ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมืองฟ้าแดดสงยาง ในเขตตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ถือเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญในภาคอีสาน นอกจากจะมีร่องรอยศิลปะวัตถุ โบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้ว ยังมีหลักฐานในตำนาน ที่เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นอย่าง “ผาแดงนางไอ่” และ “ตำนานพญาคันคาก” ซึ่งมีการกล่าวถึงเมืองฟ้าแดดสงยางไว้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังพบตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางอีกฉบับที่เนื้อหาค่อนข้างสมบูณ์ เขียนด้วยอักษรลาวโบราณลงในใบลาน พระอริยานุวัตร เขมจารี ได้ชำระไว้เป็นภาษาปัจจุบัน มีเนื้อความไพเราะ น่าศึกษา เป็นเรื่องราวที่ “ครบรส” ทั้งบทรัก บทรบ บทโศก สะท้อนบรรยากาศบ้านเมืองของเมืองฟ้าแดดสงยางเป็น “แบ็คกราวนด์” ของเนื้อเรื่องทั้งหมดด้วย
สำหรับเรื่องราวใน ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง นี้ ไชยยศ วันอุทา เล่าไว้ในบทความ “ตำนานรักเมืองฟ้าแดดสงยาง” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539) ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
ในตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางได้กล่าวถึง “เมืองฟ้าแดด” ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ทางฝ่ายใต้ และ “เมืองเชียงโสม” เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ทางฝ่ายเหนือ เมืองทั้งสองมีการติดต่อค้าขาย ไปมาหาสู่กันโดยทางเรือเสมอ ๆ
เมืองเชียงโสมมี พญาจันทะราช เป็นกษัตริย์ปกครอง มีพญาธรรมผู้เป็นอนุชาเป็นอุปราช มีเมืองบริวารอยู่หลายมือง ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกัน…
เมื่อถึงเทศกาลประจำปี (ต้นฉบับใช้ ‘ฤดูปี’ – ผู้เขียน) เจ้าเมืองเหล่านี้จะมีการเล่นกีฬา สกา ตีคลี และนอกจากนั้นยังนิยมไปประพาสป่า ล่าสัตว์ และต่อไก่ บริเวณริมแม่น้ำใหญ่อยู่เสมอ
พญาจันทะราชเจ้าเมืองเชียงโสมกับข้าราชบริพารเสด็จประพาสป่าเพื่อล่าเนื้อ บังเอิญไปพบสุวรรณมิคะราชกวางคำ พญาจันทะราชได้ติดตามกวางคำไปจนข้าราชบริพารตามเสด็จไม่ทัน จนพระองค์หลงทางรอนแรมไปในป่าและเดินทางจนมาถึงเมืองฟ้าแดด จึงได้หยุดพักที่ศาลานอกเมือง พระองค์ทรงทราบข่าวว่า พญาฟ้าแดด มีราชธิดาที่ทรงพระสิริโฉมงดงามมาก ทรงพระนามว่า “ฟ้าหยาด” ความงามของพระธิดาเป็นที่เลื่องลือนัก ดังความว่า
◉ พระธิดานั้นชื่อ “ฟ้าหยาด” นางงาม
โสมเสลาแพงศรีดั่งแมนลงย้อง
ทองสมรแก้วสายใจงามยิ่ง
อายุได้สิบห้าขวบเข้าลือแต้มแต่งโสม
◉ คือดังหบาดแต่ฟ้าลงมาจากเมืองสวรรค์ แลนา
คีงขาวฟองดั่งใยยองงิ้ว
แขนแพนส่วนธนูทองคิ่วก่อง
คอก่านป้องนมตั้งตุ่มงาม
◉ อันวากางวันนั้นผิวหลากมณีวัณ แท้แล้ว
สีสันงามดั่งอินทร์ลงแต้ม
ผมดำเหลื่อมคือเทาเขียนอ่อน
