ร.7 พระราชทานสัมภาษณ์เมื่อเสด็จประพาสสหรัฐฯ รับสั่งถึง “ระบอบปกครองที่ดีที่สุด..”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายกั สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ช่วง 9 ปีแห่งรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง ช่วงพ.ศ. 2473 ถึง 2474 ก็เสด็จประพาสสู่สหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นทั้งหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของทั้งในไทยเองและต่างชาติเหล่านั้น

ข้อมูลการเสด็จประพาสโดยทั่วไป นอกจากจะมีบันทึกหลักฐานในจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินที่เป็นทางการแล้ว หลักฐานอีกด้านก็ยังมีข้อมูลจากข่าวตัดหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งรายงานพระราชกรณียกิจระหว่างการเสด็จประพาสในครั้งนั้นด้วย

ก่อนที่จะบรรยายเนื้อหาที่ปรากฏในข่าวหนังสือพิมพ์ต่างชาติ ในที่นี้ต้องอธิบายบริบทของการเสด็จประพาสในช่วงเวลานั้นทำความเข้าใจภูมิหลังต่างๆ กันก่อน

บริบทของการเสด็จประพาส

ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล และภาพิศุทธิ์ สายจำปา บรรยายเกี่ยวกับข้อมูลนี้ในบทความ “เมื่อองค์ประชาธิปกเสด็จประพาส ‘โลกใหม่'” ไว้ว่า “โลกใหม่” หรือ “The New World” ในกรณีนี้เป็นคำที่ชาวยุโรปสมัยก่อนเรียกทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งพวกเขาได้ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไป “บุกเบิก” มา ในสมัยที่เสด็จประพาสนั้น สหรัฐอเมริกากำลังตั้งเค้าว่าจะพัฒนากลายเป็น “เอกมหาอำนาจ” แทนประเทศแถบยุโรป

ส่วนประเทศแคนาดาช่วงพ.ศ. 2474 ที่เสด็จประพาส อังกฤษ เจ้าอาณานิคมเดิมเพิ่งยอมรับแคนาดาว่าเท่าเทียมกับตนในฐานะประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ หากแต่อังกฤษยังคงไว้ซึ่งอำนาจเชิงรัฐธรรมนูญบางประการ ดังนั้น การติดต่อเพื่อเตรียมการเสด็จประพาสจึงยังผ่านลอนดอน ส่วนความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันระหว่างสยามกับแคนาดาในเวลานั้นยังไม่ปรากฏ

ด้านญี่ปุ่นกับสยามก็มีสัมพันธ์กับมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล และภาพิศุทธิ์ สายจำปา อธิบายภาพรวมไว้ว่า สยามไม่ต้องการให้มหาอำนาจชาติใดมามีอิทธิพลมากเกินไป ทิศทางนโยบายต่างประเทศจึงพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความขัดแย้ง

กรณีความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเกี่ยวกับแมนจูเรียซึ่งเริ่มคุกรุ่นในช่วงที่กำลังจะเสด็จฯ ผ่านดินแดนของทั้ง 2 ประเทศไปสหรัฐอเมริกา จึงเป็นจุดทดสอบชั้นเชิงทางการทูตของสยาม และรัฐบาลสยามก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ชาวจีนในสยามแสดงความเคียดแค้นต่อญี่ปุ่นจนเกิดความระส่ำระสายในบ้านเมือง แนวการวางตัวเป็นกลางนี้ สยามได้ยึดถือต่อเนื่องมาจึงได้งดออกเสียงในการลงมติของสันนิบาตชาติใน พ.ศ. 2476 เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น (ธีระ, 2559 ก. : 170-173 และ 362-363)

นอกจากนี้ การเสด็จประพาสยังปรากฏความจำเป็น เนื่องด้วยต้อกระจกในพระเนตรซ้ายได้แสดงอาการมาประมาณ 6 ปีก่อนหน้าแล้ว การผ่าตัดประเภทนี้ยังทำในประเทศไม่ได้ (ภาพิศุทธิ์, 2558 : 71-73) ประกอบกับต้องตามพระราชประสงค์จะทรงศึกษากิจการงานของแต่ละประเทศในเส้นทางเสด็จฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก้าวหน้าทั้งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการศึกษา

