ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
รูปประติมากรรมสำริด “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) ถูกด่วนสรุปว่าเป็นศิลปะเขมรแบบ “บาปวน” ซึ่งเป็นศิลปะยุคก่อนศิลปะแบบ “นครวัด” หรือจุดสูงสุดของวัฒนธรรมเขมรโบราณ แต่การศึกษาอย่างเจาะลึก ทำให้นักวิชาการพบข้อสังเกตใหม่ที่น่าสนใจว่า ประติมากรรมสำริดชิ้นงามที่เราได้คืนมานี้ อาจเป็นตัวแทนศิลปะช่วงก่อนนครวัด ที่ “ข้ามพ้น” ศิลปะบาปวนมาแล้ว นั่นคือ “ศิลปะพิมาย”
“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี ชวนเจาะลึก “Golden Boy” โดยเฉพาะประเด็นรูปแบบศิลปกรรมของตัวประติมากรรมสำริด ที่แสดงออกถึงพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญของศิลปะที่ต่างไปจากแบบ “บาปวน” คือเรียกได้ว่าเป็น “ศิลปะพิมาย”
อาจารย์ทนงศักดิ์เล่าว่า คำถามที่ว่า โกลเด้นบอย คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 กษัตริย์แห่งราชวงศ์มหิธรปุระและผู้สถาปนาปราสาทพิมายหรือไม่นั้น จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับหลักฐานโบราณคดีที่แสดงออกผ่านศิลปกรรม โดยเฉพาะลวดลายที่ปรากฏบนประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอย
เริ่มจาก “ทรงผม” อาจารย์ทนงศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า ลวดลายทรงผมของโกลเด้นบอยนั้นแตกต่างอย่างชัดเจนกับรูปประติมากรรมสำริดสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในศิลปะแบบบาปวน คือเป็นทรงผมถักเปีย เรียงเป็นแถว เหมือนลายก้างปลา ขณะที่ประติมากรรมสระกำแพงใหญ่จะเป็นลายดอกไม้ขนาดใหญ่สลับกับดอกขนาดเล็กเรียงเป็นแถว
ลักษณะข้างต้นของทรงผมในศิลปะบาปวนถูกใช้อย่างต่อเนื่อง จนถึงยุคที่มีการสร้างปราสาทพิมาย ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ปรากฏว่าประติมากรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสำริดและหิน ล้วนถูกใช้ลายถักเปียเหมือนโกลเด้นบอย ต่างจากสระกำแพงใหญ่ กระทั่งถึงยุคนครวัด จึงไม่พบลายถักเปียอีกต่อไป กลายเป็นลายขนานเส้นตรงแทน
“พัฒนาการของเส้นผมก็เห็นได้ชัดแล้วนะครับว่าไม่เหมือนกันเลย” อาจารย์ทนงศักดิ์กล่าว
ต่อมาคือ “เข็มขัด” สายเข็มขัดในศิลปะบาปวนจะเป็นรูปวงรีเรียงซ้อนสลับเป็นแถวบน-ล่าง ช่องว่างระหว่างวงรีเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และลายรูปตัวหนอน เหมือนตัว S ซึ่งปรากฏชัดบนปราสาทแทบทุกหลังในสมัยบาปวน รวมถึงปราสาทหินพิมายก็ยังพบอยู่ แม้ในรูปโกลเด้นบอยจะไม่พบลายรูปตัวหนอนแล้ว แต่ประดับด้วยลายขีดแทน
อาจารย์ทนงศักดิ์ให้ข้อสังเกตเพิ่มว่า “เข็มขัดศิลปะบาปวนจะผูกด้านหน้าเหมือน ‘ประคดพระ’ ลายประติมากรรมสระกำแพงใหญ่ก็ยังเห็นเส้นประคดผูกด้านหน้าอยู่ ขณะเดียวกันตัวลายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (โกลเด้นบอย) จะไม่เป็นแบบนั้นแล้ว”
เราจึงพบพัฒนาการทรงผม 3 รูปแบบ จาก 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ลายดอกไม้ในศิลปะบาปวน (เก่าแก่ที่สุด) ลายถักเปียที่ปราสาทพิมาย รวมถึงตัวโกลเด้นบอย และลายขนานเส้นตรงในศิลปะนครวัด
กับรูปแบบเข็มขัดของประติมากรรมสระกำแพงใหญ่ (บาปวน) ที่ตรงกันกับประติมากรรมปราสาทพิมาย เป็นลายรูปตัวหนอน แต่โกลเด้นบอยมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างออกไป คือเป็นลายขีด
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ปราสาทพิมายนั้นสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และเป็นช่วงเวลาก่อนการสถาปนาปราสาทนครวัด “ความสอดคล้อง” บางประการ ของประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอย กับที่ปราสาทพิมาย และ “ผ่าเหล่า” ไปจากประติมากรรมสำริดสระกำแพงใหญ่ จึงสะท้อนว่า อาจจะต้องทบทวนการนิยามรูปแบบศิลปะของโกลเด้นบอยกันใหม่เสียแล้ว
เมื่อความแตกต่างสะท้อนพัฒนาการทางศิลปะแบบคนละกลุ่มกัน ผนวกกับข้อสังเกตของนักวิชาการที่มองว่าโกลเด้นบอยคือรูปสนองพระองค์ หรือแทนองค์กษัตริย์ จึงแปลความได้ว่านี่คือกษัตริย์องค์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับปราสาทพิมายมากที่สุด นั่นคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
และยิ่งมีการค้นพบประติมากรรมสำริดอีกชิ้นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ประติมากรรมจากปราสาทเขาพนมบายัง (กัมพูชา) ซึ่งจารึกพระนาม พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 พระเชษฐาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผู้ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ ยิ่งตอกย้ำพัฒนาการของลวดลายที่ “ต่อยอด” จากโกลเด้นบอยไปอีกลำดับหนึ่ง และเป็น “รอยต่อ” ระหว่างศิลปะบาปวนกับศิลปะนครวัดอย่างชัดเจน นั่นคือ “ศิลปะพิมาย”
ดังที่อาจารย์ทนงศักดิ์สรุปประเด็นนี้ว่า “ไม่ใช่ ศิลปะบาปวน แต่เป็น ศิลปะพิมาย จึงจำเพาะเจาะจงได้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้เป็นรูปสนองพระองค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6”
ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.4 “โกลเด้นบอย” ภารกิจตามรอยมรดกไทย กับเบื้องหลังการได้คืน! โดย ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ที่ YouTube : Silpawattanatham
อ่านเพิ่มเติม :
- ใครคือ “Golden Boy” ? รู้จักพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นวงศ์มหิธรปุระแห่งพิมาย
- แกะรอยที่มา “Golden Boy” แบบสืบถึงฐานประติมากรรม! ไขตัวตนรูป “พระเชษฐบิดร” แห่งอีสานใต้?
- “Golden Boy” รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ประติมากรรมสำริด ศิลปะเขมรแบบพิมาย ที่ไทย (เพิ่ง) ได้คืนจากสหรัฐ!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567