เปิดเหตุผล “Golden Boy” ไม่ใช่ศิวะ-ทวารบาล! ตอกย้ำทฤษฎีว่าเป็น “ชัยวรมันที่ 6”

โกลเด้นบอย Golden Boy ศิวะ-ทวารบาล หรือ ชัยวรมันที่ 6

ประติมากรรมสำริด “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) คืออะไรกันแน่? นักวิชาการยังคงถกเถียงและหาข้อมูลมาสนับสนุนความเป็นไปได้ต่าง ๆ อยู่ แต่ทฤษฎีหนึ่งที่เป็นไปได้น้อย (มาก) ในมุมมองของผู้ลงพื้นที่พิสูจน์ที่ตั้งประติมากรรมชิ้นนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่ “ศิวะ-ทวารบาล” แน่ ๆ

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี ชวนเจาะลึก “Golden Boy” โดยเฉพาะประเด็นว่าประติมากรรมสำริดนี้คือ ศิวะ-ทวารบาล หรือไม่ หรือเป็นรูปสนองพระองค์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” กษัตริย์เขมรโบราณแห่งวงศ์มหิธรปุระ

อนึ่ง ประติมากรรมสำริดลักษณะนี้พบได้น้อยมาก โกลเด้นบอย ถูกค้นพบเมื่อปี 2518 ต่อมาปี 2532 กรมศิลปากรมาขุดแต่งปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ถึงได้เจอรูปประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองแบบเดียวกันอีกชิ้น

ศาสตราจารย์ช็อง บวสเซอลีเยร์ พิจารณาประติมากรรมสำริดสระกำแพงใหญ่ แล้วให้คำอธิบายว่าลักษณะของประติมากรรมที่ก้าวขาอาจจะหมายถึงพระศิวะ-ทวารบาล หรือพระศิวะในรูปทวารบาล คำอธิบายดังกล่าวส่งผลต่อนักวิชาการไทยจำนวนมากว่าประติมากรรมสำริดชิ้นนี้คือ “ทวารบาล”

“ถ้าถามความเห็นส่วนตัวผม ผมคิดว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะว่าทวารบาลมักจะสลักด้วยหิน มีขนาดใหญ่ และมีเป็นคู่ แต่ประติมากรรมชิ้นนี้พบเดี่ยว ๆ ที่สระกำแพงใหญ่ แถมเป็นประติมากรรมสำริด ซึ่งเป็นวัสดุที่มีค่าที่สุด” อาจารย์ทนงศักดิ์กล่าว

อาจารย์ทนงศักดิ์จึงลงความเห็นว่า ประติมากรรมสำริดสระกำแพงใหญ่ควรเป็นรูปเคารพ อาจเป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ผู้สร้างตัวปราสาทสระกำแพงใหญ่

ประติมากรรมสำริดอีกชิ้นที่ใกล้เคียงโกลเด้นบอยมากที่สุด คือประติมากรรมจากบริเวณเขาพนมบาย็อง ซึ่งมีจารึกระบุชัดเจนว่า เป็นของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 พี่ชายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แสดงให้เห็นว่า ประติมากรรมสำริดกลุ่มนี้เป็นตัวแทนองค์กษัตริย์ไปประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ

อาจารย์ทนงศักดิ์ส่งท้ายประเด็นนี้ว่า “ถ้าจะให้ตอบว่าเป็นรูปของ ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 6’ หรือไม่นั้น เราต้องมาพิสูจน์กันด้วยหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งแสดงออกผ่านศิลปกรรม คือลวดลายทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ที่ตัวโกลเด้นบอย…”

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.4 “โกลเด้นบอย” ภารกิจตามรอยมรดกไทย กับเบื้องหลังการได้คืน! โดย ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ได้ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2567