นิทานพื้นบ้านจีนอายุนับพันปี กับ “ความรัก” สะเทือนฟ้าดิน

หนุ่มเลี้ยงควายกับสาวทอผ้า 1 ใน 4 นิทานพื้นบ้านที่งดงามทางวรรณกรรมและสะท้อนสังคมได้อย่างดี (ภาพเขียนภายในพระราชวังฤดูร้อน ภาพจาก wikimedia.org )

ขณะที่โลกตะวันตกมี “วาเลนไทน์” เป็นวันแห่งความรัก ในโลกตะวันออก จีนก็มีการอ้างอิง “วัน 7 ค่ำ เดือน 7” เป็นวันแห่งความรักเช่นกัน วันที่ (7ค่ำ เดือน 7) คู่รักทรหดหนุ่มเลี้ยงควายกับสาวทอผ้า (บ้างเรียกหนุ่มเลี้ยววัวกับสาวทอผ้า) ข้ามทางช้างเผือกมาพบกันปีละครั้ง และเป็น 1 ใน 4 นิทานพื้นบ้านชื่อดังของจีน ได้แก่ 1.หนุ่มเลี้ยงควายกับสาวทอผ้า 2.นางพญางูขาว 3.ม่านประเพณี 4. เมิ่งเจียงหนี่ว์

นิทานพื้นบ้านทั้ง 4 เรื่อง เล่ากันมาอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนจีน ทั้งในและนอกประเทศเป็นเวลานับพัน ๆ ปี เนื้อหาบางถิ่นอาจแตกต่างกันไปบ้างจากการเพิ่มเติมหรือตกหล่นไป หากยังเป็นที่นิยมแพร่หลาย ภายหลังจึงมีการถ่ายทอดในรูปแบบอื่น เช่น งิ้ว, หนังสือ, ละคร, ภาพยนตร์, ซีรีส์ ฯลฯ ส่วนสาเหตุที่นิทานทั้งสี่ได้รับการยกย่องเป็นนิทานพื้นบ้านชื่อดังของจีนนั้น  นอกจากความงดงามในด้านวรรณกรรมแล้ว ยังมีเนื้อหาที่สะท้อนสังคมเป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งก่อนจะกล่าวถึงนั้น ขอสรุปเนื้อหาหลักของแต่ละเรื่องก่อน ดังนี้

หนุ่มเลี้ยงควายกับสาวทอผ้า  

ความรักต่างชนชั้นของหนุ่มเลี้ยงควายกับสาวทอผ้า ที่ว่ามีหนุ่มเลี้ยงควายที่มีจิตใจงดงามแต่ยากจน วันหนึ่งควายแก่ (นิทานว่าเป็นเทพกระบือบนสวรรค์) ใกล้ตายเห็นใจความอาภัพของเจ้าหนุ่มจึงช่วยให้เขาได้พบรักกับสาวทอผ้า (ซึ่งเป็นเทพธิดาดาวสาวทอผ้า) ทั้งสองรักและได้อยู่กินฉันสามีภรรยาจนมีลูกด้วยกัน

ต่อมาเรื่องดังกล่าวทราบถึงเจ้าแม่แห่งสวรรค์ (ซีหวางหมู่) จึงมีพระบัญชาให้สาวทอผ้ารีบกลับสวรรค์ แม้ใจจะไม่อยากกลับแต่สาวทอผ้าก็ไม่สามารถขัดพระบัญชาได้ หนุ่มเลี้ยงวัวเองพาลูก ๆ ตามสาวทอผ้า แต่เจ้าแม่แห่งสวรรค์ใช้ปิ่นปักผมกรีดท้องฟ้าให้เป็นคงคาสวรรค์ (ทางช้างเผือก) ขวางคั่นทั้งคู่ แต่เทวราชแห่งสวรรค์ (เทียนตี้) เวทนาจึงประทานพรให้ทั้งคู่ได้พบกันปีละครั้งในคืนวัน 7 ค่ำ เดือน 7 โดยนกสาลิกาปากดำบินต่อกันเป็นสะพานข้ามทางช้างเผือกให้ทั้งสองคน

