ต้นตอ “นิทานเวตาล” กับลักษณะของ “เวตาล” ปีศาจช่างพูด-นักเล่าเรื่อง

เวตาล นิทานเวตาล
"เวตาล" จากหนังสือ นิทานเวตาล ฉบับกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (ภาพจาก Wikimedia Commons) - ปรับแต่งกราฟิกเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

นิทานเวตาล หรือ “เวตาลปัญจวิงศติ” เป็นวรรณกรรมสันสกฤตโบราณอันประกอบด้วยนิทาน 24 เรื่อง ที่เล่าโดย “เวตาล” อมนุษย์นักเล่านิทานภายในเรื่อง นิทานเวตาลนี้รวมอยู่ในหนังสือ กถาสริตสาคร ของปราชญ์อินเดียนาม โสมเทวะ

ว่ากันว่า กวีชื่อ ศิวทาส เป็นผู้เล่านิทานเวตาลเป็นครั้งแรก และเล่าขานต่อ ๆ กันมาไม่น้อยกว่า 2,500 ปีแล้ว เพราะเรื่องราวที่สนุกสนาน ชวนติดตาม นิทานเวตาลจึงโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาในความรู้สึกของผู้คนเสมอ นอกจากการนำเสนอแบบ “นิทานซ้อนนิทาน” ที่เป็นเอกลักษณ์ตามคติวรรณกรรมอินเดียแล้ว ตัวของ “เวตาล” ก็มีบุคลิกอันโดดเด่นอย่างมาก คือเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ช่างพูด ช่างเจรจา เหมือนจะอันตราย แต่หลากมิติ เวตาลอาจเป็นหนึ่งในปีศาจเพียงไม่กี่ตนในตำนานปรัมปราทั้งหลาย ที่ผู้คนไม่ได้รู้สึกจงเกลียดจงชังหรือรู้สึกว่าต้องกลัวอมนุษย์ตนนี้

นิทานเวตาล เป็นที่แพร่หลายในไทยเมื่อ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระบวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) หรือ น.ม.ส. ทรงแปลจากฉบับภาษาอังกฤษของ ริชาร์ด ฟรานซิส เบอร์ตัน ( Richard Francis Burton) และ ซี. เอช. ทอว์นีย์ (C. H. Tawney) เป็นนิทาน 10 เรื่อง ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ได้แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตจนครบ 25 เรื่อง

เนื้อเรื่องหลักของนิทานเวตาล เล่าถึงพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ที่โยคีเจ้าเล่ห์เข้าเฝ้ากราบทูลให้พระองค์ไปจับเวตาลมาให้ตนประกอบพิธีมหายัชญพิธี โดยเวตาลอาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ใจกลางสุสาน วิธีเดียวที่พระองค์จะจับเวตาลได้คือทำทุกอย่างด้วยความเงียบ ไม่ปริปากพูดจาสิ่งใดทั้งสิ้น มิฉะนั้น เวตาลจะหนีกลับทันที แต่ทุกครั้งที่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ทรงจับเวตาลได้ มันหลอกล่อพระองค์โดยเล่านิทานให้ฟังแล้วจบเรื่องด้วยคำถามจากนิทานนั้น

เวตาลยังสาปพระเจ้าวิกรมาทิตย์ด้วยว่า หากทรงทราบคำตอบ แต่ไม่ยอมเอ่ยคำตอบ พระเศียรของพระองค์จะต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ พระเจ้าวิกรมาทิตย์จึงตอบคำถามจากนิทาน แล้วเวตาลก็หนีกลับไปยังต้นไม้ดังเดิม พระองค์จึงวนกลับไปเอาตัวเวตาลอีก เป็นอยู่เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (จากนิทานเรื่องแล้วเรื่องเล่า) นี่คือที่มาของนิทานเวตาลทั้ง 24 เรื่องนั่นเอง

สงสัยกันไหมว่า แท้จริงแล้วลักษณะของนักเล่านิทานอย่าง “เวตาล” เป็นอย่างไรแน่?

มีการอธิบายรูปร่างและรูปลักษณ์ของเวตาลไว้ค่อนข้างหลากหลาย ในหนังสือ นิทานเวตาล ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่แปลจากฉบับภาษาอังกฤษของเบอร์ตัน ระบุรูปร่างเวตาลว่า “คล้ายค้างคาว” แต่มีหางเป็นท่อนสั้น ๆ เหมือนหางแพะ มักเขียนรูปเวตาลเป็นค้างคาวตัวใหญ่เกาะอยู่ด้วยท่าห้อยหัวตาเบิกโพลง ตาเป็นสีน้ำตาลปนเขียว ขนสีน้ำตาล หน้าก็สีน้ำตาล ตัวผอมเห็นโครงกระดูกชัดเจน ร่างกายเย็นชืด ผิวหนังเหนียวคล้ายงู หากใครได้พบเห็นเวตาล สิ่งเดียวที่บ่งบอกว่าเจ้าตัวนี้มีชีวิตคือหางที่มักกระดิกไปมา

มอเนียร์ วิลเลียมส์ (Monier-Williams) และวามนศิวรามอัปตะ กล่าวในดิกชันนารีเพียงว่า “เวตาลเป็นผีชนิดหนึ่งซึ่งสิงศพ”

