เจาะลึกเรื่องหลอน “ผีกะ” ผีพื้นบ้านภาคเหนือ มีที่มาอย่างไร เลี้ยงแบบไหน ใช้วิธีใดปราบ?!

ผีกะ ผี ภาคเหนือ ในละคร วิญญาณแพศยา ช่อง 8
น้ำตาล ชลิตา ในละคร วิญญาณแพศยา (ภาพ : Facebook ช่อง8)

เมื่อพูดถึงเรื่อง “ผี” ประจำถิ่น หลายคนคงจะนึกถึง ผีปอบ ผีกระสือ ผีกระหัง ผีแม่นาค ฯลฯ แต่มีผีอีกชนิดหนึ่ง ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ทั้งยังเป็น ผี ชนิดเดียวกับ “ผีปอบ” ทว่าหลายคนน่าจะไม่เคยรู้จัก นั่นคือ “ผีกะ” หรือ “ผีกละ” ผีประจำพื้นถิ่น “ภาคเหนือ” ที่ให้ทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงดู

ผีกะ (ผีกละ) คืออะไร ทำไมต้องชื่อผีกะ? 

“ผีกะ” หรือ “ผีกละ” (ต่อไปนี้จะขอเรียกว่า ผีกะ) เป็นอมนุษย์ภูติที่อยู่ในความเชื่อของคนเหนือมาเป็นระยะเวลานาน โดยผีกะเป็นผีที่สืบสกุลต่อจากทางฝ่ายแม่ อาจเป็นลูกสาวคนโตหรือคนเล็ก แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน อีกทั้งผีกะยังเป็นผีในตระกูล “ผีเมง” ผีเรือนที่คอยดูแลลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข 

ปกติแล้ว ในทุก 3 ปี ทางภาคเหนือจะมีการเลี้ยงผีเป็นพิเศษ เช่น ฟ้อนผีเมง เพื่อให้ผีอยู่ดีมีความสุข ปกปักรักษาลูกหลานต่อไป แต่คุณของผีก็อาจเปลี่ยนไปเป็นโทษ หากเจ้าของไม่ยอมดูแลหรือให้ความสำคัญกับผี เพราะต่อมา ผีเรือนอาจพิโรธ ทำอันตรายแก่ลูกหลาน ออกไปหากินเอง โดยจะกินของสด กินเครื่องใน สิงสู่คนใกล้หรือไกลตัว เพื่อร้องขออาหารสดมากินอย่าง “ตะกละตะกลาม”

ซึ่งนี่คือที่มาของชื่อ “ผีกะ” ซึ่งสามารถเขียนได้อีกแบบหนึ่งว่า “ผีกละ” นั่นเอง

ผีกะมาจากไหน? 

ผีกะปรากฏในนิทานปรัมปราเรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งมีกษัตริย์หนุ่มกับขุนนางได้ไปเรียนวิชาถอดจิตกับอาจารย์ผู้รอบรู้ ที่เมืองตักศิลา กระทั่งเรียนจบ ทั้งสองก็พากันกลับเมือง ทว่าระหว่างทางได้พบกับกวางที่เพิ่งตายใหม่ ๆ ตัวหนึ่ง กษัตริย์คิดอยากลองวิชาที่ร่ำเรียนมา จึงถอดจิตเข้าสิงกวางตัวนั้น ทั้งยังกำชับให้ขุนนางดูแลร่างของตนเองไว้ให้ดี

แต่ด้วยความโลภ ขุนนางจึงถอดจิตตนเองไปสิงที่ร่างกษัตริย์ และเผาร่างตัวเองทิ้ง ก่อนจะรีบกลับเมือง เพื่อหวังในราชสมบัติและพระชายา แต่โชคดีที่พระชายากลับรู้สึกว่าพระสวามีนั้นแปลกไป จึงไม่ยอมให้อยู่ร่วมด้วย 

ด้านกษัตริย์ที่เดิมอยู่ในร่างซากกวาง ก็ย้ายจิตไปอยู่ที่ “นกแก้ว” บินไปบอกเรื่องราวทั้งหมดให้พระชายาฟัง เมื่อเป็นเช่นนั้น พระชายาจึงออกอุบายให้ขุนนางในร่างพระสวามีทดลองวิชาให้ดูด้วยการถอดจิตไปยังซากแพะ 

เมื่อถอดจิตไปที่ซากแพะแล้ว กษัตริย์หนุ่มตัวจริงก็กลับเข้าร่างตัวเอง และสั่งให้ทำลายซากแพะนั้นทันที พอจิตขุนนางทรยศคนนั้นไม่มีร่างสิงสู่ก็เตลิดหนี หาร่างใหม่ที่มีผมหอมสิงสู่ จนกลายเป็น “ผีกะ” ในที่สุด

หน้าตา-นิสัยของผีกะเป็นอย่างไร? 

