หลวงประดิษฐไพเราะแต่งเพลง “แสนคำนึง” ระบายความรู้สึกต่อนโยบายชาตินิยมของ จอมพล ป.

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

ไม่เชื่อผู้นำ-เกิดแสนคำนึง เพลงสะท้อนปฏิกิริยานโยบายวัฒนธรรม หลังสงครามโลก

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (6 สิงหาคม 2424 – 8 มีนาคม 2497) นอกจากจะเป็นนักดนตรีไทยฝีมือเยี่ยม เป็นดุริยกวีที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับกันมากมายเกินจะกล่าว และเป็นครูดนตรีไทยที่อุทิศชีวิตจิตใจให้กับการพัฒนาดนตรีไทยอย่างเต็มที่มาโดยตลอดเวลาที่ท่านมีลมหายใจอยู่แล้ว

Advertisement

ในความเป็นสามัญชนที่มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ความรู้สึก และมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบด้าน ก็ได้รับการบันทึกถึงในตำนานเพลงของท่านตลอดมา

มีเพลงเถาเพลงหนึ่ง ที่นิยมร้องเล่นกันในกาลต่อมาแม้หลังจากที่ท่านถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ชื่อว่า แสนคำนึง

ในยุคที่กระแสการเมือง “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” และ “มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ” อบอวลอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป การออกนโยบายปฏิวัติทางวัฒนธรรมหลายอย่างจากผู้นำประเทศในขณะนั้น ได้รับการตอบสนองจากบุคคลรอบด้าน มีการขานรับด้วยพฤติกรรมเอาอกเอาใจกันมากมาย ทั้งคำขวัญแบบเรียน นิยาย ละครและบทเพลง และในขณะเดียวกันก็เป็นผลสืบเนื่องไปยังปฏิกิริยา “ไม่เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย (กว่า)” จากหลายคนที่รักชาติบ้านเมืองไม่แพ้กัน

แสนคำนึง เป็นทั้งบทเพลงไพเราะงดงาม มีการเรียบเรียงด้วยศิลปะการประพันธ์เพลงที่สละสลวย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผลผลิตของแนวคิด “ไม่เชื่อผู้นำ” ที่ครูหลวงประดิษฐไพเราะได้สะท้อนออกมา

แม้เลยพ้นช่วงเวลานั้นไปนานแล้ว แต่เพลงแสนคำนึงก็ยังคงอยู่อย่างสง่าผ่าเผยในใจของคน และเป็นอุทาหรณ์ให้ใครก็ตามที่จะมาเป็นใหญ่เป็นโตของบ้านเมืองไทยฉุกคิดว่า อำนาจใด ๆ ที่มีอยู่แต่ไม่ใช้ในทางที่ถูกทำนองคลองธรรม ก็ย่อมเกิดปรากฏการณ์ที่สะท้อนกลับจากผู้รักความถูกต้อง เป็นบทเรียนให้ได้คิดถึงเหมือนดังชื่อเพลงนี้เอง

เบื้องหลังของเพลงแสนคำนึง ได้รับการบอกเล่าโดยทายาทของท่านเองคือ อาจารย์บรรเลง สาคริก หรือนางมหาเทพกษัตรสมุท บันทึกความหลังไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ดังนี้

สงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไป หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตรคือญี่ปุ่นแล้ว ท่านผู้นำของประเทศไทยในสมัยนั้น ก็เร่งปรับปรุงสภาพของประชาชนไทยให้เทียมทันมิตรประเทศ อาทิ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชายต้องแต่งกายสากลนิยม หญิงต้องนุ่งกระโปรงสวมหมวกทุกคน จึงจะเป็นสัญลักษณ์ว่า ไทยเป็นชาติมหาอำนาจเทียมทันมิตรประเทศเหล่านั้นเหมือนกัน