นางพญางูขาว

เมื่อไป๋ซูเจิน-นางพญางูขาว และนางงูเขียวลูกสมุนที่บำเพ็ญเพียรจนกลายร่างเป็นมนุษย์ได้เกิดพบรักกับสี่ว์เซียน-บัณฑิตหนุ่มและลงเอยเป็นครอบครัวอยู่ด้วยกัน โดยที่ชายหนุ่มไม่รู้ว่าภรรยาเป็นปีศาจงู วันหนึ่งมีนักบวชผ่านมาพบกับครอบครัวนี้ เขาดูออกว่านี้เป็นปีศาจกับมนุษย์อยู่กินด้วยกันและเห็นว่าไม่ถูกต้อง ผิดกฎสวรรค์ จึงวางแผนทำให้สี่ว์เชียนรู้ความจริงว่าภรรยาเป็นปีศาจงูแปลงร่างมา และจับนางไปขังไว้ที่เจดีย์ริมทะเลสาบซีหู เมืองหังโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง) เป็นเวลายาวนาน ภายหลังนางงูเขียวที่หนีรอดได้ไปฝึกฝนบำเพ็ญเพียรย้อนกลับมาช่วยนางงูขาวได้ และได้กลับมาครองรักดังเดิม (บางว่าลูกของนางพญางูขาวกลับมาช่วย)

ใบปิด “ม่านประเพณี” ของชอว์บาร์เดอร์ นางเอกต้องปลอมเป็นชาย เพราะสังคมไม่ให้ผู้หญิงไปโรงเรียน (ภาพจาก stardom/pantip.com)

ม่านประเพณี

บ้างเรียกว่า “เหลียงซานป๋อจู้อิงไถ่” ตามชื่อพระ-นางในเรื่อง จู้อิงไถ่ต้องปลอมเป็นชายเพื่อให้ได้เรียนหนังสือที่เมืองหังโจวในยุคที่สังคมไม่ให้ผู้หญิงไปโรงเรียน ที่นั่นเธอได้พบกับบัณฑิตหนุ่มชื่อว่าเหลียงซานป๋อ ทั้งสองคบหากันดูแลกันฉันมิตรที่ดี เมื่อจบการศึกษาจู้อิงไถ่ที่แอบหลงรักเหลียงซานป๋อจึงบอกว่าตนมีน้องสาวสวยที่บ้าน ชื่อจู้อิงไถ่ ให้รับไปทาบทามติดต่อ เหลียงซานป๋อเองก็ชื่นชมจู้อิงไถ่จึงเดินทางไปบ้านของนางและได้รู้ความจริง แต่มันก็สายเกินไป เพราะพ่อแม่ของนางได้ยกนางให้คุณชายบ้านอื่นไปแล้ว เหลียงซานป๋อรู้ว่าตนเองไร้วาสนากลับมาบ้านก็ตรอมใจไม่นานก็เสียชีวิต

จู้อิงไถ่เองก็ไม่สามารถขัดคำสั่งพ่อแม่ที่บังคับให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน วันที่เกี้ยวมารับเจ้าสาวที่บ้าน จู้อิงไถ่ขอให้หยุดเกี้ยวระหว่างทาง เพื่อนางจะได้คารวะหลุมศพของเหลียงซานป๋อเป็นครั้งสุดท้าย ทันใดก็เกิดนิมิตรประหลาดท้องฟ้าแปรปรวนเกิดลมพายุ หลุมศพของเหลียงซานป๋อแยกเปิดออก จู้อิงไถ่กระโดดลงไปหลุมฝังศพก็ปิดดังเดิม ลมพายุก็สงบ ดอกไม้ผลิบานผีเสื้อโบยบิน

เมิ่งเจียงหนี่ว์

เมี่งเจียงหนีว์ (ภาพจาก www.thepaper.com)

