ดูยุคตะวันตกตื่นกลัว “ซาตาน” อย่างหนัก มองสิ่งไม่ชอบมาพากลว่ามี “ปีศาจ” อยู่เบื้องหลัง

ปีศาจ ซาตาน Tartini's Dream เข้าฝัน
ภาพ "ปีศาจ" ในภาพวาดชื่อ Tartini's Dream (ค.ศ. 1824) โดย Louis-Léopold Boilly ไฟล์ public domain

ในอดีตกาลมนุษย์เคยหวาดกลัวสิ่งที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีอยู่หลายครั้งที่มักปรากฏคำอธิบายสิ่งที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ คำอธิบายบางอย่างไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักเหตุและผล ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างในช่วงเวลานั้น น่าเสียดายที่คำอธิบายบางกรณีซึ่งยึดโยงกับฐานคิดแบบ “ความเชื่อ” ย้อนกลับมาส่งผลต่อวิถีชีวิตผู้คนในแง่ลบ ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจริงคือความตื่นกลัวต่อความเชื่อเรื่อง “ซาตาน” ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ยุค 80s มาจนถึงยุค 90s หรือบางแห่งยังมองว่า สืบเนื่องมาจนถึงยุคนี้ด้วยซ้ำ

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคสมัยแห่งการล่าแม่มดตั้งแต่ค.ศ.1560-1760 พฤติกรรมที่แปลกแตกต่างออกไปจากมาตรฐานสังคมสุ่มเสี่ยงจะถูกนิยามว่าจัดเป็นพฤติกรรมของแม่มด/พ่อมด

แม้แต่ประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ในอดีตก็เคยมีการพิจารณาคดีบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเป็นแม่มดในช่วงค.ศ. 1692 จนถึงกลางปี 1693 หลายคนรู้จักในนาม Salem Witch Trials ซึ่งในระยะเวลานั้น มีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด/พ่อมดรวมแล้วหลักร้อยราย ถูกตัดสินแขวนคอไปหลายสิบราย

ความเชื่อเรื่อง “ปีศาจร้าย/สิ่งชั่วร้าย” (ซึ่งมีคำเรียกแตกต่างกันออกไป) ไม่ได้วนเวียนอยู่แค่ในพื้นที่เดียว หลายประเทศในทวีปยุโรปต่างมีความเชื่อเรื่องนี้ลึกไปจนถึงเรื่องพฤติกรรมทางเพศ กรณีตัวอย่างมาร์กาเร็ต โจนส์ หญิงวัยกลางคนรายหนึ่งในเมืองบอสตันถูกจับและตั้งข้อหาเป็นแม่มด เมื่อตรวจสอบอวัยวะเพศของเธอ (และคลิตอริส) แล้วพบอาการบอบช้ำ ในด้านหนึ่งเพื่อนบ้านของเธอสามารถยืนยันได้ว่าเรื่องนี้เป็นผลจากการคลอดบุตรผิดวิธี แต่นักล่าแม่มด (ที่ความรู้ด้านกายวิภาคมีจำกัด) ก็ไม่รับฟังข้อแก้ตัวนี้ (อนุสรณ์ ติปยานนท์, 2558)

ทั้งนี้ สภาพการใช้อวัยวะเพศของเพศหญิงเข้ามาเป็นเครื่องชำระความเกิดขึ้นในหลายประเทศในทวีปยุโรป อาทิ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส โดยในการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจำเป็นต้องถามถึงกิจกรรมทางเพศระหว่างผู้หญิงกับคู่รักหรือสามี เพิ่มเติมจากการไต่สวนว่าผู้หญิงมีกิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างปีศาจร้ายหรือไม่ ซึ่งในแง่หนึ่ง อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่าแม่มด” มองว่า การว่าความโดยเพศชายไม่ใช่แค่การแสวงหาความจริง แต่ยังเป็นการแสวงหาความเพลิดเพลินอีกแบบด้วย

เวลาล่วงเลยมาถึงช่วงศตวรรษที่ 20 ในยุค 1980s สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศมหาอำนาจภายหลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม อเมริกายังพบปัญหาสังคมเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อและอาจพอกล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่กระจายไปในสังคมวงกว้างจนส่งผลต่อชีวิตผู้คนมากกว่าที่คิด

