130 กว่าปีก่อน ปี่พาทย์ไทยไปลอนดอน เล่นบนเวทีระดับอินเตอร์

The Royal Albert Hall of Arts and Science ในกรุงลอนดอน สถานที่ที่คณะนักดนตรีไทยเปิดการแสดง (ภาพจากวิกีพีเดีย)

ช่วงปลาย พ.ศ. 2427 ต่อเนื่อง พ.ศ. 2428 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลอังกฤษจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าและดนตรีนานาชาติขึ้นที่กรุงลอนดอน ได้เชิญประเทศสยามให้ส่งคณะคณะดนตรีไปร่วมแสดงในงานดังกล่าว ซึ่งสยามเองก็ตอบรับคำเชิญ

ต้นความคิดเรื่องการส่งคณะดนตรีสยามไปร่วมงานนั้นเป็นของสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะที่นักดนตรีที่จะไปแสดงนั้นส่วนใหญ่เป็นคนในสังกัดของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช (วังบูรพา)

พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)

นักดนตรีที่ได้รับการคัดเลือกให้ออกไปราชการครั้งนี้มี 19 คน ได้แก่ นายตาด, จางวางทองดี (เข้าใจว่าจะเป็นครูทองดี ชูสัตย์), นายยิ้ม, นายเปีย, นายชุ่ม, นายสิน, นายสาย, นายนวล, นายเนตร, นายต่อม, นายฉ่าง, นายคร้าม (บุญญศาสตร์), นายแปลก (ประสานศัพท์ ภายหลังได้เป็นพระยาประสานดุริยศัพท์), นายเหม, นายสังจีน (เสียชีวิตหลังจากไปถึงลอนดอนได้ไม่นาน), นายเปลี่ยน,นายอ๋อย, นายเผื่อน และนายปลง

โชคดีนายคร้าม ซึ่งทำหน้าที่สีซอสามสายในคณะ ได้บันทึกข้อความในการไปราชการครั้งนี้ไว้เป็นตอนๆ ทำนองไดอะรี่ ซึ่งเหม เวชกร ได้นำออกมาพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือชื่อว่า “คนไทยในราชสำนักพระนางวิคตอเรีย” เมื่อ พ.ศ. 2478

ปลายปี พ.ศ.2427 คณะนักดนตรีเดินทางออกจากสยามโดยไปขึ้นเรือโดยสารชื่อ เหกคูบา ที่ท่าน้ำไปรณีย์กรุงเทพฯ ออกจากสยามเรือก็แวะสิงคโปร์, ปีนัง และเกาะลังกา ตามลำดับ แล้วก็เข้าคลองสุเอซ ใช้ประมาณ 2 เดือน จึงขึ้นบกที่เมืองปอร์ตแลนด์ แล้วต่อรถไฟไปยังลอนดอนอีกทอดหนึ่ง

กรมหมื่นนเรศวร์วรฤทธิ์ ราชทูตไทยประจำอังกฤษ

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2428 คณะนักดนตรีได้เข้าเฝ้า กรมหมื่นนเรศวร์วรฤทธิ์ (ต้นสกุลกฤดากร) ราชทูตไทยประจำอังกฤษ ทรงตรัสถามทุกข์สุขระหว่างเดินทาง และทรงรับสั่งให้คนไปเรียกช่างตัดเสื้อกางเกง, ช่างหมวก, ช่างรองเท้า ฯลฯ ให้มาวัดขนาดของนักดนตรีแต่ละคน และให้เร่งรีบหาเสื้อเชิ๊ตกาวน์, เสื้อสักหลาด, กางเกงยืด, ชุดอิฟนิ่ง, ยูนิฟอร์ม, โอเวอร์โค้ต,รองเท้า ฯลฯ โดยนักดนตรีแต่ละคนจะได้รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ 1 ปอนด์ และทรงรับสั่งให้คนไทยที่อยู่ในลอนดอนหมั่นมาพาพวกนักดนตรีไปเที่ยวเป็นกลุ่มๆ เช่น ไปชมพิพิธภัณฑ์มาดาม ทุสโซ เป็นต้น

แล้วก็วันจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าและดนตรีนานาชาติ สถานที่จัดงานคือ The Royal Albert Hall of Arts and Science ในกรุงลอนดอน คณะนักดนตรีไทยเปิดการแสดงในวันที่ 8 มิถุยายน พ.ศ. 2428 มีผู้ชมแน่นขนัดได้รับเสียงปรบมือกึกก้องด้วยความพอใจ คณะนักดนตรีไทยแสดงอยู่ที่อัลเบิรต์ ฮอลล์ประมาณ 3 เดือน โดยแต่ละสัปดาห์จะมีการแสดงอยู่ประมาณ 3-4 ครั้ง ตามแต่ทางการจะจัดโปรแกรมให้ ค่าเข้าชมประมาณ 1-2 ชิลลิง ส่วนวันว่างก็จะไปรับแสดงตามแต่มีผู้เชิญหรือว่าจ้างมา

พระนางวิคตอเรีย พระราชินีแห่งอังกฤษ (ภาพจากวิกิพีเดีย)

โดยเจ้าภาพรายสำคัญคือ พระนางวิคตอเรียระราชินีแห่งอังกฤษ ทรงรับสั่งให้คณะนักดนตรีไทยมาแสดงต่อหน้าพระพักตร์ ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ณ พระราชวังชายทะเลแห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่าพระราชวังแก้ว คณะนักดนตรีไทยเล่นเพลง ก๊อต เซฟควีนเป็นเพลงแรกแล้วจึงเล่นเพลงอื่นตามโปรแกรม หลังจบการแสดงพระองค์รับสั่งขอบใจและเสด็จมาชมเครื่องดนตรี แล้วรับสั่งให้เป่าแคน… เมื่อส่งเสด็จเรียบร้อย พนักงานเอาบุหรี่ซิกาแรตมาให้แจ้งว่า พระราชทานเป็นรางวัลแก่นักดนตรีทุกคน นอกจากนี้ยังพระราชทานของที่ระลึก คือ เหรียญรูปพระนางวิคตอเรีย, พระฉายาลักษณ์ลายเซ็นพระหัตถ์ และพระฉายาลักษณ์ปริ๊นส์อัลเบิรต์ ฯลฯ

การแสดงของคณะดนตรีไทยสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2428 นักดนตรีก็ใช้เวลาว่างเที่ยวเตร่ตามอัธยาศัย ต่อมาคณะวิทยกลของ ดร. ดีน ได้ทำสัญญาว่าจ้าง ให้ร่วมตระเวนแสดงดนตรีไทยสลับกับการแสดงวิทยาลกลในการเดินทางไปสก็อตแลนด์เป็นเวลา 1 เดือน เมืองที่ไปแสดงคือ เมืองเอดินเบรอะ, กลาสโกว์, ยอร์ค, ลิตซี่, เชฟฟิลด์, เดอร์บี้, สวินดอน ฯลฯ

คณะดนตรีกลับถึงลอนดอนเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2428 ก็เตรียมตัวเดินทางกลับประเทศสยามในวันรุ่งขึ้น และกลับมาถึงเมืองไทยประมาณปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2429


ข้อมูลจาก

วิเชียร กุลตัณฑ์.“เมื่อประเทศสยามส่งคณะปี่พาทย์ไปแสดงที่ประเทศอังกฤษ ในรัชสมัยพระนางวิคตอเรีย”, ศิลปวัฒนรรม พฤษภาคม 2526


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ.2562