เนื้ออ่อนเกลี้ยงสำงีฝ้ายดีดผง
โสมเสลาแพงดั่งเงินเลียนไว้
(พระอริยานุวัตร เขมจารี. 2514 : 21)
พระบิดาทรงสร้างปราสาทกลางน้ำให้เป็นที่ประทับ มีข้าราชบริพารและทหารคอยถวายความปลอดภัยอย่างแน่นหนา
ฝ่ายพญาจันทะราชมีพระประสงค์จะได้ยลโฉม และต้องการจะได้พระธิดาฟ้าหยาดเป็นชายา จึงลอบเข้าไปหาพระธิดาฟ้าหยาดและได้อยู่ด้วยกันอย่างลับ ๆ ที่ปราสาทกลางน้ำ จนพระธิดาฟ้าหยาดทรงครรภ์อ่อน ๆ โดยที่พญาฟ้าแดดไม่ทรงทราบเลย
จากนั้น พญาจันทะราชได้เดินทางกลับเมืองเชียงโสม เมื่อถึงเมืองเชียงโสม มีรับสั่งให้อำมาตย์ผู้ใหญ่เดินทางมาสู่ขอพระธิดาฟ้าหยาดตามราชประเพณี แต่พญาฟ้าแดดไม่ทรงอนุญาต และกริ้วมาก ถือว่าพญาจันทะราชหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระองค์
ฝ่ายพญาจันทะราชทรงทราบข่าวว่าพญาฟ้าแดดไม่ทรงรับบรรณาการสู่ขอจากพระองค์ก็กริ้วมาก จึงยกทัพมาทำสงครามกับพญาฟ้าแดด กองทัพทั้งสองเมืองเกิดรบพุ่งกันขึ้น ดังความว่า
◉ แต่นั้นทมทมก้องนาเพียงดังสนั่น
ฟ้าแดดเจ้าสบูต้องแต่งคีง
คาดเคืองซ้างห้างแหย่งอานคำ
เนืองนันเสียงท่าเพียงนากว้าง
◉ เมื่อนั้นซาดซาดช้างพระบาทพญาธรรม
เด็มพลแข็งข่มมาหัวหน้า
เลียนกันตั้งพลไเดียระดาด พุ้นเยอ
ช่วงช่วงเบื้องทวนก้องหอกแทง
◉ ไทตีนซ้างก่ำฝ่ายพญาธรรม
ซัดหอกแทงแกว่งเมืองดวงง้าว
ฟันคอข้าพลพญาฟ้าแดด
เลือดแตกฟ้งสะเด็นต้องทั่วแดน…
(พระอริยานุวัตร เขมจารี. 2514 : 53)
การสงครามครั้งนี้พญาจันทะราชเสียทีแก่พญาฟ้าแดด พญาจันทะราชถูกพญาฟ้าแดดฟันสิ้นพระชนม์ในสนามรบ
ฝ่ายพระธิดาฟ้าหยาดทราบข่าวว่าพญาจันทะราชสิ้นพระชนม์ในสนามรบก็ทรงเสียพระทัยมาก จนสิ้นพระชนม์ตามที่ปราสาทกลางน้ำ พญาฟ้าแดดทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระธิดาฟ้าหยาด พระองค์ก็ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก พระองค์โปรดให้นำพระศพของทั้งสองพระองค์ใส่ในโกศทองคำอันเดียวกัน ดังความว่า
◉ เจ้าก็จำเขาข่อยแผงโฮงอันใหญ่ จิงแล้ว
สัพพฮูปซ้างม้าประสงค์แต้มแต่งลาย
แต่นั้นเขาก็แปงโฮงแก้วบรบวนทุกสิ่ง
เขาก็เอานาถน้องทั้งท้าวใส่โฮง
◉ ฮ้อยว่าลุลาบห้องบุพพกรรมแต่ปางก่อน
แม้นมิ่งเกี้ยวเคยซ้อมก่อมสนอง นั้นแล้ว
เคยได้ใส่ฮ่วมไว้โฮงหีบเดียวกัน
อุคคะลุกเวียงวังหีบเดียวโฮงแก้ว
◉ แปงลิงลายแต่งดีเขียนแต้ม
ฮูปเสือสิงเม่นเมยหมอบเต้นม่าย
ลิงค่างเต้นปลายไม้หยอกกัน
ฮูปกินรีเหล่นแขนแพนฟ้อนแอ่น
◉ แต้มฮูปสาวปวดซู้ดอมท้าวด่าวตาย แท้แล้ว
แต้มดอกไม้เดียระดาดแคมสวน
ดวงมาลาหอมทั่วไพพงด้าว
ต้มฮูปจันทะราชเจ้าเทียมแทบนางงาม
◉ สองจอมแพวยื่นแหวนทั้งผ้า
แฮ้มฮูปหมาจอกน้อยเต้นแล่นนำฟาน
สัพพสันดอกไม้ทั้งดอกจำปา
จำปีหอมใส่โคมเคือเกี้ยว
◉ นกหัสดีลิงค์เต้นธรณีพื้นแผ่น
มีสามหัวผ่อเยี่ยมเหลียวซ้ายล่ำขวา
พรหมสี่หน้าเทวราชสิงขร
นานามีป่าวสาวสงวนลิ้น แท้แล้ว
(พระอริยานุวัตร เขมจารี. 2514 : 75)
