปอีกเกือบ 300 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางตลอดคืน ก่อนจะถึงกรุงพนมเปญในเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น (3 พฤษภาคม 2473) และเข้าพักที่โรงแรม Palais Royale พนมเปญ

รุ่งขึ้นอีกวัน (4 พฤษภาคม 2473) รัชกาลที่ 7 มีรับสั่งให้หลวงประดิษฐไพเราะตามไปสมทบกับขบวนเสด็จฯ ที่นครวัดให้ทันเวลาเย็นพรุ่งนี้ (5 พฤษภาคม 2473) เพราะมีพระราชประสงค์ให้แสดงฝีมืออวดขุนนางชาวเขมรและฝรั่งเศสชมในงานเลี้ยงที่ทางการเขมรจะจัดถวาย รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำรัสให้หลวงประดิษฐไพเราะแสดงฝีมือการเดี่ยวระนาดเอกให้แขกที่มาในงานฟัง

ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ตามเสด็จ รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชกระแสให้หลวงประดิษฐไพเราะแสดงการเดี่ยวระนาดเอกถวายพระบาทสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ มณีวงศ์ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อเป็นการตอบแทนพระราชไมตรี ซึ่งหลังจากฟังการเดี่ยวระนาดเอกแล้ว พระบาทสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ มณีวงศ์ ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงกราบบังคมทูลขอยืมตัวหลวงประดิษฐไพเราะไว้สอนนักดนตรีในราชสำนักกัมพูชา

รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “ถ้าพระองค์ต้องประสงค์ที่จะได้หลวงประดิษฐไพเราะไว้ที่นี่เพื่อสอนดนตรีก็มีความยินดีที่จะให้ยืมตัวไว้สักหนึ่งเดือน”

เวลา 1 เดือน ที่อยู่ในกัมพูชานั้น กิจวัตรประจำวันของหลวงประดิษฐไพเราะ คือการฝึกซ้อมนักดนตรีหลวงและครูดนตรีทุกวันตั้งแต่เช้าจนบ่าย บางวันพระบาทสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ มณีวงศ์ มีรับสั่งให้เฝ้าเพื่อสนทนาเกี่ยวกับดนตรี หรือพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ นอกจากนี้บุคคลสำคัญของกัมพูชาที่สนใจเรื่องดนตรีก็มาพบปะบ้าง หลวงประดิษฐไพเราะจึงได้แสดงฝีมือการเดี่ยวระนาดเอก, ปี่ใน, ซอด้วง ตามแต่โอกาสอำนวย

ขณะเดียวกันหลวงประดิษฐไพเราะก็ศึกษาแนวทางการแต่งเพลงของเขมร และจดจำเพลงเขมรไว้หลายเพลง ซึ่งบางเพลงท่านได้นำมาปรับปรุงเป็นเพลงไทย เช่น เพลงขะแมร์ธม, เพลงนกเขาขะแมร์ เป็นต้น เมื่อครบกำหนด 1 เดือน หลวงประดิษฐไพเราะก็ไปกราบถวายบังคมลากลับประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก อานันท์ นาคคง, อัษฎาวุธ สาคริก. หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566