เมิ่งเจียงหนี่ว์เป็นชื่อนางเอกของเรื่อง เธอแต่งงานได้ไม่นานสามี-ว่านสี่เหลียงก็ถูกทางการเกณฑ์ไปสร้างกําแพงเมืองจีน ผ่านไปหลายปีก็ไม่มีข่าวคราวใดๆ เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อากาศก็หนาวเหน็บขึ้นทุกวัน ๆ นางคิดถึงสามีที่อยู่ไกลออกไปทางตอนเหนือว่าเขาจะต้องทนหนาวเพียงใด จึงลงมือเย็บเสื้อกันหนาวด้วยตัวเอง แล้วออกเดินทางตามหาว่านสี่เหลี่ยงที่ไปสร้างกําแพงเมืองจีน จึงได้รู้ว่าสามีนางเสียชีวิตแล้ว ส่วนศพของเขาถูกนำไปฝังในกำแพงเหมือนกับคนงานอื่น ๆ ที่เสียชีวิตระหว่างการก่อสร้างกำแพงหมื่นลี้

นางเมิ่งเจียงหนี่ว์เป็นลมล้มพับไปกับพื้น เมื่อฟื้นขึ้นมาเธอร้องไห้อย่างเจ็บปวดอยู่ที่หน้ากําแพง เสียงร้องไห้และความโศกเศร้าของนางสะเทือนถึงฟ้าดิน ทำให้เกิดเหตุอัศจรรย์ลมหนาวส่งเสียงคํารามลั่น ดวงอาทิตย์มืดดับ ฟ้าดินสั่นสะเทือน เกิดเสียงดังสนั่น แล้วกําแพงบางส่วนก็พังทลายลงมา (มีบางตำนานว่าเพื่อให้นางได้เห็นศพสามีที่ถูกฝังอยู่ในกำแพง)

สรุปว่าทั้ง 4 เรื่องเป็นโศกนาฏกรรมรัก การที่พวกเขาต้องถูกพรากจากกันก็ด้วยความแตกต่างของฐานะทางสังคม, จารีตประเพณี, การกดขี่ของผู้ปกครองและอำนาจรัฐ ฯลฯ

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงเห็นเช่นกันว่า เมิ่งเจียงหนี่ว์และสามีคือประชาชนที่ถูกกดขี่จากอำนาจรัฐและผู้ปกครอง, นางพญางูขาวกับบัณฑิตหนุ่ม ปีศาจงู-ความชั่ว อธรรม ส่วนมนุษย์-ความดี ธรรมะ ที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ในสายตาของนักบวช, หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า คือภาพสะท้อนของปัญหาชนชั้น ระบบศักดินา, ม่านประเพณี แสดงถึงจารีตประเพณี ความเชื่อ ระเบียบสังคมที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้คน เช่นนั้นฉากเหตุอัศจรรย์ที่ฟ้าดินวิปริต จึงน่าจะแทนพลังของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับภาษิตจีนที่ว่า “น้ำรองรับเรือได้ ก็ล่มเรือได้”

พิจารณาดูเรื่องรักจำพรากแบบนี้ในนิทานหรือวรรณกรรมของไทยก็มีเช่นกัน และบางเรื่องมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เช่น หนุ่มเลี้ยงควายกับสาวทอผ้า-พระสุธน มโนราห์, นางพญางูขาว-นาคี, ม่านประเพณี-แผลเก่า ฯลฯ

นิทานที่บอกเล่ากันปากต่อปากเหล่านี้ จึงไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่เป็นการเผยแพร่ข่าวสาร ความคิด ฯลฯ สู่ผู้คนได้อย่างรวดเร็ว ในวันที่โลกยังไม่มีไวไฟ  


ข้อมูลจาก

ถาวร สิกโกศล. เทศกาลและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน 2557

หลี่เฉวียน. (เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล) ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน 2556

วิทยาลัยภาษาจีนปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยครูหนานจิง, มหาวิทยาลัยครูอันฮุย. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ 2550


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562