ผู้เขียน | บุตรแห่งกอนโดลิน |
---|---|
เผยแพร่ |
สีแดง ถูกมองว่าเป็นสีแห่งความรุนแรง ความรัก อันตราย ความร้อน ฯลฯ ส่วน สีเขียว ถูกมองว่าเป็นสีแห่งธรรมชาติ ความสงบ ความอุดมสมบูรณ์ ฯลฯ
แต่ทั้งสองสีนี้ครั้งหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นสีของปีศาจหรือความชั่วร้าย
ในพระคัมภีร์ฉบับวิวรณ์ (เล่มสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่) ได้กล่าวถึงสีแดงเอาไว้ว่า
“และมีอีกเครื่องหมายหนึ่งปรากฏในฟ้าสวรรค์; และดูเถิด, มังกรแดงใหญ่มหึมา, มีหัวเจ็ดหัวและเขาสิบเขา, และมงกุฎทั้งเจ็ดบนหัวเหล่านั้น. และหางของมังกรตวัดเอาส่วนที่สามของดวงดาวแห่งฟ้าสวรรค์ไป, และโยนดวงดาวเหล่านั้นไปยังแผ่นดินโลก. และมังกรยืนต่อหน้าหญิงซึ่งคลอดแล้ว, พร้อมจะขม้ำลูกของนางหลังจากคลอดออกมา.”
“สีแดง” จึงถูกมองว่าเป็นสีของสัตว์ร้ายหรือปีศาจเรื่อยมา และโดยเฉพาะในยุคหลังที่มักเห็นภาพของ “ซาตาน” ในรูปกายสีแดง
แต่การรับรู้ว่าปีศาจที่มีรูปกายสีเขียวแทนที่จะเป็นสีแดง เริ่มปรากฏขึ้นในโบสถ์ต่าง ๆ ทั่วยุโรป ในยุคกลาง เมื่อเกิดสงครามครูเสดขึ้น มิเชล ปาสตูโร คาดว่า ความจงเกลียดจงชังสีเขียวนี้สะท้อนไปถึงการใช้สีเขียวของกองทัพอิสลาม
การผูกโยง “สีเขียว” เข้ากับศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในพระคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งระบุถึงสีเขียวว่ามีความเชื่อมโยงกับพืชผัก ฤดูใบไม้ผลิ และสรวงสวรรค์ โดยแรกเริ่มที่ศาสนาดามะหะหมัดเผยแพร่ศาสนาในพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยทะเลทรายนั้น สีเขียวถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใดศาสนาดามะหะหมัดถึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายสีขาวให้เป็นชุดคลุมยาวและผ้าโพกศีรษะที่มีสีเขียว ซึ่งภายหลังสีเขียวถูกนำมาใช้เป็นสีประจำตระกูลของศาสนาดามะหะหมัด (ต่อมาในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามจึงมักใช้สีเขียวในธงชาติ)
ในช่วงสงครามครูเสด สีเขียวจึงถูกมองว่าเป็นสีของศัตรู เป็นสีของคนต่างศาสนา กองทัพของซาลาดินก็รับเอาสีเขียวมาใช้ประจำกองทัพซาราเซนของพระองค์ นี่จึงทำให้ชาวตะวันตกที่นับถือศาสนาคริสต์มองเห็นว่าสีเขียวคือสีของปีศาจหรือความชั่วร้าย
ดังปรากฏในจิตรกรรมที่มีชื่อว่า “The Devil holding up the Book of Vices to St. Augustine” (1471-1475) ผลงานของมิคาเอล พาเชอร์ ปีศาจตนนี้ถูกวาดออกมาให้มีรูปกายสีเขียวคล้ายสีโคลน
ในยุคต่อมา สีเขียวจึงถูกเชื่อมโยงกับปีศาจ ซาตาน สัตว์ประหลาด (อย่างงูยักษ์บาซิลิสก์) และโดยเฉพาะแม่มด ในวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์ “The Wizard of Oz” (1939) มาการเร็ต เฮมิลตัน ผู้รับบทเป็นแม่มดชั่วร้ายแห่งตะวันตก ก็มีรูปกายเป็นสีเขียว ซึ่งวรรณกรรมต้นฉบับนั้นมีรูปกายสีขาว
เนื่องจากสีสามารถสื่อความหมายออกมาได้หลากหลาย การที่สีแดงและสีเขียวถูกมองว่าเป็นสีของปีศาจนี้ก็ต้องอาศัยบริบทแวดล้อมเข้ามาประกอบด้วย มิใช่ตีตราว่าสีทั้งสองเป็นสีของความชั่วร้ายเสมอไป
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
พอล ซิมป์สัน เขียน, ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ แปล. (2565). The Colour Code รหัสนัยแห่งสี. กรุงเทพฯ : มติชน.
พระคัมภีร์ฉบับวิวรณ์. (2565), จาก <https://www.churchofjesuschrist.org/study/scriptures/jst/jst-rev/12?lang=tha>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2565