จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของกษัตริย์สยาม : รัชกาลที่ 7

รัชกาลที่ 7 จินตนาการ ประชาธิปไตย
รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการ Town Planning คณะกรรมการผังเมืองชุดแรกของสยาม

การค้นหา “จินตนาการ” ประชาธิปไตย ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจจะลำบากกว่า 2 รัชกาลก่อน เพราะ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการสามารถกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ และมีประชาธิปไตย “ของจริง” เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้    

อย่างไรก็ดี ในช่วง 7 ปีแรกของการครองราชย์ ก่อนที่จะมีการ “Revolution” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเตรียมการเพื่อใช้รัฐธรรมนูญสำหรับประเทศสยามพอสมควร แต่ด้วยข้ออ้างเรื่อง “ความไม่พร้อม” อีกเช่นกัน ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ทรงเตรียมไว้    

ช่วงปีแรก ๆ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2469 เพื่อทรงปรึกษาข้อราชการด้านต่าง ๆ กับพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) เรื่อง Problems of Siam มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงสถานภาพของพระมหากษัตริย์กำลังตกอยู่ในความยากลำบากอย่างสุดประมาณ มีความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศสยาม ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนว่า วันเวลาของการปกครองระบอบ “เอกาธิปัตย์” หรือผู้มีอำนาจสิทธิขาดแต่ผู้เดียว (Autocratic Ruler) เหลือน้อยเต็มที    

และมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับการปกครองในระบอบรัฐสภาดังนี้     

“คำถามข้อที่ 3
ประเทศนี้ต้องมีการปกครองระบอบรัฐสภาในวันใดวันหนึ่งหรือไม่ และระบบรัฐสภาตามแบบตะวันตกนั้นเหมาะสมกับคนตะวันออกจริงหรือ?    

คำถามข้อที่ 4
ประเทศนี้พร้อมที่จะมีรัฐบาลจากผู้แทนราษฎรแน่หรือ?    

โดยส่วนตัวข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจต่อคำถามข้อที่ 3 แต่สำหรับข้อที่ 4 ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ยืนยันว่า ไม่” (พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, น. 110.)

ยังมีพระราชหัตถเลขาในช่วงต้นรัชกาลอีกตอนหนึ่ง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โดยไม่ออกพระนาม ว่าด้วย “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” จะเกิดขึ้นในประเทศสยามได้หรือไม่     

“คำถามของประเทศนี้ไม่ใช่ประเด็นว่า เราต้องการประชาธิปไตยหรือไม่ แต่เป็นประเด็นว่า รัฐบาลประชาธิปไตยที่แท้จริงตอนนี้เป็นไปได้หรือไม่ และการที่ประชาชนจะสามารถออกเสียงเลือกตั้งโดยมีความรู้ถึงผลพวงของการกระทำของเขาหรือไม่ ก็ขึ้นกับมาตรฐานการศึกษาและอายุของเขา เมื่อความจริงมีอยู่ว่า ประชาชนเราจำนวนมากยังขาดการศึกษา” (เบนจามิน เอ. บัทสัน. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543), น. 206.

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรง “จินตนาการ” ถึงระบบ “ทุน” ที่จะครอบงำการเมืองในประเทศสยาม โดยความจริงในเวลานั้นผู้ที่เป็นนายทุนใหญ่คือ “คนจีน” ความข้อนี้อยู่ในพระราชบันทึกเรื่อง Democracy in Siam พระราชทานมายังคณะกรรมการจัดระเบียบองคมนตรี ในปี 2470     

“ข้าพเจ้าจะขอเอ่ยถึงความจริงข้อหนึ่งคือ พรรคการเมืองของคนจีนจะมีอำนาจเหนือรัฐสภา เราอาจไม่ให้สิทธิ์ทางการเมืองแต่อย่างไรแก่คนจีนก็ได้ แต่เขาก็จะมีอำนาจเหนือสถานการณ์อยู่นั่นเอง เพราะเขามีเงินสดอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก    

พรรคการเมืองใดซึ่งตั้งอยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งเงินทุนจากคนจีนจะไม่มีวันทำการสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นการเมืองในประเทศสยามจะอยู่ใต้อำนาจพ่อค้าคนจีนซึ่งจะเป็นผู้สั่งการ ที่พูดมานี้มีทางที่จะเป็นไปได้อย่างยิ่ง” (วุฒิชัย มูลศิลป์ และคณะ. พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : อัลฟ่า มิเล็นเนียม, 2546), น. 206)

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงหนี “ความไม่พร้อม” ไม่พ้นระบอบ ประชาธิปไตย ที่ทรงยืนยันว่ามีแต่ชาวตะวันตกเท่านั้นที่สามารถทำให้ระบอบการปกครองแบบนี้เป็นผลสำเร็จได้ ไม่มีวันเหมาะสมกับประชาชนชาวสยาม ก็มาเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ อาจจะเป็นเพราะทรงไม่เห็นพ้องด้วยนี้เองที่ทำให้มีพระราชหัตถเลขา อันเป็นประโยคที่ถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกคือ      

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “จินตนาการประชาธิปไตย ‘ที่แท้จริง’ ของพระมหากษัตริย์สยาม” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2562