ย้อนประวัติ “อีสป” ผู้แต่งนิทานอมตะ กับคติสอนใจ “ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทรราชได้เสมอ”

อีสป ประวัติอีสป
อีสป (Aesop)

ย้อนประวัติอีสป ผู้แต่งนิทานอมตะ กับคติสอนใจ “ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทรราชได้เสมอ”

อีสป (Aesop) เป็นทาสชาวกรีกผู้แต่งนิทานอีสปที่ได้รับความนิยมทั่วโลกมาหลายยุคหลายสมัยยาวนานนับพันปี ประวัติของเขามีความคลุมเครือในหลายประเด็น เพราะขาดการบันทึกที่แน่ชัด และมีหลายทฤษฎีด้วยกัน

ชีวประวัติอีสป

บ้านเกิดและปีเกิดของอีสปยังเป็นเรื่องที่ต้องหาหลักฐานและคำตอบกันอยู่ แต่นักวิชาการลงความเห็นกันว่าเขาน่าจะเกิดในช่วง 620 ก่อนคริสตกาล และเป็นทาสโดยกำเนิด

นายทาสของอีสปเป็นชาวเกาะซาโมส (Samos) คนแรกชื่อ Xanthus และคนที่สองชื่อ Jadmon ซึ่ง Jadmon เป็นผู้ที่ให้อิสรภาพเป็นรางวัลแก่อีสป โดยเห็นแก่ความเป็นผู้ที่มีไหวพริบและสติปัญญาล้ำเลิศ

บ้านเกิดของอีสป ก็มีหลายสันนิษฐานที่เป็นไปได้คือ

1. เมืองซาร์ดิซ (Sardis) เมืองหลวงของราชอาณาจักรลีเดีย (Lydia) บนแผ่นดินใหญ่ด้านตะวันตกของดินแดนอนาโตเลีย หรือที่เรียกว่าเอเชียไมเนอร์
2. เกาะซาโมส ในทะเลอีเจียน ปัจจุบันอยู่ใกล้กับชายฝั่งตุรกี
3. เมือง Mesembria ในเขตเทรซ (Thrace) บริเวณชายฝั่งของบัลแกเรียในปัจจุบัน
4. เมือง Cotiaeum ในจังหวัด Phrygia บนดินแดนอนาโตเลีย

ภาพวาดอีสป โดยศิลปิน Velázquez

แม้จะไม่สามารถระบุได้ชัดว่าที่ใดคือบ้านเกิดของอีสป แต่ดินแดนที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมกรีก ในช่วงชีวิตของอีสปนั้นคาดว่าตรงกับยุคอาร์เคอิก และเป็นช่วงที่การปกครองระบอบกษัตริย์เริ่มเสื่อมสลาย ขณะที่การปกครองแบบนครรัฐเริ่มพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคกรีกถัดมาคือยุคคลาสสิก

ช่วงขณะนั้นเมืองต่าง ๆ อยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้นำแบบผูกขาดอำนาจไว้คนเดียว เรียกว่า “ทรราช” หมายถึงผู้ปกครองที่โหดร้ายกดขี่ประชาชน หรือผู้ปกครองที่ยึดอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือสืบทอดอำนาจ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกรีกจึงมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยไปเป็นแบบนครรัฐ

ในนครรัฐกรีกจะให้สิทธิพิเศษแก่เสรีชนคือ อนุญาตให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะได้อย่างเสรี นั่นจึงทำให้อีสปใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้คน อีสปกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงเพราะเขาเล่านิทานอันเป็นที่่เล่าขานไปทั่วดินแดน อีสปต้องการสั่งสอนผู้คนและต้องการถูกสอนสั่งด้วยเช่นกัน เขาจึงเดินทางผจญภัยท่องไปทั่วดินแดนต่าง ๆ

เมื่อมาถึงเมืองซาร์ดิซ เมืองหลวงของราชอาณาจักรลีเดีย เขาได้รับเชิญให้ไปทำงานในราชสำนักของกษัตริย์โครซุส (Croesus)

