พระยาเมธาธิบดี ผู้นำ “นิทานอีสป” มาเผยแพร่ในไทย ยอดพิมพ์กว่าล้านเล่ม

กระต่าย กับ เต่า ภาพ นิทานอีสป
กระต่ายกับเต่า ภาพประกอบในนิทานอีสป (ภาพจาก หนังสืออ่าน นิทานอีสป)

“นิทานอีสป” เป็นเรื่องเล่าเพื่อความสนุกสนานสอดแทรกคติสอนใจ ที่ พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร) เป็นผู้นำมาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยมีเอกลักษณ์ที่ผู้เคยอ่าน หรือเคยฟังต่างจดจำ เพราะตอนสุดท้ายของนิทานทุกเรื่อง คือ “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า….”

พระยาเมธาธิบดี (พ.ศ. 2422-2499) เป็นนักเรียนเรียนดี เมื่อแรกรับราชการเป็นครูฝึกหัดในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์มีอายุเพียง 16 ปีเศษ ต่อมาได้ย้ายไปรับราชการที่กรมศึกษาธิการ ภายหลังรัฐบาลส่งไปเรียนวิชาครูเพิ่มเติม ที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นก็กลับมารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยแต่งตำราในกองแบบเรียน, เจ้ากรมราชบัณฑิต และปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ฯลฯ

พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร)
พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร) เมื่อครั้งเป็นอธิบดีกรมวิชาการ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2474 (ภาพจากหนังสืออ่าน นิทานอีสป)

ระหว่างเป็นผู้ช่วยแต่งตำราในกองแบบเรียนและเจ้ากรมราชบัณฑิต เมื่อประมาณ พ.ศ. 2445 พระยาเมธาธิบดีรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือเรียน แก้ไขตำราเก่า และตรวจแก้ตำราที่มีผู้แต่งให้เป็นแบบเรียนหลวง และยังเรียบเรียงแบบเรียนพิมพ์เป็นตำราด้วยตนเองอีกหลายเล่ม ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ “นิทานอีสป”

นิทานอีสปที่พระยาเมธาธิบดีเรียบเรียงขึ้นมีทั้งหมด 45 เรื่อง เช่น หมาจิ้งจอกกับนกกระสา, หมากับเงา, อึ่งอ่างกับวัว, เทพารักษ์กับคนตัดไม้, กบเลือกนาย ฯลฯ นิทานอีสปหลายเรื่อง ยังมีการหยิบยกมาอ้างอิงเพื่ออธิบายเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอๆ เช่น เรื่องชาวนากับงูเห่า, กระต่ายกับเต่า, ราชสีห์กับหนู ฯลฯ

พระยาเมธาธิบดีกล่าวไว้ใน “คำชี้แจ้งของผู้แต่ง” ในหนังสืออ่าน นิทานอีสป ว่า

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เริ่มเป็นผู้ทรงแนะนำให้แต่งขึ้น ให้ใช้ภาษาง่ายๆ และประโยคสั้นๆ สำหรับเด็กในชั้นมูลศึกษา จะได้ใช้เป็นแบบ [เรียน] สอนอ่าน…ธรรมเนียมหนังสือที่เป็นแบบสอนอ่านอย่างดี ไม่ว่าจะแต่งขึ้นในภาษาใดๆ ย่อมเพ่งประโยชน์ 2 อย่าง

อย่างหนึ่ง เพื่อให้มีความรู้ในวิชาหนังสือดีขึ้น เช่น ให้อ่านหนังสือคล่อง ให้อ่านถูกระยะวรรคตอน ให้ทั้งผู้อ่านและผู้ฟังเข้าใจความได้ชัดเจน กับให้จำตัวสะกดการันต์และถ้อยคำสำนวนที่ดีได้เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อสำคัญยิ่ง และซึ่งครูมักจะละเลยกันเสียมากก็คือ เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ปัญญาความคิดที่จะตริตรองตามเนื้อเรื่องที่ได้อ่านแล้วให้เห็นประจักษ์ขึ้นในใจตนเอง ว่าภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ล้วนเป็นของดี…” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

นั่นจึงทำให้นิทานอีสปมียอดพิมพ์กว่าล้านเล่ม และเป็นหนึ่งในหนังสือที่รู้จักกันแพร่หลาย และจดจำ ด้วยประโยคสุดฮิต ตอนจบของนิทานทุกเรื่อง “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

มหาอำมาตย์โทพระยาเมธาธิบดี. หนังสืออ่านนิทานอีสป. องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โทพระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2499.

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. “พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร)” ใน, ประวัติครู คุรุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2501.

ไทยน้อย. 30 คนไทยที่ควรรู้จัก, สำนักพิมพ์บำรุงบัณฑิต พ.ศ. 2528.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31  มีนาคม 2566