“เครื่องใช้มังกรจีน” สมบัติชาติหายากสุดอลัง อายุกว่า 2,000 ปี สะท้อนทักษะการหล่อโลหะขั้นสูง

เครื่องอุ่นสุราลายหมู่มังกรขด เป็น เครื่องใช้ มังกร จีน ใน วัฒนธรรมมังกร
เครื่องอุ่นสุราลายหมู่มังกรขด เป็นเครื่องใช้มังกรจีนที่เป็นสมบัติชาติ (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

เครื่องใช้มังกรจีน ที่ประกอบด้วย เครื่องอุ่นสุราขนาดยักษ์ ที่มีมังกรตัวเล็กๆ หลายสิบตัวขดพันทับกันไปมา ภาชนะใส่สุราที่มีรูปทรงคล้ายเรือมังกร และโต๊ะโบราณลายหงส์และมังกรเหิน ล้วนเป็นภาชนะสัมฤทธิ์โบราณ อายุเก่าแก่หลายพันปีถึงช่วงก่อนราชวงศ์ฉิน ทั้ง 3 ชิ้นถูกขุดค้นพบจากคนละพื้นที่ของจีน ได้แก่ หูเป่ย ซานซี และเหอเป่ย ตามลำดับ แต่สิ่งที่โบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้มีเหมือนกันคือ “วัฒนธรรมมังกร” กล่าวได้ว่า “เครื่องใช้มังกรจีน” สุดวิจิตรงดงาม ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทั้งสามชิ้นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะขั้นสูงในการหล่อโลหะของชาวจีนโบราณ ปัจจุบันถูกจัดเป็นสมบัติชาติที่ห้ามมิให้นำออกนอกประเทศ

เครื่องอุ่นสุราลายมังกรขด เครื่องใช้มังกรจีน
เครื่องอุ่นสุราลายมังกรขด (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

เครื่องใช้มังกรจีน “เครื่องอุ่นสุราลายหมู่มังกรขด”

หากมองจากที่ไกล ลายของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อาจดูคล้ายกลุ่มเมฆ แต่แท้จริงแล้วมันคือลวดลายที่ประกอบขึ้นจากฝูงมังกร งู และผานชือ (มังกรในยุคแรก) ขดพันล้อมรอบกันเป็นชั้นๆ ทั้งน่าอัศจรรย์ใจและลายตาในเวลาเดียวกัน

เครื่องอุ่นสุราใน “วัฒนธรรมมังกร” นี้มีชื่อว่า จุนผานของเจิงโหวอี่ (曾侯乙尊盘) พบจากสุสานของเจิงโหวอี่ เจ้าผู้ครองนครของรัฐเจิงในยุครณรัฐ หรือยุคจ้านกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ในเมืองสุยโจว มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน เมื่อปี 1978 ถือเป็นหนึ่งในเครื่องสัมฤทธิ์ยุคชุนชิว (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และยุคจ้านกั๋ว ที่มีความซับซ้อนและวิจิตรประณีตมากที่สุด ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์มณฑลหูเป่ย

ชื่อ จุนผาน หมายถึงภาชนะสองชิ้น ได้แก่ “จุน” (尊) และ “ผาน” (盘) ที่ถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกัน จุนคือภาชนะใส่สุรา ส่วนผานคือภาชนะใส่น้ำ ในหน้าหนาวสามารถใช้ผานใส่น้ำเดือด เพื่ออุ่นสุราในจุน ขณะที่ในหน้าร้อนใช้ใส่น้ำแข็ง เพื่อลดอุณหภูมิของเครื่องดื่ม

ภาชนะทั้งชุดสูงรวม 42 เซนติเมตร และหนักเกือบ 30 กิโลกรัม ส่วนที่เป็นจุนประดับตกแต่งด้วยมังกร 28 ตัว ผานชือ 32 ตัว ส่วนท้องและส่วนฐานของจุนเต็มไปด้วยลวดลายผานชือ และลายมังกรนูนสูง-ต่ำ ขณะที่ส่วนผานมีมังกร 56 ตัว ผานซือ 48 ตัว ส่วนฐานของผานมีประติมากรรมลอยตัว มังกรหนึ่งหัวสองลำตัว (双身龙) รวม 4 ตัว โดยส่วนหัว ลำตัว และหางของพวกมันจะเลื้อยวนคดเคี้ยวไปมา แสดงถึงกำลังวังชา

เจิงพาน ผู้อำนวยการฝ่ายจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มณฑลหูเป่ยกล่าวว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้โดดเด่นด้านจำนวนของมังกรและรูปทรงที่งดงาม ทั้งยังต้องประกอบชิ้นส่วนนับร้อยชิ้นเข้าด้วยกันจึงจะสร้างขึ้นมาได้ และด้วยความซับซ้อนนี้เอง จึงยังไม่เคยมีใครผลิตซ้ำผลงานนี้ได้

กงทรงเรือมังกร เครื่องใช้มังกรจีน
กงทรงเรือมังกร (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

กงทรงเรือมังกร

มีคำกล่าวว่า “ชาวซางนิยมร่ำสุรา” เห็นได้จากเครื่องใช้สัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่มีภาชนะใส่สุราหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ “กง” (觥) ที่ขุดพบในอำเภอสือโหลว มณฑลซานซี เมื่อราว 60 ปีก่อน ซึ่งมีรูปทรงคล้ายมังกร ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์มณฑลซานซี

เครื่องใช้มังกรจีน อย่างกงชิ้นนี้ มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์และวิจิตรบรรจง สูง 17.7 เซนติเมตร ยาว 42.5 เซนติเมตร หนัก 4,310 กรัม จุของเหลวได้ 1,620 มิลลิลิตร มองดูคล้ายกับเรือมังกร ซึ่งแตกต่างจากกงสัมฤทธิ์ทั่วไปที่มักออกแบบให้หัวสัตว์อยู่ที่ส่วนหน้าของฝาปิด และมีหูจับอยู่ที่ส่วนท้าย

