“โรตีสายไหม” ทำไมถึงเรียกโรตี ทั้งที่ไม่ใช้แป้งโรตี?

โรตีสายไหม
โรตีสายไหม ของฝากยอดนิยมจาก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีแป้งหลายรส หลายไส้ให้เลือกรับประทาน (เครดิตภาพ มติชน ออนไลน์)

โรตีสายไหม เป็นขนมหวานขึ้นชื่อประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับไปเป็นของฝากเมื่อได้มาเที่ยวชมดินแดนประวัติศาสตร์แห่งนี้ แม้ “โรตีสายไหม” จะมีชื่อนำหน้าว่า “โรตี” แต่เมื่อดูวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิต กลับไม่มีส่วนไหนเหมือนกับโรตีแผ่นหนานุ่มแบบที่คุ้นกันจาก “มะตะบะ”

แล้วทำไมขนมชนิดนี้ถึงมีชื่อเรียกว่าโรตีสายไหม?

Advertisement

กำเนิดของโรตีสายไหม จากการสืบค้นข้อมูล มีที่มาจาก “บังเปีย แสงอรุณ” ชาวไทยมุสลิมจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้สูตรการทำของกินชนิดนี้เมื่อครั้งทำงานในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก่อนกลับมาประกอบอาชีพในจังหวัดบ้านเกิด และลองปรับใช้แป้งบางแบบจีนที่เรียกว่า “แป้งเปาะเปี๊ยะ” มาห่อเส้นสายไหม

ความแตกต่างระหว่างแป้งโรตีและแป้งเปาะเปี๊ยะ อยู่ที่แม้แป้งทั้งสองจะทำมาจากแป้งสาลีเหมือนกัน แต่แป้งโรตีมีวัตถุดิบและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่แพงกว่า เช่น น้ำตาลทราย เกลือป่น ที่ตัดแป้ง และมีกระบวนการในการทำนานกว่า เพราะต้องนวดและพักแป้งถึง 30 นาทีเลยทีเดียว ขณะที่แป้งเปาะเป๊ยะมีวัตถุดิบที่ราคาถูกกว่า เช่น เกลือ น้ำมันพืช และมีกรรมวิธีการทำที่ง่ายกว่า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาได้มากกว่า แถมยังมีรสเข้ากันกับตัวสายไหมที่มีความหวาน จึงเกิดเป็นขนม “โรตีสายไหม” ที่เรารู้จักกันดี

หลังเกิดร้านขายโรตีสายไหมร้านแรก และได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กิจการร้านโรตีสายไหมของบังเปียก็ขยายตัวมากขึ้นจนเป็นที่รู้จักของชาวอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง กระทั่งเกิดร้านโรตีสายไหมไปทั่วอยุธยา มีการพัฒนาสูตรและสีสันให้ดูน่ากินมากขึ้น ทั้งยังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ โรตีสายไหมกลายเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP) เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดไปในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. 2542

โรงเรียน วชิราวุธวิทยาลัย. 2542. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 12. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย

กำพล จำปาพันธ์. ถนนโรตีสายไหมกับอัตลักษณ์มุสลิมอยุธยา. เข้าถึงเมื่อ 3 เมษายน 2566 จาก https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_112748


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566