จากนั้นจึงจัดการพระศพทั้งสองพระองค์อย่างสมพระเกียรติ แล้วพญาฟ้าแดดจึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิไว้ด้วยกัน แล้วให้ช่างหล่อพระพุทธรูปทองคำจำนวน 85,000 องค์ แล้วนำมาบรรจุไว้ที่พระเจดีย์ของพญาจันทะราชและพระธิดาฟ้าหยาด จากนั้นทั้งสองเมืองจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยที่เมืองเชียงโสมเป็นเมืองขึ้นของเมืองฟ้าแดด และจัดส่งบรรณาการเป็นประจำทุกปี
กาลต่อมา พญาธรรม ผู้เป็นอนุชาของพญาจันทะราชปกครองเมืองเชียงโสมได้หกปี พระองค์ยังมีความเคียดแค้นพญาฟ้าแดดอยู่ไม่หาย ที่พญาฟ้าแดดทำให้พระเชษฐาของพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงเตรียมทำศึกกับพญาฟ้าแดด โดยได้รับความช่วยเหลือจากหัวเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น เมืองเม็ง เมืองม่าน เมืองคุลา เมืองญวน เมืองลาว เมืองลื้อ เมืองเขมร เมืองโกยกาย
นอกจากนั้นยังมีเมืองบริวารที่เป็นญาติพี่น้องกันมาช่วย คือ เมืองเชียงส่ง เมืองเชียงสา เมืองเชียงเครือ เมืองเชียงสร้อย เมืองสาบุตร์ และเมืองเชียงยืน ได้ยกทัพมาช่วยเหลือ ซึ่งรวมพลแล้วมีมากมายเหลือคณานับ จนเมืองฟ้าแดดไม่อาจทำการต่อสู้ด้วย พญาฟ้าแดดจึงยอมอ่อนน้อมต่อพญาธรรม และนำบรรณาการเทียนเงิน เทียนทอง ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ไปถวายต่อพญาธรรมแห่งเมืองเชียงโสม
จากนั้นเมืองฟ้าแดดและเมืองเชียงโสม จึงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอีกครั้งหนึ่ง ไม่ปรากฏว่ามีการทำสงครามกันอีกเลย จนกระทั่งเมืองร้างกันไปเองในที่สุด
ปัจจุบันในบริเวณ เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีซากเจดีย์อยู่องค์หนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระธาตุคำหยาด” หรือเจดีย์นางฟ้าหยาด ด้วยเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่พญาฟ้าแดดสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิของพระธิดาฟ้าหยาดและพญาจันทะราช…
อธิบายศัพท์ :
โสมเสลา หมายถึง โฉมงาม
คีง หมายถึง ลำตัว, องค์
ธนูทองคิ้วก่อง หมายถึง คิ้วโก่งดั่งคันศร
ผิวหลากมณีวัณ หมายถึง ผิวงามดั่งทอง
ดั่งอินทร์ลงแต้ม หมายถึง ดั่งพระอินทร์ลงมาแต่งแต้ม
ดั่งเงินเลียนไว้ หมายถึง ดั่งทาทาบไว้ด้วยเงิน
ทุ่งนาเพียง หมายถึง ทุ่งนาที่มีฟางข้าว
เดียระดาด หมายถึง มากมายก่ายกอง
แปงโฮง หมายถึง ตกแต่งโลงศพ, โกศ
สัพพฮูป หมายถึง มีรูปต่าง ๆ มากมาย
บรบวน หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง
ฮ่วม หมายถึง ร่วม
แปงลิงลาย หมายถึง แต้มแต่งลวดลาย
อ่านเพิ่มเติม :
- นิทานพื้นบ้านจีนอายุนับพันปี กับ “ความรัก” สะเทือนฟ้าดิน
- รักรันทด “พระรถเมรี” เรื่อง(เบื้อง)หลังสำนวน “ฤๅษีแปลงสาร”
- “ความอาย” กับ “ความใคร่” ของ “พระเพื่อนพระแพง” แห่งลิลิตพระลอ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2567