ก่อนการเสด็จประพาสมีข้อมูลว่า เตรียมการนาน 7 เดือน ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล และภาพิศุทธิ์ สายจำปา สรุปเรื่องการเตรียมการไว้ว่า มีพระราชดำรัสสั่งให้ใช้เงินพระคลังมหาสมบัติ คืองบประมาณแผ่นดินเป็นเงินค่ารักษาพระองค์จำนวน 100,000 บาท ที่จัดไว้ในงบประมาณประจำปีสำหรับการเสด็จประพาส นอกนั้นให้จ่ายจากเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งถือเป็นเงินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และให้ใช้อย่างประหยัด เช่นว่า ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชินีก็ให้จัดหาภายในประเทศ เว้นบางรายการที่ไม่มีจำหน่าย จึงจะทรงจัดหาที่สหรัฐอเมริกา

เครื่องแต่งกายข้าราชบริพารก็จัดให้เหมาะแก่หน้าที่ ไม่ใช่ตามชั้นยศ และให้มีแต่นางสนองพระโอษฐ์ ไม่มีนางพระกำนัลตามเสด็จฯ สมเด็จฯ ผู้โดยเสด็จฯ มีทั้งหมดเพียง 13 ท่าน/คน เป็นต้น (ภาพิศุทธิ์, 2558 : 74-77) และเนื่องจากต้องประทับเข้ารับการผ่าตัดและทรงพักฟื้นอยู่นานเป็นเดือน ที่ประทับที่สหรัฐฯ จึงไม่เป็นที่โรงแรม และได้คฤหาสน์โอฟีร์ฮอลล์ (Ophir Hall) มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเจ้าของถวายเป็นที่ประทับโดยไม่คิดมูลค่า (ภาพิศุทธิ์, 2558 : 77)

รัชกาลที่ 7 เสด็จมณฑลพายัพครั้งแรก กับการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร

เส้นทางการเดินทาง

ผู้เขียนที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูลอธิบายไว้ว่า

“การเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือเดินสมุทร รถไฟ และรถยนต์ เส้นทางเที่ยวไปจากกรุงเทพฯ สู่เกาะสีชังเป็นโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ณ ที่นั้นเสด็จฯ โดยเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ชื่อว่าซีแลนเดีย (Selandia) ของบริษัทอีสต์เอเชียติกของเดนมาร์ก ทรงแวะที่อ่าวฮาลอง (Halong Bay) เวียดนามตอนเหนือในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่ซึ่งไม่ได้เสด็จฯ ไปถึงเมื่อเสด็จประพาสอินโดจีนใน พ.ศ. 2473

แล้วต่อไปยังฮ่องกงของอังกฤษ ที่ซึ่งเปลี่ยนเป็นประทับเรือเอ็มเพรสออฟเจแปน (Empress of Japan) ของบริษัทแคเนเดียนแปซิฟิก (Canadian Pacific) ของแคนาดาต่อไปยังนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ของสาธารณรัฐจีน ประทับค้างคืนบนเรือแล้วจึงเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ที่ซึ่งเสด็จประพาสอยู่ 4 วัน จึงข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังเมืองวิกตอเรีย (Victoria) และต่อไปยังเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ทางฝั่งตะวันตกของประเทศแคนาดา

จากนั้นประทับรถไฟเข้าสู่สหรัฐอเมริกาและรถยนต์สู่ที่ประทับ ณ โอฟีร์ฮอลล์ ในมลรัฐนิวยอร์กใกล้ไปทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ประทับอยู่ในประเทศนั้นประมาณ 4 เดือน”

รายงานในหน้าสื่อต่างชาติ

ในที่นี้จะเอ่ยถึงหลักฐานในสื่อเมื่อประทับในสหรัฐอเมริกา โดยวันแรกที่เรือซึ่งทั้งสองพระองค์ประทับแล่นถึงทวีปอเมริกาเหนือไม่ใช่ในดินแดนของสหรัฐอเมริกา แต่เป็นที่เมืองวิกตอเรียของประเทศแคนาดา ทว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรไข้หลอดลมอักเสบ เสด็จฯ ออกให้คณะผู้แทนรัฐบาลแคนาดาเฝ้าฯ รับเสด็จไม่ได้

