ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
จีน และ ญี่ปุ่น เป็น “อริ” กันตั้งแต่อดีต จากสงครามนานกิง และปัจจุบันจากกรณีพิพาทกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะเซนกากุ (ตามที่ญี่ปุ่นเรียก) หรือหมู่เกาะเตียวหยู (ในภาษาจีน) แต่ทั้งสองประเทศกลับมี เทศกาลแห่งความรัก วันเดียวกัน และมีตำนานบอกเล่าเกี่ยวกับความรักเรื่องเดียวกัน
นั่นก็คือ “เทศกาล 7 ค่ำ เดือน 7” (ตามปฏิทินจันทรคติ)
จีน เรียก เทศกาล 7 ค่ำ เดือน 7 ว่า “เทศกาลชีซี” (七夕节) มีที่มาเกี่ยวกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนสมัยโบราณ ที่เกี่ยวกับดาวหนุ่มเลี้ยงควายกับดาวสาวทอผ้า จนเกิดเป็นตำนานของเทศกาลนี้
ดาวหนุ่มเลี้ยงควาย (Altair) กับดาวสาวทอผ้า (Vega) เป็นหมู่ดาวที่อยู่กันคนละฟากของทางช้างเผือก ห่างกัน 16 ปีแสง คนจีนโบราณสังเกตพบว่า ดาวสาวทอผ้าจะสุกสว่างมากเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่วัน 1 ค่ำ เดือน 7 และสุกสว่างมากที่สุดในคืนวัน 7 ค่ำ เดือน 7 เช่นเดียวกับดาวหนุ่มเลี้ยงควาย ดาวทั้งสองจึงเป็นสัญญาณบอกว่าถึงฤดูใบไม้ร่วงของผู้คนในอดีต
จากปรากฏการณ์ของธรรมชาติก็พัฒนาเป็นตำนานความรักต่างชนชั้น
เมื่อหนุ่มเลี้ยงควายได้พบรักกับสาวทอผ้า (ซึ่งเป็นเทพธิดาดาวสาวทอผ้า) ทั้งสองอยู่กินฉันสามีภรรยาจนมีลูกด้วยกัน แต่เมื่อเจ้าแม่แห่งสวรรค์ (ซีหวางหมู่) รู้เรื่องเข้า ก็สั่งให้สาวทอผ้ารีบกลับสวรรค์ และใช้ปิ่นปักผมกรีดท้องฟ้าให้เป็น “ทางช้างเผือก” ขวางทั้งคู่ แต่เทวราชแห่งสวรรค์ (เทียนตี้) เวทนา จึงประทานพรให้ทั้งคู่พบกันปีละครั้งในคืนวัน 7 ค่ำ เดือน 7 โดยนกสาลิกาปากดำบินต่อกันเป็นสะพานข้ามทางช้างเผือกให้ทั้งคู่
ญี่ปุ่น เรียกเทศกาล 7 ค่ำ เดือน 7 ว่า “เทศกาลทานาบาตะ” (七夕まつり) มีเรื่องดวงดาวที่แสดงว่าเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงเช่นเดียวกัน มีตำนานรักว่า เจ้าหญิงแห่งสวรรค์ทอผ้าเก่ง จึงมีหน้าที่ทอผ้าให้กับเหล่าเทพ เกิดรักกับหนุ่มเลี้ยงวัวและแต่งงานกัน หากความรักทำให้พวกเขาละเลยหน้าที่ ผู้ปกครองสวรรค์หรือพ่อเจ้าหญิง จึงลงโทษด้วยการพรากทั้งคู่ด้วยทางช้างเผือก แต่ก็สงสารทั้งคู่จึงให้โอกาสพบกันปีละครั้งคือ วัน 7 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งนกคะซะซะกิ จะมารวมตัวกันเป็นสะพานข้ามทางช้างเผือกให้ ทว่ามีเงื่อนไขว่าทั้งสองต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีก่อน
หากในการจัดงานปัจจุบัน มีการจัดกันอยู่ 3 วัน คือ 1. วัน 7 ค่ำ เดือน 7 (จัดตามปฏิทินจันทรคติ) แต่ละปีวันที่จัดจะเปลี่ยนไป เช่น ปี 2566 ตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม ปี 2567 ก็จะเปลี่ยนเป็นวันอื่น หากมักอยู่ในเดือนสิงหาคม 2. วันที่ 7 กรกฎาคม (เข้าใจว่ายึดตามปฏิทินสากล) 3. จัดวันที่ 7 สิงหาคม
ใน “คู่กรรม” โกโบริก่อนตายบอกอังศุมาลินว่า จะไปรอที่ทางช้างเผือก ก็อิงคติตำนานเรื่องรักนี้เช่นกัน
แต่ในประเทศจีน ยังมีเทศกาลบอกรักอื่นๆ อีก ได้แก่ “เทศกาลโคมไฟ” หรือ “เทศกาลหยวนเซียว” ซึ่งตรงกับวัน 15 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นคืนเพ็ญแรกของปี บรรยากาศโรแมนติก ส่วนที่จัดให้เป็นวันแห่งความรักด้วย เพราะสังคมจีนในอดีต ไม่ค่อยอนุญาตให้ผู้หญิงออกนอกบ้านโดยเฉพาะเวลากลางคืน แต่ในเทศกาลนี้พวกเธอออกไปเที่ยวเป็นกลุ่มได้ ทำให้มีโอกาสพบปะกับเพศตรงข้าม นักคติชนวิทยาจีน จึงเสนอให้เป็นวันแห่งความรัก
ขณะที่เทศกาลแห่งความรักในปัจจุบัน ก็ไม่ได้มีแค่ วันวาเลนไทน์
หากยังมี “วันที่ 20 พฤษภาคม” หรือ “520” (五二零) ที่ออกเสียงภาษาจีนว่า “หวู่เอ้อหลิง” ที่สำหรับชาวจีน ขอย้ำว่าชาวจีน มันพ้องเสียงกับคำว่า “我爱你-หว่ออ้ายหนี่” ที่แปลว่า “ฉันรักคุณ” วันที่ 20 พฤษภาคม จึงเป็นวันแห่งความรักด้วย ส่วนเลข 520 ก็เป็น “คำบอกรัก” ที่คนจีนชอบใช้ในการบอกรัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เหมือนที่คนไทยใช้ “555” แทนเสียงหัวเราะ
ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็มียังมี “ไวท์ เดย์” (White Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ที่ชายหนุ่มเอาช็อตโกแลตไปให้หญิงสาว หลังจากรับช็อตโกแลตจากเธอไปเมื่อ 14 กุมภาพันธ์
แม้ทั้งสองประเทศจะมีเทศกาลแห่งความรักหลายวันใน 1 ปี แต่สถิติการแต่งงาน และจำนวนประชากรเกิดใหม่กลับลดลง
อ่านเพิ่มเติม :
ข้อมูลจาก :
ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม 2557
“七夕まつり Tanabata Matsuri เทศกาลทานาบาตะ”. เพจ The Japan Foundation, Bangkok
“บ่าวสาวชาวจีนไม่หวั่นโควิด-19 จูงมือร่วมพิธีวิวาห์ ‘520’ ในแคนาดา”. https://www.xinhuathai.com
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเม่ื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2566