อันที่จริงแล้วคำว่า “ปีศาจร้าย” ในประวัติศาสตร์ปรากฏในหลายรูปแบบ คำหนึ่งซึ่งปรากฏในทฤษฎีสมคบคิดยุคหลังคือคำว่า “ซาตาน” แม้ว่านักวิจัยและนักประวัติศาสตร์ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อทางสังคมในประวัติศาสตร์ล้วนชี้ว่า “ซาตาน” (Satan) ในรูปแบบความเชื่อของชาวคริสเตียนตะวันตกแทบไม่ปรากฏคำนี้โดยตรงในหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาของชาวยิวหรือในกลุ่มศาสนายูดาห์ (Judaism) แบบดั้งเดิม แต่พบว่า “ซาตาน” เริ่มมาปรากฏในแหล่งอ้างอิงจากกลุ่มชาวยิวในช่วงหลังของยุคโบราณ

Elaine Pagels เจ้าของผลงานศึกษาวิจัยเรื่อง “ประวัติศาสตร์สังคมของซาตาน” (The Social History of Satan, the “Intimate Enemy”: A Preliminary Sketch) ตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambrige) เมื่อปี 2011 อธิบายไว้ว่า “ซาตาน” เริ่มปรากฏในหลักฐานที่อยู่ระหว่าง 165 ปีก่อนสากลศักราช จนถึง ค.ศ. 100 หลังจากนั้นมา “ซาตาน” ในความเข้าใจรูปแบบผู้นำ “อาณาจักรแห่งความชั่วร้าย” เป็นกองทัพวิญญาณอันตรายซึ่งชื่นชอบเห็นมนุษย์ประสบสภาพพินาศย่อยยับ ค่อยๆ พัฒนารูปแบบและปรากฏจำนวนเพิ่มขึ้นในแหล่งข้อมูลจากกลุ่มชาวยิวรุ่นหลังกระทั่งหลายทศวรรษต่อมา “ซาตาน” และ “สาวกปีศาจ” ทั้งหลายจึงเริ่มมีที่ทางปรากฏในความเชื่อของหมู่ชาวคริสต์

คำศัพท์และภาพการรับรู้ถึง “ซาตาน” แพร่กระจายไปปรากฏในวัฒนธรรมความเชื่อของผู้คนแทบทั่วโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากในช่วงเวลารอบ 2-3 ปีมานี้ คำว่า “ซาตาน” ยังปรากฏในสื่อร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์และซีรีส์มากมายทั้งในตะวันตกและเอเชีย แม้แต่ผลงานที่ผลิตขึ้นในไทยก็ปรากฏการวาง “ซาตาน” อยู่ในภูมิหลังของตัวละคร ดังเช่นผลงาน “เด็กใหม่” (Girl from Nowhere) ซีรีส์ในแพลตฟอร์ม Netflix ซึ่ง “ซาตาน” ถูกอธิบายว่าเกี่ยวพันกับตัวละครหลักในเรื่อง เป็นความสัมพันธ์แบบ “ผู้ให้กำเนิด-ลูก”

ย้อนกลับไปในบริบทพื้นที่ตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาตามหัวข้อเรื่องเดิมอีกครั้ง ความเชื่อเรื่อง “ซาตาน” อันเป็นรูปแบบความชั่วร้ายเหนือธรรมชาติในลักษณะทฤษฎีสมคบคิดยังคงวนเวียนในถึงในช่วงศควรรษที่ 21 ปรากฏการณ์ที่อาจยังอยู่ในความทรงจำของหลายคนคือบรรยากาศในยุค 80-90s

ต้นทศวรรษ 1980s สังคมอเมริกามีทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่หลายว่า กลุ่มลัทธิพิธีที่เชื่อเรื่องซาตานเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการละเมิดเด็กที่เกิดขึ้นไปทั่วประเทศ สื่อมวลชนและรายการข่าวต่างๆ เป็นช่องทางหนึ่งที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายอารมณ์ความรู้สึกหวาดกลัว ผู้ปกครองหลายรายถึงกับไปขุดค้นสถาบันศึกษาก่อนอนุบาล (preschool) เพื่อพิสูจน์ว่ามีอุโมงค์ลับหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลข้อสังเกตถึงสัญลักษณ์นอกรีต จำเลยทางสังคมที่ตกเป็นเป้าโจมตีด้วยข้อหาที่ไม่มีมูลความจริงกลายเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กในยุค 80s หรือในยุค 90s สังคมอเมริกันร่วมกันกล่าวหากันเองไปเองแบบผิดๆ ว่ากลุ่มเด็กวัยรุ่น 3 รายคือผู้ลงมือในคดีฆาตกรรมโดยอ้างอิงจากแค่เรื่องวิถีชีวิตแนวกอธ (Goth) ของเด็กทั้ง 3 ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานทางสังคม

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องดำเนินการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนหลายคดี แม้ว่าคดีความจะเข้าสู่ช่วงท้าย ข้อสงสัยต่างๆ เริ่มปรากฏข้อเท็จจริงมากขึ้น มีการลงโทษฝ่ายจำเลยไปแล้ว แต่ครอบครัวของเหยื่อยังคงบอบช้ำทางจิตใจ

เค็น แลนนิ่ง อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอซึ่งดูแลคดีล่วงละเมิดหลายกรณีกับฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า “ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่เรื่องการทำพิธีที่มาจากความเชื่อเรื่องซาตานแล้วไปล่วงละเมิดคนอื่นนั้นยังไม่จางหายไป”

“เมื่อผู้คนเอาอารมณ์เข้าไปอินกับเรื่องนี้ ความคิดในแง่สามัญสำนึกพื้นฐานและหลักการแบบเหตุและผลก็หลุดหายไป ผู้คนเชื่อในสิ่งที่พวกเขาเองต้องการจะเชื่อและอยากจะเชื่อ”

รายงานพิเศษจาก New York Times อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ Mary deYoung ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแกรนด์วัลเลย์สเตท (Grand Valley State) ซึ่งเธอเชื่อว่าหนังสือ Michelle Remembers ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1980 เขียนโดยจิตแพทย์ชาวแคนาดาเล่าเรื่องราวผู้เข้ารับการรักษารายหนึ่งที่มีความทรงจำเกี่ยวกับการล่วงละเมิดในวัยเด็กโดยกลุ่มผู้มีความเชื่อเรื่องซาตาน หนังสือเล่มนี้ส่งผลทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมในหมู่ชาวอเมริกัน

ช่วงเวลานั้นสุภาพสตรีเลือกออกไปทำงานกันมากขึ้นสืบเนื่องมาจากประเด็นเรื่องสิทธิสตรีประกอบกับสถานการณ์ในยุคที่อเมริกาเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันแนวคิดจารีตนิยมและเรื่องทางศาสนาก็ถูกพูดถึงเพิ่มขึ้น พ่อแม่ชาวอเมริกันยากจะหาสถานรับเลี้ยงเด็กที่ดีๆ ได้

แม้ว่าหนังสือเล่มนั้นจะถูกโต้แย้งอย่างรวดเร็วแต่กระแสนิยมในตัวหนังสือก็ส่งให้มันติดอันดับหนังสือขายดีไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป สังคมเริ่มเผชิญกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะในกลุ่มเหยื่อที่เป็นเด็ก Mary deYoung เชื่อว่า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนเริ่มเชื่อมโยงเหตุการณ์เข้ากับความเชื่อในรูปแบบทฤษฎีสมคบคิด ท้ายที่สุดสังคมจึงตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวและขยายตัวไปในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม นักเขียนบางรายให้ข้อมูลว่า ความหวาดกลัวต่างๆ อันมาจากความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา ลัทธิซาตานเริ่มมีเค้าลางมาตั้งแต่ปลายยุค 60s จนถึงยุค 70s ซึ่งมีคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญกรณีของลัทธิของชาร์ลส แมนสัน (Charles Manson) ที่ก่อเหตุฆาตกรรมสยดสยองขึ้น ตามมาด้วยสื่ออย่างหนังสือ The Satanic Bible ในปี 1969 สิ่งพิมพ์ที่รวบรวมบทความและเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อและพิธีซึ่งเชื่อกันว่าหนังสือเล่มนี้กลายเป็นอิทธิพลสำคัญอีกชิ้นที่มีต่อความเชื่อเรื่องซาตานในยุคสมัยใหม่

เมื่อมาถึงยุค 80s องค์ประกอบต่างๆ เริ่มผสมรวมเข้าด้วยกันจนปะทุขึ้น กรณีตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1983 ข้อกล่าวหามาจากสตรีในแมนฮัตตัน แคลิฟอร์เนีย เธอกล่าวหาเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานในสถานการศึกษาก่อนวัยอนุบาลว่า ล่วงละเมิดลูกชายของเธอ ในคดีนี้เจ้าหน้านี้ตำรวจส่งจดหมายไปถึงครอบครัวไม่ต่ำกว่า 200 ครอบครัวเพื่อร้องขอให้ช่วยร่วมมือในกระบวนการสอบสวน

