ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
ว่าด้วยจินตนาการเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริง ของพระมหากษัตริย์ไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
จินตนาการ “ประชาธิปไตย” ของ “รัชกาลที่ 6”
หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ปีกว่าเท่านั้น ก็มีคณะทหารหนุ่ม “เสี่ยงตาย” คิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะยังไม่มีมติที่แน่นอนว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบใด แต่ก็มี 2 แนวทางที่คณะนายทหารหนุ่มต้องการระหว่าง “รีพับลิค” และ “ลิมิเต็ดโมนาร์ชี”
อย่างแรกนั้นเป็นระบอบสาธารณรัฐซึ่งเป็นแบบ “ล้มเจ้า” ส่วนอย่างหลังเป็นแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ
แต่แผนการยึดอำนาจของคณะนายทหารหนุ่มถูก “ไส้ศึก” รายงานให้ทางการรู้ตัวเสียก่อน คณะนายทหารจึงถูกจับก่อนที่จะได้ทำอะไรตามแผนการที่วางไว้ ภายหลังเรียกการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า “กบฏ ร.ศ. 130”
เช่นเดียวกับรัชกาลก่อน แม้จะทรงมีแนวคิด “สมัยใหม่” และแสดงพระทัยกว้างเมื่อถูก “ท้าทาย” จากคณะทหารหนุ่ม แต่ “ข้ามีโทมนัสอย่างยิ่ง เหลือที่จะอธิบายได้” ต่อเหตุการณ์นั้น
และเช่นเดียวกับรัชกาลก่อน มีพระราชดำริถึง “ความไม่พร้อม” ของประเทศสยาม หากจะมี “คอนสติตูชัน” ในรัชกาลของพระองค์ ทรงแสดงแนวพระราชดำริเรื่องนี้ในรูปแบบพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเสียของการปกครองรูปแบบอื่นหากนำมาใช้กับคนไทย
เช่นใน “จดหมายเหตุรายวัน” ร.ศ. 130 ปีกุน จ.ศ. 1272 พุทธสาสนายุกาล 2454 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคม ถึง 31 มีนาคม
โดยเฉพาะจดหมายเหตุรายวันฉบับเดือนมีนาคม น่าจะเป็นพระราชนิพนธ์หลังกรณีกบฏ ร.ศ. 130 โดยทรงชี้ให้เห็นว่า หากนำ “คอนสติตูชัน” มาใช้ในประเทศสยามแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรืออีกนัยหนึ่งทรง “จินตนาการ” ระบอบประชาธิปไตยไว้ล่วงหน้า หากนำการปกครองระบอบอื่น ๆ มาใช้กับประเทศสยามในภาวะที่ยังมีความ “ไม่พร้อม”
เบื้องต้นทรงแสดงแนวคิดเห็นด้วยกับการมี “คอนสติตูชัน” เพราะการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงมีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว อาจส่งผลร้ายต่อบ้านเมืองได้ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินนั้น “เปนผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดานหยาบ ดุร้ายและไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบ ฉนี้ก็ดีประชาชนก็อาจได้รับความเดือดร้อน ปราศจากความศุข ไม่มีโอกาสที่จะเจริญได้ ดังนี้จึงเห็นได้ว่าเปนการเสี่ยงบุญ เสี่ยงกรรมอยู่” (จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์, 2517), น. 49.)
ทรงเห็นด้วยที่ประชาชาชนมีปากมีเสียงในการปกครองบ้านเมืองของตนเอง ทั้งนี้เสนาบดีก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนเช่นกัน
“ถ้าแม้ว่าทำการในน่าที่บกพร่อง ประชาชนไม่เปนที่ไว้วางใจต่อไป ก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกันมากๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาสเฃ้ารับตำแหน่งน่าที่ ทำการงานให้ดำเนินไปโดยทางอันสมควรและถูกต้องตามประสงค์แห่งประชาชน” (จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์, 2517), น. 50.)
แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมี “จินตนาการ” ถึง “โทษอันอาจจะมีมาได้” เมื่อใช้ระบอบการปกครองแบบ “คอนสติตูชั่น” เช่นกัน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าเวลานั้น ยังไม่มีประชาธิปไตย “ของจริง” ให้เห็น จึงไม่มีใครรู้แน่ว่า หากประเทศสยามต้องมีพรรคการเมือง ผู้แทนราษฎร และรัฐสภา แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
ประการแรก ทรงเห็นว่าหากประชาชนยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะปกครองตัวเองได้ ก็อาจใช้อำนาจในทางที่ผิด แม้ว่าจะเป็นไปตามความต้องการของเสียงข้างมากก็ตาม อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชนได้
ข้อต่อมา เมื่อประชาชนเลือก “ผู้แทน” เข้าไปนั่งในรัฐสภาแล้ว หากผู้แทนนั้นเป็น “คนดีจริง” ก็จะไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ปัญหาก็คือ “ประชาชนโดยมากก็มีกิจธุระทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ด้วยกันทุกคน จะมัวสละเวลาเพื่อกระทำความวิสาสะ กับผู้ที่จะเปนผู้แทนตนในรัฐสภาไม่ได้อยู่เอง” (จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์, 2517), น. 51.)
