ไขปริศนาย่านไฮโซ “เพลินจิต” เดิมชื่อ “หายห่วง”?

เพลินจิต
ย่านเพลินจิต (ภาพจาก Anirudh Gaur via www.unsplash.com)

“เพลินจิต” เป็นหนึ่งในย่านหรูใจกลางกรุงเทพมหานคร ทั้งยังเดินทางสะดวก ทำให้เพลินจิตเต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานทูตหลายแห่ง และเพราะชื่อทำเลส่วนมากนั้นมีที่มา “เพลินจิต” ก็เช่นกัน ชื่อนี้มาจากไหน?

เพลินจิตเป็นทั้งชื่อย่านและชื่อถนน ซึ่งอย่างหลังตัดแยกจากถนนราชดำริถึงถนนวิทยุ ในอดีตถนนเส้นนี้เป็นเพียงเส้นทางสัญจรธรรมชาติ ลัดเลาะไปตามทุ่งหญ้าป่าละเมาะ ผู้คนที่สัญจรไปมามีทั้งเดินเท้าและใช้เกวียนเป็นพาหนะ (ลืมภาพตึกสูงเรียงรายและรถราหนาแน่นยุคนี้ไปได้เลย)

ตอนนั้นถนนดังกล่าวยังไม่มีชื่อเรียก แต่เนื่องจากเป็นเส้นทางที่อยู่ห่างไกลความเจริญ แม้เมื่อมีสถานทูตอังกฤษไปตั้งแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นเส้นทางที่ไปมาลำบากอยู่ดี

เล่ากันว่า คนจากในเมืองจะเดินทางมาเพื่อรับจดหมายที่เรียกกันว่า “ถุงเมล์” จากประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ รัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส ซึ่งจะต้องมาส่งรวมกันที่สถานทูตอังกฤษ ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 1 วันเต็มๆ ต้องออกตั้งแต่เช้ามืด กว่าจะถึงบ้านก็มึดค่ำ จึงต้องมีการเตรียมตัวในการเดินทาง อย่างการเตรียมอาหารไปรับประทานกลางทาง เนื่องจากตลอดเส้นทางไม่สามารถหาอาหารรับประทานได้

ดังนั้น หากรู้ว่าใครจะต้องเดินทางไปตามเส้นทางสายนี้ ก็จะพูดกันว่า “หายห่วง” (อาจตีความได้ว่า หากหายไปแล้วคนข้างหลังก็จะเป็นห่วง) เลยกลายเป็นชื่อเส้นทาง แม้ต่อมาจะปรับปรุงเส้นทางให้กลายเป็นถนนแล้ว คนไม่น้อยก็ยังเรียกติดปากว่า “หายห่วง” อยู่

กระทั่งเมืองขยายตัว มีผู้ซื้อที่ดินบริเวณนี้สร้างที่พักอาศัยมากขึ้น ทั้งยังมีการตัดถนนบริเวณใกล้เคียง ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อนมาก ไม่ต้อง “หาย (แล้ว) ห่วง” อีกต่อไป

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญการบัญญัติศัพท์ ซึ่งทรงมีวังที่ประทับอยู่ใกล้ถนนนั้น จึงโปรดประทานนามถนนให้ใหม่ว่า “เพลินจิต” เพื่อให้ไพเราะและเป็นมงคล อย่างที่เราได้คุ้นเคยกันในทุกวันนี้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2567