ในปี 1986 เจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาลูกจ้างกลุ่มหนึ่งจำนวน 7 รายด้วยข้อกล่าวหาลวนลามเด็ก สัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่ทางการยกเลิกข้อกล่าวหา 5 รายจาก 7 รายโดยอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่คดีนี้กลายเป็นข่าวกระจายไปทั่วประเทศไปเสียแล้ว

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังพยายามเดินหน้าในคดีทั้งที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักฐานจากต้นทางที่กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาไปจนถึงคำให้การจากผู้มาให้สัมภาษณ์ ซึ่งหลักฐานหรือเบาะแสต้นทางบางส่วนมีเนื้อหาลักษณะผสมจินตนาการเข้าไปด้วย เช่น ลูกจ้างของสถาบันการศึกษาที่มีพฤติกรรมใช้เลือดจากสัตว์เพื่อสังเวยในพิธี สามารถบินไปไหนมาไหนได้และลงมือโดยไม่ทิ้งร่องรอย

ระหว่างยุคที่สังคมอเมริกันตกอยู่ในความหวาดกลัวเรื่องเกี่ยวกับซาตาน รายงานข่าวเผยว่า มีผู้ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมเกือบ 200 ราย และถูกตัดสินว่าผิดจริงอีกนับสิบราย ผู้โชคร้ายหลายรายได้รับอิสระหลังรับโทษนานหลายปี กรณีวัยรุ่น 3 รายที่เรียกกันว่า West Memphis Three ได้รับอิสระในปี 2011 เป็นเวลา 20 ปีให้หลังแล้วภายหลังพวกเขาถูกตัดสินว่าลงมือฆาตกรรมตามที่ฝ่ายอัยการผลักดันคดีว่า เป็นพฤติกรรม “บูชายัญตามความเชื่อแนวซาตาน”

แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว ความเชื่อเรื่องซาตานในสังคมอเมริกันยังคงปรากฏให้เห็นเป็นระยะ อาจไม่ใช่ “ความตื่นกลัว” ในวงกว้างแบบเดิม แต่รูปแบบของความสงสัยต่อเรื่องเหนือธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไปของมนุษย์ยังขับเคลื่อนให้แทบทุกสังคมยังมีภาวะ “ตื่นตัว” กับสิ่งเหล่านี้อยู่ ตั้งแต่การดึงเอาสัญญะในความเชื่อเรื่องทางศาสนามาปรากฏใน MV เพลง Montero (Call Me By Your Name) ของศิลปินอย่าง Lil Nas เมื่อต้นปี 2021 จนถูกตีความไปต่างๆ นานาเชื่อมโยงมาถึงซาตาน หรือซาตานในโลกตะวันออกอย่างซีรีส์ในไทยในปีเดียวกัน ไปจนถึงการเชื่อมโยงความเชื่อเข้ากับกลุ่มทางการเมืองฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า QAnon

เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและอิทธิพลของความเชื่อที่มีต่อมนุษย์แต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี และทำให้เห็นว่าสิ่งที่พึงระวังจริงๆ คงไม่ใช่ระวังความเชื่อแบบโดดๆ แค่ตัวของมันเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เมื่อความเชื่อเหล่านี้ถูกนำไปใช้จนสามารถมีอำนาจ มีอิทธิพลต่อบุคคลในวงกว้างถึงระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนในสังคมมากกว่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

อนุสรณ์ ติปยานนท์. ล่าแม่มด. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558

“คิทตี้ ชิชา กับการกลับมาของ ‘แนนโน๊ะ’ ลูกสาวซาตานที่ปังยิ่งกว่าเดิม”. มติชน. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 10 พฤษภาคม 2564.

Pagels, Elaine. The Social History of Satan, the “Intimate Enemy”: A Preliminary Sketch. Cambridge University Press, 2021.

Yuhas, Alan. “It’s Time to Revisit the Satanic Panic”. New York Times. Online. Published 31 MAR 2021. Access 10 MAY 2021. <https://www.nytimes.com/2021/03/31/us/satanic-panic.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2564