​กถาสริตสาคร หนังสือรวบรวมนิทานและตำนานปรัมปราอินเดีย อธิบายว่า “เวตาลมีกลิ่นเหมือนเนื้อโสโครก บินไปบินมาดำเหมือนกลางคืน ความดำแข่งคู่กันกับควันอันเป็นกลุ่มขึ้นจากไฟเผาศพ”

เวตาล
ภาพเวตาล โดย Ernest Griset จากหนังสือนิทานเวตาลฉบับเบอร์ตัน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หนังสืออื่น ๆ กล่าวถึงลักษณะเวตาลคล้าย ๆ กัน คือเป็นอมนุษย์ คล้ายค้างคาวผี ปรัมปราฮินดูบอกว่าเวตาลคือภูตที่อาศัยอยู่ในซากศพ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเดินทางในตอนกลางวัน ขณะที่อาศัยในศพ ศพนั้นจะไม่เน่าเปื่อย ก่อนจะออกจากศพตอนกลางคืนเพื่อหาอาหาร เนื่องจากเป็นวิญญาณร้ายที่สิงสู่ศพ มันอาจทำร้ายมนุษย์ที่เข้าไปรบกวน ลักษณะของเหยื่อที่ถูกเวตาลสิงคือมือและเท้าจะหันไปข้างหลัง

พราหมศรีมเหศวรภัฏฏ อธิบายถึงเวตาลว่า อยู่ในจำพวก “มรุตคณะ” คือเป็นเทวดาจำพวกหนึ่ง เป็นบุตรนางอทิติ และเป็นผู้ติดตามพระรุทระ (อีกภาคหนึ่งของพระศิวะ ถือเป็นเทพแห่งลมและพายุ) กับนางภัทรา ปกติเวตาลจะท่องเที่ยวอยู่ตามหนอง ตามพุ่มไม้ ตามป่ารกทึบและมืดอับ บางครั้งจะท่องไปกับลมพายุและฟ้ามืดมัว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเวลากลางคืน

พิจารณาจากข้อมูลนี้ เวตาลมีความคล้ายผีกระสืออยู่เหมือนกัน หรืออธิบายให้เป็นวิทยาศาสตร์อีกนิดคือ เวตาลดูจะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่ก๊าซในหนองน้ำลอยขึ้นมากระทบออกซิเจนในอากาศจนเกิดแสงเป็นดวง เป็นคำอธิบายเดียวกับที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์แสงกระสือนั่นเอง

เวตาลสูงประมาณ 2-3 ฟุต กว้าง 1.5 ฟุต อกถึงหลังหนา 0.5-1 ฟุตเห็นจะได้ ผมดกยาว ขนตามตัวก็ยาว หัวกลม หน้ารูปไข่ ตากลมและถลน จมูกยาวเป็นขอเหมือนปากเหยี่ยว ปากอ้า แก้มตอบ คางและขากรรไกรกว้าง ฟันแหลม แขน-มือสั้น ขาสั้น พุงพลุ้ย เล็บคม ปีกแข็งแรงมาก เมื่อเวตาลบินหาอาหารในเวลากลางคืน จะอ้าปากกว้างเห็นเป็นดวงไฟ ทำให้สัตว์ตกใจผละหนีจนเผยตัวจากที่ซ่อน เวตาลก็จะพุ่งไปโฉบกิน

เวตาลถือเป็นข้ารับใช้พระรุทระ หากใครบูชาหรือท่องมนตร์สรรเสริญพระรุทระ เวตาลมักจะไม่ทำร้าย เช่น พระนางจันทรมตีแบกศพโรหิตากษะผู้เป็นพระโอรสไปเผาในเวลาเที่ยงคืน หรือนางทมยันตีเที่ยวตามพระนลกลางป่าองค์เดียว เวตาลก็ไม่ได้ทำร้าย

สำหรับพระเจ้าวิกรมาทิตย์ หลังจากตอบคำถามนิทานเวตาลมาจนถึงเรื่องสุดท้าย เมื่อพระองค์ไม่ทราบคำตอบจึงเลือกที่จะเงียบ ทำให้เวตาลพอใจในตัวกษัตริย์พระองค์นี้มาก เพราะทรงซื่อตรง กล้าหาญ และไม่ย่อท้อ จึงเผยความจริงถึงแผนการร้ายของโยคี ที่ตัวพระองค์เองจะถูกใช้เป็นเครื่องสังเวยด้วย ก่อนจะแนะนำแผนจัดการโยคีเจ้าเล่ห์จนเป็นผลสำเร็จ

เหตุการณ์เสด็จไปจับเวตาลแบบวนเวียนซ้ำ ๆ หลังการตอบคำถามของพระเจ้าวิกรมาทิตย์นี้เรียกว่า “ไวตาลียโยคะ” ถือเป็นการบำเพ็ญเพียรที่เพิ่มพูนบารมีแก่พระองค์อย่างสูง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์; พระราชวรวงศ์เธอ. นิทานเวตาล. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว. ปั้ม มาลากุล. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนาการ. (ในห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ)

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. นิทานเวตาล (เวตาลปัญจวิงสติ). Dhamaintrend แบ่งปันและเผยแพร่. (PDF Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2566