ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
ค่านิยมทางเพศของชนชั้นสูงจีนยุคโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่น มีบันทึกเรื่องราวความรักอันโด่งดังระหว่างฮ่องเต้หรือจักรพรรดิอ้ายแห่งราชวงศ์ฮั่น (Emperor Ai of Han Dynasty) กับเด็กหนุ่มคนรักของพระองค์ ซึ่งสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความรักระหว่างผู้ชายด้วยกันของคนจีนยุคนั้นได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะค่านิยมของจักรพรรดิและชนชั้นสูง
เรื่องเล่านี้ระบุว่า ขณะจักรพรรดิอ้ายบรรทมช่วงกลางวันในพระราชวังหลวงเมืองฉางอาน (ซีอานในปัจจุบัน) ทรงฉลองพระองค์ด้วยเสื้อคลุมแขนยาวแบบโบราณ ตงเสียน (Dong Xian) หนุ่มคนรักวัย 20 ปี ได้นอนทับอยู่บนแขนเสื้อข้างหนึ่งของพระองค์ ด้วยความรักอันอ่อนโยนที่จักรพรรดิมีต่อตงเสียน พระองค์ลุกจากบรรทมโดยตัดแขนเสื้อออกแทนที่จะปลุกตงเสียนให้ตื่น
“ตำนานรักตัดแขนเสื้อ” แพร่กระจายไปทั่วพระราชวังหลวง เหล่าข้าราชบริพารของจักรพรรดิต่างพากันตัดแขนเสื้อข้างหนึ่งของตนเพื่อแสดงความจงรักภักดี เรื่องเล่านี้อยู่เหนือกาลเวลาจนวลี “the passion of the cut sleeve” ถูกใช้สื่อถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชายสองคนไปในที่สุด

อันที่จริงจักรพรรดิจีนหลายพระองค์ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han dynasty, 206 ก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 220) ล้วนมีความสัมพันธ์กับทั้งผู้ชายและพระมเหสีหรือชายาของตน
Bret Hinsch นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยกวาง (Guang University) ของไต้หวันยืนยันในหนังสือ Passions of the Cut Sleeve: The Male Homosexual Tradition in China โดยระบุว่ามีจักรพรรดิ 10 องค์ในเวลาสองศตวรรษแรกของยุคราชวงศ์ฮั่นแสดงตนอย่างเปิดเผยด้วยการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชาย ซึ่งจักรพรรดิอ้ายคือ 1 ใน 10 องค์นั้น พวกเขาล้วนมี “ชายคนสำคัญ” ของตนเอง
รายชื่อขงจักรรดิและชายคนสำคัญมีอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ของซือหม่าเชียน (Sima Qian) หรือ ตำราฉือจี้ (The Shiji) ที่เขียนราว 85-100 ปีก่อนคริสตกาล และตำราราชวงศ์ฮั่น (The Hanshu) ซึ่งเขียนราว ค.ศ. 80-111
บันทึกประวัติศาสตร์ของซือหม่าเซียนกล่าวว่า ไม่ใช่แค่สตรีที่สามารถใช่รูปลักษณ์เพื่อดึงดูดสายตาและสร้างความสำราญแก่จักรพรรดิหรือพระราชวงศ์ ข้าราชการและขันทีก็ช่ำชองในเรื่องนี้ ข้าราชบริพารฝ่ายชายหลายคนในสมัยโบราณจึงเป็นที่โปรดปราณ ทั้งจักรพรรดิเกา, จักรพรรดิฮุ่ย, จักรพรรดิจิ้ง และจักรพรรดิโจว ล้วนปรากฏพระนามพร้อมชื่อชายคนสำคัญที่เชื่อได้ว่ามีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกัน บันทึกอายุกว่าสองพันปีนี้คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันรสนิยมของฮ่องเต้จีนในยุคนั้น
Vincent E. Gil นักมานุษยวิทยาการแพทย์กล่าวในวารสาร the Journal of Sex Research ว่าประเทศจีนมีประวัติศาสตร์รักร่วมเพศของบรรดาราชวงศ์มาอย่างยาวนานก่อนการปฏิวัติในปี 1949 ความรักใคร่ของชนชั้นสูงกับคนเพศเดียวกันได้รับยกย่องให้เป็นคุณธรรมอันสูงส่ง วรรณกรรมที่รอดพ้นจากการทำลายในยุคปฏิวัติจีนล้วนบ่งชี้ตรงกันว่า “รักร่วมเพศ” ได้รับการยอมรับในราชสำนักและแถมเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ขุนนางและชนชั้นสูง
มีหลักฐานเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักระหว่างผู้ชายที่สืบย้อนไปถึงก่อนยุคราชวงศ์ฮั่น โดยเป็นเรื่องราวยุคราชวงศ์โจว (The Zhou dynasty, 1046-256 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งนำไปสู่วลีอันติดปากคล้าย “ตำนานรักตัดแขนเสื้อ” อยู่ในงานเขียนของหานเฟย (Han Fei) นักปรัชญาในยุครณรัฐหรือจ้านกว๋อ (Zhanguo) เล่าถึง มีสื่อเซวีย (Mi Zixia) ชายหนุ่มผู้ปรารถนาความรักจากเจ้าผู้ครองแคว้นเว่ยนามว่า หลิง (Duke Ling of Wei) เขามีชีวิตอยู่ในช่วง 534-493 ปีก่อนคริสตกาล

งานเขียนเล่าว่า ขณะที่มีสื่อเซวียติดตามเจ้าผู้ครองแคว้นเว่ยอยู่ภายในสวน ด้วยความหิว เขาขออนุญาตเจ้านายของตนแล้วเด็ดลูกท้อ (Peach) มากิน เมื่อเขากัดลูกท้อแล้วพบว่าท้อลูกนั้นรสหวานชื่นใจจึงมอบให้แก่หลิงทันที สร้างความซาบซึ้งใจแก่หลิง หลิงกล่าวชื่นชมความรักของมีสื่อเซวียที่ปรารถนาจะมอบสิ่งที่ดีแก่เขาจนลืมความหิวของตนเอง “ตำนานรักกัดลูกท้อ” และวลี “the bitten peach” พร้อมชื่อของมีสื่อเซวียจึงเป็นเหมือนคำขวัญความรักระหว่างชายกับชายคล้ายตำนานรักตัดแขนเสื้อ และมีนัยที่สื่อถึงผู้ชายที่ต้องการคู่นอน
ทั้งตำนานรักตัดแขนเสื้อ และ ตำนานรักกัดลูกท้อ ล้วนเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์แบบ Y หรือชายรักชาย ในบันทึกกึ่งตำนานอันเก่าแก่ของจีน วัฒนธรรม Y ในโลกสมัยใหม่เองก็กำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะซีรีส์วายไทยซึ่งเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่กิจกรรมใหญ่แห่งปีของ FEED ในงาน “FEED Y CAPITAL เมืองหลวงของซีรีส์วาย”
Feed Y Capital 24 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ที่ SIAM SQUARE ลานจอดรถที่ 3 (SEE FAH) พบกับนักแสดงซีรีส์ Y มากมาย และงานนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย
รายละเอียดเพิ่มเติม : feedforfuture.co/feed-read/7152
อ้างอิง :
เว็บเกย์อ้าง “ฮ่องเต้ฮั่น” ส่วนใหญ่เคยผ่านประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน
In Han Dynasty China, Bisexuality Was the Norm: JSTOR Daily
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2565