ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
บรรดาสิ่งของอันเป็นมงคลตามคติจีน “ฮก ลก ซิ่ว” ยืนหนึ่งในเรื่องความนิยม ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ทั้งยังใกล้ชิดกับผู้คน จนบ่อยครั้งลืมไปว่าเป็นเทพ
ความหมายที่เป็นมงคลของฮก ลก ซิ่ว แต่ละตัวมีความหมายดังนี้ ฮก (福) หมายถึงโชควาสนา, ลก (禄) หมายถึงยศศักดิ์ ลาภยศ, ซิ่ว (寿) หมายถึงแข็งแรงอายุยืน
ส่วนใหญ่ฮก ลก ซิ่ว มักแทนที่ด้วยภาพ/ตุ๊กตาเคลือบชาย 3 คนที่มีลักษณะต่างกันไปดังนี้
ฮก นิยมทำเป็นผู้ชายใส่ชุดลำลอง มืออุ้มเด็กที่สื่อถึงการมีลูกหลานสืบวงศ์ตระกูล บ้างก็ถือทองก้อนแบบจีนที่สื่อถึงความสมบูรณ์พูนสุข
ลก นิยมทำเป็นผู้ชายสวมเครื่องแบบขุนนางจีนเต็มยศ มือถือป้ายหยกประจำตำแหน่ง
ซิ่ว นิยมทำเป็นชายชราหน้าตาใจดี ผม,หนวดเครา และคิ้วขาวยาว หน้าผากโหนก หูยาน ซึ่งเป็นโหงวเฮ้งที่ดี มือหนึ่งถือไม้เท้าสูงเลยหัว อีกมือหนึ่งถือผลท้อ (ผลไม้อายุวัฒนะในตำนาน)
หากฮก ลก ซิ่ว ที่ไม่ได้แทนความหมายด้วยมนุษย์เท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยลายจีนซึ่งเขียนเครื่องถ้วยกระเบื้องกังไส” ว่ายังมีการแทนฮก ลก ซิ่ว ด้วยสิ่งอื่นๆ เช่น การแทนด้วยสัตว์ ฮก แทนด้วยค้างคาว ซึ่งเป็นสัตว์ที่หมายถึงวาสนา, ลก แทนด้วยกวางดาวซึ่งมีลายไปตามตัว เปรียบดังโภคสมบัติ, ซิ่ว แทนด้วยนกดำ/กา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่มีผู้ใดได้เห็นว่าตายอยู่ในที่แห่งใด
ทั้งทรงอธิบายถึงฮก ลก ซิ่ว บนเครื่องกระเบื้องต่างๆ ว่า
“ควรสังเกตไว้เป็นหลักว่า ถ้าเครื่องหมายสำหรับฮกแล้วคงจะเป็นสิ่งซึ่งวิเศษหายาก มีอานุภาพมาก มีสง่า หรือรุ่งเรืองมากเป็นเกณฑ์ ถ้า ลก แล้ว มักจะเป็นสิ่งซึ่งมากโดยประมาณนับ หรือเป็นพืชพรรณแพร่หลายเป็นเครื่องเย็นชุ่มชื่น เป็นเครื่องมั่งคั่งสมบูรณ์เป็นเกณฑ์ ซิ่ว คงจะเป็นเครื่องที่ทนทานถาวร หรือยืดยาวเป็นเกณฑ์ เมื่อสังเกตตามทางเช่นนี้ คงจะเห็นได้ว่าลายอันนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะให้เป็นนิมิตเครื่องหมายมงคลอันใด” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
จะด้วยหลักข้างต้นหรือไม่ ตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ จึงทรงเปรียบเทียบฮก ลก ซิ่ว เทพของจีน ด้วยพระเจ้า 3 องค์ ของอินเดีย ไว้ว่า
“ฮก ลก ซิ่วนี้ ถ้าจะเทียบด้วยพระเป็นเจ้าทั้ง 3 ซึ่งนับถือกันในประเทศอินเดีย ก็เกือบจะลงรูปกันได้ คือ ตามในคัมภีร์มหาภารต ย่อมกล่าวยกย่องพระนารายณ์เป็นใหญ่ หาใช่พระอิศวรเป็นใหญ่เช่นเราเข้าใจกันไม่ การที่ถือว่าผู้ใดเป็นใหญ่เห็นจะเป็นไปตามหมู่ลัทธิต่างกัน หรือความปรารถนาของคนจำพวกนั้นต่างกัน