อีสปได้รับมอบหมายให้เป็นราชทูตปฏิบัติหน้าที่แทนกษัตริย์ในเมืองเล็กเมืองน้อยที่เป็นเมืองขึ้นในราชอาณาจักร อีสปไปที่ใดก็มักใช้นิทานเล่าเรื่องกระตุ้นความคิดของชาวเมืองได้อย่างเฉลียวฉลาด และยังใช้นิทานในการประนีประนอมความขัดแย้งในเมืองต่าง ๆ อีกด้วย

ยกตัวอย่างนิทานอีสป 3 เรื่อง ตามสำนวนแปลภาษาอังกฤษของ George Fyler Towsend มีเนื้อความดังนี้

ชาวนากับงู (The Farmer and the Snake)

ในฤดูหนาวที่แสนเยือกเย็นปีหนึ่ง ชาวนาคนหนึ่งพบงูนอนตัวแข็งทื่อด้วยความน่าสงสาร ชาวนารู้สึกเห็นอกเห็นใจจึงหยิบงูขึ้นมาวางไว้ในอก แล้วจึงกอดคลายหนาวให้มัน เมื่อได้รับความอบอุ่นทำให้งูฟื้นขึ้นตัวมาอย่างรวดเร็ว งูกลับมามีสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมันอีกครั้ง เพียงชั่วขณะมันก็กัดผู้มีพระคุณของมัน ชาวนาได้รับบาดเจ็บสาหัสและร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวด ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตชาวนาก็ร้องออกไปด้วยความโศกเศร้าว่า “ข้าสมควรตายที่ดันไปเมตตาสงสารสัตว์ร้ายเช่นนั้น”

ความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะไม่ผูกมัดคนเนรคุณ (The greatest kindness will not bind the ungrateful)

หมาป่ากับนกกระสา (The Wolf and the Crane)

หมาป่าตัวหนึ่งมีก้างติดคอของมันอยู่ มันจึงขอร้องให้นกกระสาช่วยเพื่อแลกกับค่าตอบแทน โดยจะให้ใช้ปากอันแหลมยาวของมันดึงเอาก้างออกมา นกกระสาจึงยอมช่วยแล้วมุดเข้าไปในปากหมาป่าเอาก้างออกมาได้สำเร็จ นกกระสาเรียกร้องให้หมาป่าจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญา หมาป่ายิ้มกว้างพร้อมกับบดเขี้ยวของมันแล้วพูดว่า “ทำไมล่ะ เจ้าได้รับรางวัลอย่างเหมาะสมแล้ว เพราะเจ้าได้รับอนุญาตให้ดึงหัวของเจ้าออกมาจากปากและขากรรไกรของข้าอย่างปลอดภัย”

“การรับใช้คนชั่ว อย่าคาดหวังจะได้รางวัลใดตอบแทน” (In serving the wicked, expect no reward)

หมาป่ากับลูกแกะ (The Wolf and the Lamb)

หมาป่าตัวหนึ่งได้พบลูกแกะหลงฝูงตัวหนึ่งจึงตั้งใจว่าตนจะไม่ใช้กำลังจัดการ แต่จะต้องหาเหตุสักอย่างอ้างสิทธิที่จะกินเจ้าลูกแกะ หมาป่ากล่าวว่า “เจ้าเด็กน้อย ปีที่แล้วเจ้าเคยดูหมิ่นข้าอย่างสาดเสียเทเสีย” ลูกแกะได้ยินดังนั้นก็กล่าวตอบไปว่า “จริง ๆ แล้ว ตอนนั้นข้ายังไม่เกิดเลยท่าน” หมาป่าจึงกล่าวต่อไปว่า “งั้นเจ้าก็เคยมากินหญ้าในทุ่งหญ้าของข้า” ลูกแกะตอบว่า “เปล่าเลยท่าน ตั้งแต่เกิดมาข้ายังไม่เคยได้กินหญ้าเลย” หมาป่าไม่ยอมแพ้จึงกล่าวหาลูกแกะว่า “เจ้ามาดื่มน้ำในบ่อน้ำของข้า”

