“ผีขี้หมา” ตำนานผีล้านนา ที่หลายคนอาจไม่รู้จัก เกิดมาจากอะไร?

ผีขี้หมา ประจำ ภาคเหนือ
ภาพ : icon-icons, unsplash

“ผีขี้หมา” เป็นอีกหนึ่งตำนานผีลี้ลับของ “ภาคเหนือ” ที่ใครหลายคนอาจไม่รู้จัก ผีขี้หมาคืออะไร ทำไมถึงได้ชื่อนี้ บทความนี้มีคำตอบ!

ตำนาน “ผีขี้หมา” ปรากฏในเรื่องเล่าปรัมปรา ซึ่งอธิบายความเป็นมาของผีชนิดนี้ไว้ว่า นานมาแล้ว มีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งได้เดินทางมาค้าขาย พอเข้าสู่ช่วงกลางวัน หลายคนจึงแวะพักกินข้าวกันตามปกติ ทว่าหนึ่งในกลุ่มพ่อค้าก็เหลือบไปเห็นขี้หมากองหนึ่งอยู่ไม่ไกล จึงตัดสินใจเอาใบตองห่อ แล้วโรยด้วยดอกไม้ เพื่อจะได้ไม่เห็นตอนกินข้าว เมื่อกินเสร็จก็เอนกาย ให้อาหารย่อย ก่อนจะเดินทางไปต่อ

Advertisement

วันต่อมา มีพ่อค้ากลุ่มใหม่เห็นดอกไม้วางกองอยู่ จึงคิดว่าเป็นที่อยู่ของผี เลยนำอาหารวางไว้ เพื่อแบ่งให้ผีกินด้วย ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านาน

เมื่อวันเวลาผ่านไปได้มีนักค้าเดินทางมาเรื่อย ๆ และพอได้เห็นซากดอกไม้ ซากอาหาร จึงคิดไปว่าตรงนี้มีผีสิงสถิตอยู่ ทำให้ไม่ว่าใครจะผ่านไปมาก็ล้วนแต่จะทำการไหว้สักการะบูชา ขอโชค ขอพรอยู่เสมอ 

กระทั่งวันหนึ่ง มีพ่อค้านักเดินทางกลุ่มใหม่มาถึง ซึ่งในกลุ่มมีนักค้าคนหนึ่งขาดทุน ได้เข้ามาพักเหนื่อยที่นี่ เขาพยายามหาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อให้ลูกและภรรยามีกินมีใช้ จนสายตาเหลือบไปเห็นกองดอกไม้ใบหญ้า รอบข้างเต็มไปด้วยถ้วยอาหารหลากหลายชนิด

เมื่อเห็นเช่นนั้น พ่อค้าก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันที เขาโกยกองขี้หมาทั้งหมดใส่เข้าไปในย่าม หวังจะนำมาขายให้ได้ราคาดี จนทุกคนในกลุ่มพักผ่อนเสร็จ ก็เดินทางออกไปเมืองอื่น ๆ เพื่อเร่ขายของต่อ

พ่อค้านำกองขี้หมาเหล่านี้ไปเร่ขายตามบ้าน คุยโวสรรพคุณว่าเป็นผีดี จะช่วยปกปักรักษาคุ้มครองบ้านเรือนให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำให้คนมากมายที่ยังไม่มีผีคุ้มตัวซื้อกองขี้หมาต่อจากเขา ก่อนที่ชาวบ้านเหล่านี้จะนำก้อนขี้หมาที่ได้มาไปบูชา กลายมาเป็น “ผีขี้หมา” อย่างที่เรารู้จักกัน 

เชื่อกันว่า หากใครที่ดูแลดีก็จะประสบความสำเร็จรุ่งเรือง ส่วนใครที่ดูแลทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ก็จะมีภัยมาสู่ตัว จนต้องนำก้อนขี้หมาไปไหลน้ำเลยทีเดียว 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อุดม รุ่งเรืองศรี. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ ๘ ปางหมู, วัด-พระธาตุ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2567