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงเสด็จออกแทนพระองค์ ผู้สื่อข่าวแหม่มรายงานไว้อย่างละเอียดลออว่า “ทรงเป็นศูนย์กลางความสนใจและตกตะลึงของบรรดาผู้เข้าเฝ้าฯ” ทั้งในฉลองพระองค์แบบตะวันตกที่พอเหมาะพอสมกับพระราชสถานะและโอกาส พระสรวลที่ทรงแย้ม “พระอิริยาบถไม่แสดงพระอาการกระดากอายแม้แต่น้อย” และการ “ทรงพระดำเนินตรงไปยังข้าราชการชาวแคนาดา…ซึ่งยืนสง่าอยู่เป็นแถว” (พฤทธิสาณ, 2560 : 131-132)

จากนั้นเรือเดินทางต่อไปเทียบท่ากับเรือเมืองแวนคูเวอร์ที่ซึ่งเสด็จฯ โดยรถไฟขบวนพิเศษไปทางทิศตะวันออกยังสหรัฐอเมริกา เข้าเขตประเทศนั้นในวันที่ 19 เมษายน ที่เมืองพอร์ทัล (Portal) มลรัฐนอร์ทดาโคตา (North Dakota) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขึ้นไปรับเสด็จในนามประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระวรกายสันทัด พระน้ำหนักเพียง 98 ปอนด์ พระอิริยาบถละมุนละมัย และเป็นที่กล่าวขานว่าทรงมีพระอารมณ์ขันอย่างดี และทรงเป็นกันเองตามแบบฉบับของประชาธิปไตยกับผู้ที่ไปเฝ้าฯ”

พร้อมทั้งรายงานว่า บัดนี้ เป็นที่ทราบในหมู่ชาวเมืองแล้วว่า “พระองค์ไม่ได้ทรงช้างเผือก หรือทรงมีพระสนมนางในเป็นร้อยแต่อย่างใด…ทรงมีพระราชหฤทัยจงรักในสมเด็จพระบรมราชินีพระโฉมงามแต่พระองค์เดียว…และพระราชทานสิทธิแก่สตรีและเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” (พฤทธิสาณ, 2560 : 134-135)

รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก

เมื่อถึงคฤหาสน์โอฟีร์ฮอลล์ เมืองไวต์เพลนส์ (White Plains) มลรัฐนิวยอร์ก (New York State) ที่ซึ่งมีการรับเสด็จเป็นการภายใน รับสั่งว่า “เราได้มาถึงที่ซึ่งจะเป็น ‘บ้าน’ ของเราในช่วงระยะเวลาส่วนใหญ่ของการพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว…เรารู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งกับความปรารถนาดีทั้งหลายทั้งปวงที่ได้เห็นมาตลอดทาง” (พฤทธิสาณ, 2560 : 135-136)

ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล และภาพิศุทธิ์ สายจำปา อธิบายว่า รัชกาลที่ 7 ประทับที่โอฟีร์ ฮอลล์ 4-5 วัน ในวันที่ 27 เมษายน พระองค์พระราชทานพระบรมราชวโรกาสกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อเมริกัน 4 ราย เข้าเฝ้าฯ ที่นั่น เพื่อขอพระราชทานสัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์รายงานอย่างละเอียดในฉบับเช้าวันรุ่งขึ้น

พระราชทานสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

นายแฮโรลด์ เอ็น. เด็นนี่ (Harold N. Denny) ผู้สื่อข่าว The New York Times รายงานว่า

“เป็นที่ประจักษ์แต่แรกว่าทรงมีความรู้และความสนพระราชหฤทัยกว้างขวางไม่ธรรมดา ทั้งปรัชญาการปกครอง เบสบอล นักแสดงตลกชาร์ลี แชปลิน ไปจนถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาในสยามประเทศ มีพระสมาธิ สติ ปัญญา บ่งบอกออกมาด้วยสายพระเนตรที่เปล่งประกาย…ทรงตอบคำถามอย่างแคล่วคล่องและดูเหมือนจะทรงพระสำราญกับการนั้น”

ทรงอธิบายว่า ในสยามพระราชามีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนและดำเนินการให้เขามีความสุข ต่อคำถามที่ว่า ปัจเจกบุคคลไม่มีเสรีภาพในระบบกษัตริย์ที่มีผู้ปกครองคนเดียวเท่ากับในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีผู้ปกครองหลายคน รับสั่งว่า ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประเทศหนึ่ง พระองค์ไม่ควรจะทรงตอบ แต่ได้รับสั่งว่า

ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดก็คือ ระบอบที่เหมาะสมแก่ผู้คนที่อยู่ภายใต้ระบอบนั้น”

ทั้งได้ทรงถือโอกาสนั้นแถลงให้ทราบว่า กำลังทรงดำเนินการด้วยความสมัครพระทัยในการจำกัดพระราชอำนาจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยการให้สิทธิ์เลือกตั้ง (suffrage) แก่ประชาชนของพระองค์ มีเป้าหมายบั้นปลายคือ การสถาปนาระบอบการปกครองแบบมีการแทน (representative government) เมื่อประชาชนได้รับการฝึกหัดให้ทำเป็นแล้ว การนี้จะเกิดขึ้นโดยการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกผู้แทนสู่สภาเทศบาลเป็นลำดับแรก วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการเสด็จฯ มายังสหรัฐอเมริกานี้ก็เพื่อที่จะได้ทรงทราบว่าประชาธิปไตยดำเนินการกันอย่างไร “…ว่าการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั้น แสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่จริงๆ หรือไม่”

แล้วรับสั่งให้ทราบว่ายังสนพระราชหฤทัยที่จะได้ทรงศึกษา “ความก้าวหน้าในอเมริกาด้านเครื่องยนต์กลไกและอุปกรณ์ผ่อนแรงต่างๆ ซึ่งช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายขึ้น…ซึ่งสยามได้นำไปใช้อยู่บ้างแล้วมากสิ่ง…วิธีการของเราคือการประยุกต์ใช้ ไม่ใช่การเอาไปใช้ทั้งดุ้น (to adapt, not to adopt)”

ทรงเชื่อว่าอิทธิพลของตะวันตกมีประโยชน์ตรงที่ “เปิดสมองของคนให้กว้างขึ้น” และจึงทรง “แนะนำให้พินิจพิจารณาความคิดใหม่ๆ เหล่านั้นให้ดี และไม่นำมาใช้หากไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์” ทรงยกตัวอย่างพร้อมทรงพระสรวลว่า สตรีสยามเริ่มไว้ผมบ๊อบ ซึ่งก็ “เข้ากับเขาได้ดี ทำให้เขาดูงาม” ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้กันว่าส่วนหนึ่งเป็นการรับสั่งถึงสมเด็จพระบรมราชินี

ผู้สื่อข่าวจึงถือโอกาสทูลถามพระราชทัศนะเกี่ยวกับสตรีอเมริกัน รับสั่งตอบว่าไม่ทรงทราบ ทรงเลี่ยงไปรับสั่งว่าสตรีสยามไม่ได้อยู่แต่ในบ้านแล้ว บางคนกำลังศึกษาวิชาแพทย์อยู่ในกรุงเทพฯ

จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของกษัตริย์สยาม : รัชกาลที่ 7

เมื่อเสร็จสิ้นการพระราชทานสัมภาษณ์แล้ว สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ได้ประทานเอกสารพระราชกระแสแถลงการณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่นักข่าวตามที่ได้ขอพระราชทานไว้ล่วงหน้า ความสรุปว่า ทั้งสมเด็จฯ และพระองค์สนพระราชหฤทัยยิ่งในกฤตภาคที่มีการตัดถวายมากมาย ซึ่งแสดงถึงการค้นคว้าที่ได้ทำและบางทีออกจะตกพระทัยกับรายละเอียดที่เป็นจินตนาการ ทรงขอฝากไว้ว่า

“หวังว่าท่านจะเสริมสร้างรากฐานของการมีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในอเมริกานี้ให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไป และจะไม่เพียงบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสมัยอย่างตรงตามความเป็นจริงและด้วยมารยาทอันดีเท่านั้น แต่จะทำตนเป็นกลไกที่มีบทบาทยิ่งขึ้นไปในการอำนวยให้เกิดความเข้าใจ ความอดกลั้น (ต่อความแตกต่าง) เพื่อให้เกิดสันติภาพระหว่างประเทศในที่สุด”

เท่ากับว่าได้พระราชทานกำลังใจและคำเตือนสติแก่สื่อมวลชนในขณะเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ทรงปฏิบัติต่อสื่อมวลชนในประเทศสยามในภาพรวม (พรทิพย์, 2553 : 398) ทั้งยังทรงเชื่อมโยงไปถึงความพยายามที่จะให้เกิดสันติภาพถาวรในโลก