“ไม่” ลูกแกะร้องตอบ “ข้าไม่เคยดื่มน้ำ เพราะน้ำนมจากแม่ของข้าเป็นทั้งน้ำและอาหารของข้า” สิ้นเสียงของลูกแกะ เจ้าหมาป่าก็กระโจนเข้าหาลูกแกะเพื่อจับกินเป็นอาหาร และกล่าวว่า “ช่างเถอะ! ข้าคงไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอดอาหารเย็น แม้ว่าเจ้าจะไม่ยอมรับเหตุผลใด ๆ ของข้าก็ตาม”

“ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทรราชได้เสมอ” (The tyrant will always find a pretext for his tyranny)

อีสป (ซ้าย) ภาพเขียนเมื่อ ค.ศ. 1687

การตายของอีสป

อีสปเดินทางไปทั่วราชอาณาจักรในฐานะราชทูต ครั้งหนึ่งเขาถูกส่งไปยังเมืองเดลฟิ (Delphi) พร้อมกับทองคำจำนวนมากที่ได้รับคำสั่งให้นำไปแจกจ่ายให้ประชาชน แต่เกิดเหตุวุ่นวายจนชาวเมืองจับอีสปมาสำเร็จโทษในฐานะอาชญากรสาธารณะ โดยมิได้หวาดกลัวว่าเขามีฐานะเป็นราชทูต

บางทฤษฎีเสนอว่า อีสปเห็นประชาชนเกิดความโลภ เขาจึงปฏิเสธที่จะแจกจ่ายทองคำเหล่านั้นและนำทองกลับคืนราชสำนัก ชาวเมืองเดลฟิจึงโกรธแค้นอีสป กล่าวหาว่าเขาไร้ความซื่อสัตย์ อีกทฤษฎีเสนอว่าอีสปจะนำทองคำเหล่านั้นเก็บไว้กับตัวหรือไม่? สาเหตุการตายของอีสปยังเป็นที่คลุมเครือ

ไม่นานจากการตายของอีสป ชาวเมืองเดลฟีต้องเผชิญกับวิบากกรรมหายนะจากภัยต่าง ๆ โทษฐานที่พวกเขาก่ออาชญากรรมที่เรียกเป็นภาษิตว่า “The blood of Aesop” (โลหิตของอีสป) โดยหมายความว่าการกระทำหรือการตัดสินโทษที่ปราศจากพิจารณาโทษด้วยกระบวนการยุติธรรม 

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ชีวประวัติของอีสปมีหลายส่วนที่ยังไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนหนึ่ง และ George Fyler Townsend ผู้รวบรวมนิทานอีสป ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดยมหาวิทยาลัยแอดิเลด (Adelaide) ในออสเตรเลีย ให้น้ำหนักกับข้อมูลในเวอร์ชั่นของ M. Claude Gaspard Bachet de Mezeriac นักเขียนชาวฝรั่งเศสซึ่งสืบค้นข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลของอีสปในผลงานที่เรียกว่า “Life of Aesop, Anno Domini 1632” ซึ่งนักวิชาการยุคหลังที่วิเคราะห์ประวัติของอีสปส่วนใหญ่ยืนยันข้อมูลจากการสืบค้นของนักเขียนชาวฝรั่งเศสรายนี้

ส่วนประวัติของอีสปฉบับที่เป็นที่รู้จักกันก่อนหน้าผลงานของนักเขียนฝรั่งเศส คือผลงานโดย Maximus Planudes นักบวชจากคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) แต่นักวิชาการมองว่า ฉบับของนักบวชท่านนี้มีข้อเท็จจริงผสมอยู่น้อยกว่า

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 30 พฤษภาคม 2563