หน้าตาของผีไม่เป็นที่แน่ชัด ขึ้นอยู่กับผู้พบเจอ บ้างก็ว่าเป็นเด็กหน้าตาน่าเอ็นดู แต่ก็แฝงความลึกลับอะไรบางอย่าง บ้างก็ว่ามีรูปร่างเป็นยายแก่หลังโก่ง คางยื่น ผมยาว เล็บยาว 

คนที่ถูกผีกะเข้าสิง มักจะมีอาการพูดเพ้อเจ้อ เหม่อลอย เริ่มจากการปวดศีรษะก่อน แล้วจึงมีอาการอื่น ๆ เพิ่มขึ้น นานเข้าก็ซูบลง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนถึงขั้นเป็นอัมพาต หรืออย่างที่คนภาคเหนือเรียกว่าเป็นคน “สึ่งทึง” (อ่านว่า สึ่งตึง) คือสติปัญญาเลอะเลือน  

นอกจากนี้ ผีกะยังมีสัตว์พาหนะประจำตัวอีกด้วย! นั่นคือ “นกเค้าผีกละ” หรือ “นกเค้าแมว” ซึ่งถ้าหากว่าใครเห็นต้องระวังตัวให้ดี เพราะมีตำนานเล่าขานกันมาว่า ถ้าหากว่าผีกะจะเดินทางไปที่ใด จะต้องเห็นนกเค้าแมวเป็นลางก่อนเสมอ โดยผีกะจะอาศัยนกที่ว่านี้ออกไปหากิน แต่คนที่เป็นผีกะจะไม่รู้ตัว 

แต่ก็ยังมีอีกหลายความเชื่อที่บอกว่า นกเค้าแมวไม่ใช่สัตว์พาหนะของผีกะ แต่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันต่างหาก เพราะการที่นกเค้าแมวปรากฏตัวให้คนเห็นก่อนผีกะจะปรากฏตัว เป็นการช่วยเหลือและส่งสัญญาณบางอย่างให้คนทั่วไปรับรู้

วิธีเลี้ยงผีกะ

การเลี้ยงผีกะไม่ใช่เรื่องที่ทำกันโจ่งแจ้ง มักจะทำกันอยู่ 3 วิธี คือ

1. เลี้ยงในหม้อต่อม หรือหม้อต้มสมุนไพร โดยแม่เรือนประจำบ้านจะใส่ไข่ไก่ไว้ในนั้น 1 ฟอง หรืออาจใส่ตามจำนวนครอบครัวเพื่อเซ่นผีกะ ปิดปากหม้อ มัดด้วยผ้าขาว ก่อนจะวางไว้บนที่สูง ส่วนใหญ่มักวางไว้บนตะแกรงใต้หลังคาบ้าน

ส่วนอาหารสำหรับเลี้ยงนั้น จะต้องมีไข่ไก่ใหม่ 1 ฟอง หญ้าแพรก 2 ยอด ดอกเข้าเรื้อ (ข้าวที่งอกขึ้นเอง) วางไว้ในหม้อทุก ๆ 3 วัน หรือ 7 วัน

มีคนบอกว่าผีกะที่อาศัยอยู่ในนี้จะเป็นหนอนขนาดนิ้วชี้ และมีครบตามจำนวนสมาชิกครอบครัว หากผีกะเก่งกล้าสามารถก็อาจเป็นหนอนที่มีหงอนงอกออกมาเรียกว่า “ผีกละหงอน” หรืออาจแสดงตัวเป็น “ผีม้าบ้อง”

2. ให้ผีกะสิงในของมีค่า เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ หรือกำไล ในกรณีนี้มักจะมีคนที่เบื่อหน่ายในการเลี้ยงผีกะเอาไปไว้ตามถนนหนทาง หากใครที่เก็บของล้ำค่านั้นไปก็ต้องเป็นเจ้านายแทน แต่บางครั้งผีกะก็อาจดื้อรั้น ไม่ยอมนายใหม่ และกลับไปหานายเก่า (ซึ่งคนที่นำของมาวางทิ้งไว้นอกจากจะสูญของมีค่าแล้ว ผีกะก็ยังกลับมารังควานเหมือนเดิม)

3. การเลี้ยงแบบไม่ได้ตั้งใจ คือการเลี้ยงที่ผีกะอยากมาอยู่ด้วย ไม่ยอมหนีไปไหน

ปราบผีกะให้ชะงัดต้องทำอะไรบ้าง?!

หลังจากรู้เรื่องวิธีเลี้ยง ก็ต้องตามมาด้วยวิธีปราบ จากข้อมูลมีหลากหลายอุปกรณ์ที่ต้องใช้งานหากคิดจะปราบผีกะ ไม่ว่าจะเป็น มีดหมอ ต้นข่าแดง หางปลาไม ฯลฯ ทุกอย่างล้วนหาได้ตามบ้านเรือน แต่ที่สำคัญจำเป็นต้องมีคือ “คาถาอาคม” ซึ่งปรากฏอยู่ 2 บท ได้แก่ คาถาว่า “มติ จุติ ตติ มติ เอหิ ภควะ โส ชายะ” และ คาถาฤๅษีตาไฟ คือ “โส สา ภาวตา อัคคิรสา ทิพจักขุ อัคคริสา ทิพจักขุ สัพเพ สัพเพ อิถัง กะมะยิ”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว “ผีกะ” เท่านั้น และอาจปรากฏข้อมูลที่มากกว่า ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละพื้นที่ ชุมชน ที่ต่างกัน 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อุดม รุ่งเรืองศรี. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ ๘ ปางหมู, วัด-พระธาตุ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.

ศิริรัตน์ คทวณิชกุล. ผีกะ : ความเชื่อในการรักษาโรคผีกะแฝง และผีกะเข้า กรณีศึกษา หมู่บ้านไผ่ล้อม ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2537.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2567