นอกจากนี้การแข่งขันกันของพรรคการเมืองหรือ “คณะปาร์ตี้” เพื่อให้ได้คนจำนวนมากกว่าคู่แข่งย่อม “ไม่ได้ใช้ฬ่อใจราษฎรแต่ด้วยถ้อยคำเท่านั้น ยังมีฬ่อใจโดยทางอื่น ๆ อีก ตั้งแต่ทางเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสะดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ จนถึงติดสินบนตรง ๆ เปนที่สุด คณะใดมีทุนมากจึ่งได้เปรียบมากอยู่ ก็ตกลงรวบรวมใจความว่า ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตน เพราะรู้แน่ว่าเปนคนดี สมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉนี้เลย ตามจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือก ฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น” (จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์, 2517), น. 53.)
วันที่ทรงจดหมายเหตุนี้คือ เดือนมีนาคม 2454 หรือทรง “จินตนาการ” เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว และก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยราว 21 ปี แต่น่าประหลาดที่ข้อความในจดหมายเหตุนี้ สามารถใช้บรรยายภาพการเลือกตั้งในปัจจุบันได้อย่าง “เที่ยงตรง” ทีเดียว
“จินตนาการ” ประชาธิปไตยที่แท้จริง (หรือที่เกิดขึ้นจริง ๆ) ยังทรงกล่าวถึงบทบาทของพรรคการเมืองประเภทพวกมากลากไป ผู้แทนไม่ได้เคารพความคิดเห็นของตัวเอง ทั้งที่มี “เอกสิทธิ” คุ้มครองอยู่ หรือยืนอยู่ข้างประชาชนและความถูกต้อง แต่…
“เมื่อถึงเวลาลงคะแนนกัน ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของคะแนนฃ้างมากเสมอ ก็ผู้ที่จะลงคะแนนนั้น โดยมากก็คงจะลงคะแนนตาม ๆ กัน สุดแต่หัวน่าแห่งคณะของตนจะบอกให้ลงทางไหน” (จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์, 2517), น. 55.)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรง “จินตนาการ” ต่อไปอีกถึงรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองเสียงข้างมาก ทรงเห็นว่ายังจะมีผลต่อบำเหน็จรางวัลแก่ผู้อุดหนุนพรรคการเมือง รวมไปถึงการให้ตำแหน่งสำคัญ ๆ เพื่อตอบแทนกัน
“เมื่อปาร์ตีใดได้รับน่าที่ปกครอง ฤาพูดตามศัพท์อังกฤษว่า ‘ถืออำนาจ’ (อินเปาเวอร) ปาร์ตีนั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งน่าที่ต่าง ๆ ในรัฐบาล เปนทางรางวัลผู้ที่เปนพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังพยายามหาอำนาจอยู่นั้น พอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้เฃ้าถืออำนาจ เจ้าน่าที่ต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป” (จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์, 2517), น. 56.)
ส่วนกรณีการแก้ปัญหาของประชาชน หรือทางการเมืองด้วยการใช้ “รัฐสภา” หรือในปัจจุบันเราเรียกว่า “มีอะไรให้ไปพูดในสภา” เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนายความ “ไร้ผล” ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า
“ประชาชนจะร้องทักท้วงขึ้นได้ก็โดยอาไศรยปากแห่งผู้แทน ซึ่งได้เลือกให้เฃ้าไปเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาอยู่แล้ว ก็ในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์นั้น แล้วแต่คะแนนมากและน้อยมิใช่ฤา พวกรัฐบาลเฃามีอยู่มาก ถึงใคร ๆ จะร้องจะว่าเฃาอย่างไร เมื่อท้าลงคะแนนกันเฃ้าเมื่อใดก็ต้องแพ้เฃาเมื่อนั้น” (จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์, 2517), น. 58.)
นั่นคือส่วนหนึ่งใน “จินตนาการ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ของประเทศสยาม
ในที่สุดการรอคอย “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ก็สิ้นสุดลงในปี 2475 ประเทศสยามก็มีประชาธิปไตยด้วยแนวคิดก้าวหน้าของ “คณะราษฎร” หลายคนบอกว่านี่คือ “Revolution” ของจริง เป็นโอกาสที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงปกครองตนเองเป็นครั้งแรก แต่อีกหลายคนบอกว่า ประชาธิปไตย 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม?
อ่านเพิ่มเติม :
- จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของกษัตริย์สยาม : รัชกาลที่ 5
- จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของกษัตริย์สยาม : รัชกาลที่ 7
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดลอกเนื้อหาจากบทความ จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของพระมหากษัตริย์สยาม ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2562