พระนารายณ์เป็นพระเดชสำหรับที่สังหารผลาญโลก จะทำคุณให้แก่โลกนี้ก็ด้วยปราบปรามสัตว์บาปหยาบคาย จึงนับว่าเป็นผู้มีอานุภาพ มีวาสนาใหญ่ พระนารายณ์มีครุฑเป็นสิริประจำธงหน้างอนรถ หรือจะว่าทรงครุฑก็ตาม ถ้าหากว่าพวกจีนจะแปลคำฮกนี้ ว่าเป็นพระนารายณ์ก็น่าจะเป็นได้ เพราะฮกมีอาการคล้ายพระนารายณ์ ส่วนสิริหรือพาหนะเป็นค้างคาว ค้างคาวเป็นสัตว์ประหลาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขามีแขนเหมือนสัตว์สี่เท้าแต่มีปีก จะว่าเป็นเครื่องหมายแห่งครุฑเลือนๆ มา ก็ชอบกลอยู่
ส่วนพระอิศวรนั้น ข้างฝ่ายอินเดียถือว่าเป็นผู้ให้โภคสมบัติและบริวารสมบัติแก่มนุษย์ทั้งปวง จึงเรียกว่าพระคุณ พระอิศวรมีโคเป็นพาหนะ ส่วน ลก ข้างจีนนั้นเล่า เป็นที่ตั้งแห่งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ มีกวางอันเป็นสัตว์สี่เท้าเป็นพาหนะทำนองเดียวกัน
พรหม ตามลัทธิข้างอินเดีย ใกล้ข้างเทวดาน้อยกว่าใกล้ ข้างพระพรหมย่อมเกิดขึ้นจากฤๅษีต่างๆ ด้วยความประพฤติดี มีอายุอยู่ยืนนานจนเลยเป็นพรหมไป หรือจุติไปเป็นพรหมๆ มีหงส์หรือห่านเป็นพาหนะ ข้างฝ่ายจีน ซิ่ว เป็นผู้มีอายุยืนอย่างเดียวกัน สัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับ ซิ่ว คือนกดำ เป็นสัตว์สองเท้าคล้ายกับห่าน
การที่ยกขึ้นเทียบกันนี้ เป็นว่าโดยความคิดเทียบเคียงกันดู เพื่อจะให้เห็นว่า ธรรมที่ยกขึ้นว่า พึงปรารถนา 3 ประการมาจากที่ใด แต่จะหาหลักอ้างอิงให้แน่นอนว่าเป็นครูเดียวกัน ยังหาเคยพบไม่ เพราะฉะนั้นการที่เทียบนี้ ต้องนับว่าเป็นแต่ลองเทียบดูเท่านั้น” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
อ่านเพิ่มเติม :
- คเณศชยันตี วันประสูติพระคเณศ เทพแห่งความสำเร็จ
- พระตรีมูรติ ภาวะรวมร่าง 3 มหาเทพ ใช่เทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์หรือไม่?
- เจ้าแม่ทับทิม ของจีนไหหลำ “ตุยบ้วยเต้งเหนียง”
- เกียงไท้กง บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ผู้เป็น “เจ้าไม่มีศาล”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิงจาก :
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยลายจีนซึ่งเขียนเครื่องถ้วยกระเบื้องกังไส” ใน, ประมวลพระราชนิพนธ์เบ็ดตล็ด ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล. ประจวบ กล้วยไม้ (จมื่นเทพสุรินทร์) ณ เมรุวัดสังเวชวิศยาราม วันที่ 4 กันยายน 2508.
เผบยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมาพันธ์ 2567