ต่อมา ท่านยังได้พิจารณาปรับปรุงอะไร ๆ อีกหลายอย่าง เช่น จัดให้ข้าราชการเดินทางไกล เพื่อแสดงว่าคนไทยเราแข็งแรงเข้มแข็ง ต้องมีการร่วมสังสันทน์จัดงานรื่นเริงบ่อย ๆ เพื่อแสดงว่าไทยเรา กล้าหาญร่าเริง ไม่ขลาดกลัวภัยสงคราม ทุก ๆ บ่ายวันพุธให้ข้าราชการหยุดทำงาน แต่ต้องมาร่วมชุมนุมกันเล่นกีฬา หรือรื่นเริงเล่นรำวงหรือเต้นรำ ถ้าใครไม่ร่วมมือ ไม่เล่นรำวง ไม่ขวนขวายที่จะหัดวงก็จะเป็นการไม่เหมาะสม

เท่านั้นยังไม่พอ ท่านหันมาพิจารณาเรื่องศิลปะ เห็นว่าการดนตรีของไทยนั้นคร่ำครึ ล้าสมัย ป่าเถื่อน เป็นที่น่าอับอายแก่มวลมหามิตร ท่านก็เลยออกคำสั่งเป็นทางราชการห้ามเล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิดทั่วประเทศ จะเล่นได้ก็แต่ดนตรีสากลเท่านั้น และท่านยังมีความคิดเห็นว่า เพลงไทยที่มีชื่อนำด้วยคำว่า ลาว, แขก, พม่า ฯลฯ นั้นก็ไม่ถูกวัฒนธรรมไทย เกรงว่าจะเป็นการไปลอกเลียนเอาทำนองเพลงของชาติเหล่านั้นมา จึงให้ตัดชื่อนำหน้าด้วยคำเหล่านั้นออกให้หมด

ในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรตามใจท่านผู้นำอย่างมากมาย

การที่ทางการสั่งห้ามนักดนตรีไทยเล่นดนตรีไทยนั้นเป็นคำสั่งที่เด็ดขาด ขนาดที่จะแอบเล่นเองภายในบ้านก็ไม่ได้ เพราะถ้ามีเสียงดังลอดออกไปนอกบ้านอาจมีความผิด นักดนตรีไทยทุกคนรู้สึกเศร้าใจ ท้อใจ หมดกำลังใจ รู้สึกหมดอิสรภาพ ผู้ที่รักการดนตรีทั้งหลายหมดความสุขในชีวิต เสียดายอาลัยที่ศิลปะของชาติจะต้องสูญไป แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อยุคนั้น “ทุกคนจะต้องเชื่อผู้นำ ชาติจึงจะพ้นภัย”

อันความคับอกคับใจนั้น เมื่อไม่สามารถระบายออกด้วยคำพูด หรือการกระทำ ก็อาจมีทางระบายได้ด้วยการคิดการเขียน

อ. บรรเลง เล่าว่า “คุณพ่อของข้าพเจ้า หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ท่านเป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกโทมนัสในคำสั่งห้ามเล่นดนตรีไทยนี้มาก ท่านได้ระบายความรู้สึกของท่านออกมาด้วยการแต่งเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง ‘แสนคำนึง’ โดยท่านนำทำนองเพลงลาวเพลงหนึ่งซึ่งได้คิดแต่งไว้บ้างแล้วนำมาประดิษฐ์ใหม่ให้มีลีลาแผกไปจากเดิม แล้วก็แต่งเนื้อร้องระบายความเคียดแค้นที่ถูกห้ามเล่นดนตรีไทย บทร้องนั้นแต่งไว้ยาวหลายคำกลอน…”

