“เผด็จการย่อมหาเหตุแห่งการเผด็จอำนาจได้เสมอ” วลีอมตะจาก “อีสป”

“เผด็จการย่อมหาเหตุแห่งการเผด็จอำนาจได้เสมอ”

อีสป บุคคลในตำนานที่เชื่อกันว่าเป็นทาสและนักเล่านิทานชาวกรีกโบราณ ได้กล่าวไว้ในนิทานเรื่อง “หมาป่ากับลูกแกะ”

เรื่อง “หมาป่ากับลูกแกะ” ตามสำนวนแปลเป็นภาษาอังกฤษของ George Fyler Towsend มีเนื้อความดังนี้

…หมาป่าตัวหนึ่งได้ไปพบกับลูกแกะหลงฝูง เห็นแล้วเจ้าหมาป่าก็ตั้งใจว่าตนจะไม่ใช้กำลังเข้าว่า แต่จะต้องหาเหตุผลอะไรสักอย่างไปอ้างกับลูกแกะถึงสิทธิที่ตนมีสิทธิที่จะกินเจ้าลูกแกะเสีย

เจ้าหมาป่าพุ่งเข้าไปหาลูกแกะและกล่าวว่า “เจ้าเด็กน้อย, ปีที่แล้วเจ้าเคยดูหมิ่นข้าอย่างสาดเสียเทเสียสินะ” ลูกแกะได้ยินดังนั้นก็กล่าวตอบไปด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ว่า “จริงๆแล้ว…เรายังไม่เกิดเลยท่าน” เจ้าหมาป่าจึงกล่าวต่อไปว่า “งั้นเจ้าก็เคยมากินหญ้าในทุ่งหญ้าของข้า” ลูกแกะตอบว่า “เปล่าเลยท่าน ตั้งแต่เกิดมาข้ายังไม่เคยได้กินหญ้าเลย”

เจ้าหมาป่ายังไม่ยอมแพ้จึงกล่าวหาลูกแกะต่อไปว่า “เจ้ามาดื่มน้ำในบ่อน้ำของข้า”, “ไม่” ลูกแกะร้องตอบ “ข้ายังไม่เคยดื่มน้ำ เพราะน้ำนมจากแม่ของข้าเป็นทั้งน้ำและอาหารของข้า” สิ้นเสียงของลูกแกะเจ้าหมาป่าก็กระโจนเข้าหาลูกแกะเพื่อจับกินเป็นอาหารโดยกล่าวว่า “ช่างเถอะ! ข้าคงไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอดอาหารเย็นหรอก แม้ว่าเจ้าจะไม่ยอมรับเหตุผลใดๆ ของข้าก็ตาม”

เผด็จการย่อมหาเหตุแห่งการเผด็จอำนาจได้เสมอ…

ทั้งนี้ โครงเรื่องของหมาป่ากับลูกแกะยังปรากฏให้เห็นในอีกหลายวัฒนธรรม ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนจากหมาป่าเป็นสัตว์นักล่าชนิดอื่น เช่นเดียวกับลูกแกะก็อาจเปลี่ยนเป็นสัตว์ในห่วงโซ่อาหารชั้นต้นอื่นๆ และข้อสรุปสอนใจตอนท้ายก็แตกต่างออกไปหลายสำนวน เช่น “คนชั่วที่มีอำนาจย่อมชนะคนดีที่อ่อนแอเสมอ” หรือ “คนชั่วมักหาข้อแก้ตัวให้กับการกระทำของตัวเองได้เสมอ” เป็นต้น

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ย้อนประวัติ “อีสป” ผู้แต่งนิทานอมตะ กับคติสอนใจ “ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทรราชได้เสมอ”


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2560