ส่วนหน้าของกงชิ้นนี้เป็นหัวมังกรเชิดขึ้น ดวงตาเบิกกว้าง ปากเผยอจนเห็นเขี้ยว ส่วนฝามีปุ่มจับเล็กๆ คล้ายเห็ด ลำตัวด้านหน้าแคบกว่าด้านหลัง ด้านข้างมีรูสี่เหลี่ยมสองรูสำหรับร้อยเชือกถือ ลวดลายสัตว์ที่พบบนภาชนะนี้มีมังกร งู และจระเข้ เป็นหลัก รวมๆ แล้วมากกว่า 20 ตัว แต่ละตัวเกาะเกี่ยวรัดรึงกันไปมา ขับเน้นให้กงซึ่งมีรูปทรงเรียบง่ายและสง่างามนี้โดดเด่นยิ่งขึ้น

“ลายมังกรบนฝามีลำตัวคดเคี้ยวและหางม้วนงอ ซึ่งเชื่อมต่อกับหัวมังกรที่อยู่ส่วนหน้า เป็นการผสานกันของลวดลายแบบสองมิติและสามมิติ การผลิตต้องทำการหล่อส่วนเขามังกรและปุ่มทรงเห็ดที่ฝาก่อน แล้วจึงค่อยหล่อส่วนลำตัวและฝา สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมยุคสัมฤทธิ์ของรัฐฟางช่วงปลายราชวงศ์ซาง” คำบอกเล่าของ ชุยเย่ว์จง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์มณฑลซานซี

โต๊ะลายมังกร เครื่องใช้มังกรจีน
โต๊ะลายหงส์และมังกรเหิน (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

โต๊ะลายหงส์และมังกรเหิน

เมื่อมีถ้วยใส่สุราที่วิจิตรรุ่มรวยแล้ว ย่อมต้องมีโต๊ะสำหรับวางสุราที่เข้ากัน ดังเช่น “อั้น” (案) หรือโต๊ะโบราณทรงเหลี่ยมตัวหนึ่ง ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอเป่ยของจีน โต๊ะตัวนี้ประกอบด้วยมังกร 4 ตัว และเฟิ่ง หรือ หงส์ อีก 4 ตัว มีอายุย้อนกลับไปถึงสมัยจ้านกั๋ว ผลิตขึ้นโดยใช้เทคนิคชุบเงินและชุบทอง

โต๊ะตัวนี้ถูกค้นพบที่สุสานโบราณในหมู่บ้านซานจี๋ อำเภอผิงซาน มณฑลเหอเป่ย เมื่อปี 1977 มีความสูง 36.2 เซนติเมตร หนัก 18.65 กิโลกรัม ฐานโต๊ะมีกวางซิกา (ภาษาจีนเรียก กวางดอกบ๊วย) 4 ตัว ถัดขึ้นมาเป็นมังกรยืน 4 ตัว มีหงส์ในท่าชูคอส่งเสียงร้องและสยายปีกพร้อมโบยบินอยู่ระหว่างกลางของลำตัวมังกรที่ขดพันกันไปมา ลวดลายหงส์ร่อนมังกรเหินนี้ มีทั้งการเคลื่อนไหวและความนิ่งสงบที่ผสานกันอย่างลงตัวและแปลกพิสดาร

โต๊ะลายหงส์และมังกรเหิน เครื่องใช้มังกรจีน วัฒนธรรมมังกร
โต๊ะลายหงส์และมังกรเหิน (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

อั้นเป็นเครื่องเรือนที่เก่าแก่ที่สุดประเภทหนึ่งที่พบในจีน หมายถึงโต๊ะขนาดเล็กที่คนโบราณมักใช้วางสิ่งของในชีวิตประจำวัน หรือใช้เป็นโต๊ะเพื่อพักผ่อนก็ได้เช่นกัน เมื่อครั้งขุดพบโต๊ะตัวนี้ แผ่นโต๊ะเคลือบยางรักได้ผุพังไปหมดแล้วเหลือเพียงส่วนแท่น และกว่าจะได้โต๊ะตัวนี้ออกมาช่างสมัยโบราณต้องใช้กระบวนการต่างๆ หลายขั้นตอน เช่น การหล่อ การฝัง การเชื่อม การชุบเงิน ชุบทอง เป็นต้น

จางชางผิง ศาสตราจารย์ประจำคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ให้ข้อมูลว่าช่างฝีมือยุคโบราณใช้ภูมิปัญญาและเทคนิคที่มีรังสรรค์จินตนาการสู่ผลงานสุดวิจิตร การถลุงและหล่อสัมฤทธิ์เฟื่องฟูสูงสุดในช่วงปลายราชวงศ์ซาง จนกระทั่งถึงยุคชุนชิวจ้านกั๋วที่มีการนำเทคนิคการหล่อขี้ผึ้งมาใช้ ทำให้ความยุ่งยากทางเทคนิคลดน้อยลง และการผลิตมีความแพร่หลายมากขึ้น

“สิ่งประดิษฐ์รูปมังกรทั้งสามชิ้นนี้ผ่านการหล่อหลายครั้ง สะท้อนถึงระดับความรู้ด้านเทคนิค วัฒนธรรม และศิลปะในสมัยนั้น” ศาสตราจารย์จางกล่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจากรายงานในบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว “โฉมหน้า ‘มังกรจีน’ บนภาชนะใส่สุราของเจ้าผู้ครองนครเมื่อ 2,000 ปีก่อน”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567