“แต่ครั้นพอนำมาให้พี่สาวของข้าพเจ้า (คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง) อ่านเพื่อจะสอนให้ร้อง พี่สาวของข้าพเจ้าอ่านจบแล้วฉีกทิ้งทันที คุณพ่อเอาสองมือตบหน้าผากของท่านแล้วร้องว่า ‘ฉีกของพ่อทำไม’… พ่อจะให้ร้องให้ฟัง และเก็บเอาไว้อ่าน พี่สาวของข้าพเจ้าตอบว่า ‘ถ้าไม่ฉีกทิ้ง เดี๋ยวพลั้งเผลอ หรือใครมาค้นบ้านได้อ่านเข้า คุณพ่อจะติดตะราง’ เมื่อเป็นดังนั้น คุณพ่อเลยต้องหาเนื้อร้องใหม่ ได้เนื้อร้องจากเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ ซึ่งพอจะมีความหมายเข้ากับชื่อเพลงที่ท่านเรียกว่า ‘แสนคำนึง’ ได้ เพลงนี้เมื่อภายหลังเลิกห้ามเล่นดนตรีไทย (เลิกไปเองโดยปริยายหลังสงคราม) ก็ได้นำออกสอนศิษย์ของท่านจนเป็นที่แพร่หลายมาจนทุกวันนี้”

“เพลงแสนคำนึงที่คุณพ่อประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น ในตอนขึ้นต้น ครั้งแรก ท่านให้ระนาดเดี่ยวขึ้นนำก่อน แล้วจึงตามด้วยเครื่องดนตรีทั้งวง ต่อจากนั้นก็ทอดลงให้ร้อง นับว่าเป็นลีลาใหม่แปลกกว่าเพลงก่อน ๆ เพราะมีท่อนนำ ซึ่งอาจเปรียบได้กับ introduction เหมือนบางเพลงของฝรั่ง เมื่อร้องและบรรเลงจบทั้งเถาแล้วก็ให้เครื่องดนตรีต่าง ๆ แสดงฝีมือเดี่ยวรอบวงต่อท้ายอีกก่อนจะถึงลูกหมด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความรู้สึกที่ถูกกดดันไม่ให้บรรเลงดนตรีไทยมานาน เมื่อโอกาสเปิดให้ท่านจึงได้ให้เครื่องดนตรีต่าง ๆ แสดงฝีมือเสียให้สมใจ เพลงนี้จึงค่อนข้างยาวและมีหลายรส ทั้งเกรียวกราว คึกคัก เศร้าเสียดาย และแทรกเสียงธรรมชาติ เช่นเสียงน้ำ เสียงลม เอาไว้ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ แล้วก็จบลงอย่างสนุกสนาน”

“การฟังเพลง ‘แสนคำนึง’ ให้ได้รสและบรรยากาศตามความคิดคำนึงของคุณพ่อโดยครบถ้วนนั้น ถ้าได้ฟังจากการบรรเลงปี่พาทย์ไม้แข็ง จะได้รสแห่งความไพเราะมากยิ่งกว่าฟังจากการบรรเลงด้วยเครื่องสายหรือมโหรี”

เพลงแสนคำนึงนี้ผู้เล่นควรต้องเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือทุกคน เพราะมีท่อนเดี่ยว (Solo) เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจนครบทั้งวง เป็นการแสดงความสามารถเฉพาะตัวเพื่ออวดฝีมือของนักดนตรีที่ชำนาญในเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น และสามารถเล่นผสมวงกันได้กลมกลืน พร้อมเพรียงกันอีกด้วย เพลงนี้จึงเป็นเพลงที่มีความไพเราะ สนุกสนานมากที่สุดเพลงหนึ่ง มีทุกรสอยู่ในเพลงเดียวกัน เป็นเพลงอมตะ เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงยุค “มาลานำไทย”

ผลจากความไม่เชื่อผู้นำ ด้วยความรักและห่วงใยในวัฒนธรรมดนตรีของแผ่นดินมากกว่า “ชาติ” ที่นิยมนิยามกันด้วยนโยบายการเมืองสวยหรู ฝันเฟื่อง

บทเพลงที่ออกมาจากความจริงใจของนักดนตรีสามัญชนคนหนึ่ง จึงยังคงความเป็นเพลงแห่งสัจธรรมมาจนทุกวันนี้ ชาติไทย ดนตรีไทย อยู่ได้ด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์” โดย อานันท์ นาคคง, อัษฎาวุธ สาคริก และสุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ (พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2547, สำนักพิมพ์มติชน)

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2564