พระราชกรณียกิจที่เป็นทางการในการเสด็จประพาสครั้งนี้มีไม่กี่วัน อาทิ วันที่ 28 เมษายน เสด็จฯโดยขบวนรถไฟพิเศษสู่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรับเสด็จที่สถานี ประทับแรมที่บ้านซึ่งเจ้าของจัดถวายโดยไม่คิดมูลค่าเช่นเดียวกับโอฟีร์ฮอลล์

วันรุ่งขึ้นที่ 29 เมษายน ในช่วงเช้าเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ที่ทำเนียบขาว แล้วประธานาธิบดีเดินทางมาเฝ้าฯ ณ ที่ประทับ แต่เนื่องจากทรงพระประชวรเล็กน้อย จึงไม่ได้เสด็จฯ ยังสุสานอาร์ลิงตัน (Arlington Cemetery) แห่งทหารสิ้นชีพในสงครามตามธรรมเนียม โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์เสด็จแทนพระองค์ แต่ในช่วงค่ำ ได้เสด็จฯ ไปยังทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่งในงานเลี้ยงที่ประธานาธิบดีจัดถวายอย่างเป็นทางการ ในเวลา 20.00 น.

หนังสือพิมพ์รายงานพิธีการของงานนี้อย่างละเอียด เช่นว่า สมเด็จฯ “สง่างามสะดุดตาสมพระยศราชินีในฉลองพระองค์ผ้ายกทองหรู ซึ่งตัดเย็บให้พอเหมาะพอสมกับพระวรกาย ทรงสร้อยพระศอมรกตและพระสาง (หวี) ประดับด้วยมณีที่พระเกศา ซึ่งดำเป็นเงาสลวย…” เป็นต้น (พฤทธิสาณ, 2560 : 140) แต่ไม่ปรากฏในข่าวว่ามีสุนทรพจน์หรือพระราชดำรัส หนังสือพิมพ์ลงด้วยว่า ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินชาวตะวันออกพระองค์แรกที่เสด็จฯ ยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

บทความ “เมื่อองค์ประชาธิปกเสด็จประพาส ‘โลกใหม่'” ยังปรากฏข้อสังเกตว่า ช่วงที่เสด็จฯ เยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรอาคารที่ทำการสภาคองเกรส และตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ในสหรัฐอเมริกาไม่ปรากฏว่าได้ทรงทัศนศึกษาการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งรับสั่งในช่วงที่พระราชทานสัมภาษณ์ว่าสนพระราชหฤทัย แต่อาจได้ทรงสนทนาเรื่องนี้กับบรรดาผู้บริหารและสมาชิกสภาทั้งระดับชาติ (federal) ระดับมลรัฐ (state) และระดับนครและเมือง (city) ในโอกาสที่รับเสด็จ หรือในโอกาสอื่น โดยสื่อมวลชนมิได้รับทราบหรือรายงานถึง

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2474 ได้มีบทบรรณาธิการชื่อว่า “For the King’s Guidance” หรือ “คำเสนอแนะต่อพระราชา” เชิงทูลเตือนว่า หากทรงมีเวลาได้ทรงศึกษาการปกครองท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกาได้ลึกซึ้งขึ้น จะทรงพบว่าชาวอเมริกันเองให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี (mayor) น้อยกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดี อีกทั้งผู้ศึกษาการเมืองกำลังพะวงว่ากำลังมีการขยายอำนาจของสหพันธรัฐ (Federal power) ซึ่งจะยังผลเป็นการทอนอำนาจรัฐบาลมลรัฐและท้องถิ่นอย่างน่าเป็นห่วง

 

หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “เมื่อองค์ประชาธิปกเสด็จประพาส ‘โลกใหม่'” โดย ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล / ภาพิศุทธิ์ สายจำปา ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2562


อ้างอิง:

พรทิพย์ ดีสมโชค. 2553. แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ. 2477. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. 2560. กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.

ภาพิศุทธิ์ สายจำปา. 2558. การศึกษาเอกสารชั้นต้นภาษาต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 7 ศึกษากรณีการเสด็จประพาสต่างประเทศเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น พ.ศ. 2473-2474. เสนอพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า (เอกสารอัดสำเนา)

ธีระ นุชเปี่ยม. 2559 ก. ตัวตนใหม่ของสยามในโลกา : การต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2563