“ประติมากรรมสำริด” จาก “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” คือรูปสนองพระองค์พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ?

นอกจากประติมากรรม “Golden Boy” ที่พิพิธภัณฑ์ The MET (The Metropolitan Museum of Art) สหรัฐอเมริกา เตรียมส่งคืนไทยในเดือนพฤษภาคมนี้แล้วนั้น ยังมีประติมากรรมอีกชิ้นหนึ่ง ที่มีรูปแบบศิลปะแทบจะเหมือนกัน งดงามไม่แพ้กัน นั่นคือ “ประติมากรรมสำริด” จาก “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” จังหวัดศรีสะเกษ

ในรายการ SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.3 “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” กษัตริย์เขมร ไม่ใช่ต้นแบบ “Golden Boy” รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิเคราะห์ประติมากรรมชิ้นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

Advertisement

โดยแต่เดิมมีผู้เสนอว่า ประติมากรรมสำริด จาก ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เป็นทวารบาล แต่ อ. รุ่งโรจน์ ศึกษาจากรูปแบบศิลปกรรมและหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ใช่ทวารบาล หากแต่เป็นรูปสนองพระองค์ของกษัตริย์เขมรโบราณพระองค์หนึ่ง นั่นคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1

ประติมากรรมสำริด จาก ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ (ภาพจาก เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย)

ไม่ปรากฏว่า ปราสาทสระกำแพงใหญ่สร้างขึ้นในสมัยใด และจารึกที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ก็ไม่ได้กล่าวถึงพระนามพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แต่จารึกที่ปราสาทพระวิหาร ได้กล่าวถึงการที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 สั่งให้มีการก่อกำแพงที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าพระองค์โปรดให้สถาปนาปราสาทแห่งนี้

หากประติมากรรมสำริดนี้เป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ก็ต้องสร้างขึ้นเมื่อพระองค์สวรรคตไปแล้ว หรือก็คือสร้างในรัชกาลถัดมา ซึ่งกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 

ประติมากรรม สำริด Golden Boy โกลเด้นบอย
ประติมากรรมสำริด “Golden Boy” (ภาพจาก www.metmuseum.org)

และพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระองค์นี้นี่เอง ที่ อ. รุ่งโรจน์ เสนอว่า เป็นตัวตนของประติมากรรม “Golden Boy” คือเป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ไม่ใช่พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

ติดตามรับชมเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.3 “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” กษัตริย์เขมร ไม่ใช่ต้นแบบ “Golden Boy” โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 20.00 น. YouTube : Silpawattanatham 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2567