ผู้เขียน | เมฆา วิรุฬหก |
---|---|
เผยแพร่ |
วันรัฐธรรมนูญ “10 ธันวาคม” กับพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 7 จากฉบับชั่วคราว ถึง “ฉบับถาวร”
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลุ่มคณะราษฏรได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ ทำให้สยามมีระบอบรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พวกเขาร่างขึ้นจะมีอายุสั้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเพิ่มคำว่า “ชั่วคราว” ลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จึงต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมขึ้นมา เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรียกกันต่อมาว่า “ฉบับถาวร” อันได้มีการประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน
เรื่องนี้ ดร. ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการค้นคว้าถึงเบื้องหลังความเป็นมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองไปจนถึงการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้กรอบความคิดทางวัฒนธรรม เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามสำคัญว่า รัฐธรรมนูญถูกนำเสนอต่อสังคมอย่างไร และสังคมมีความจดจำต่อรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นตั้งแต่การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใส่คำว่า “ชั่วคราว” ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร ดร. ภูริ ชี้ว่า นั่นเป็นผลมาจากความไม่พอพระราชหฤทัยดังที่ได้ทรงเปิดเผยในคราวสละราชสมบัติว่า “ครั้นเมื่อ…ได้เห็นรัฐธรรมนูญฉะบับแรกที่หลวงประดิษฐฯ ได้ทำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้าก็รู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการฯ กับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องกันเสียแล้ว”
แต่เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งคณะราษฎรเลือกให้เป็นผู้นำระบอบใหม่ และยังเป็นประธานของอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ได้กลายเป็นผู้ประสานงานกับรัชกาลที่ 7 อย่างใกล้ชิด และทำให้พระองค์พอพระราชหฤทัยได้ ดังที่ ดร. ภูริ กล่าวว่า “พระยามโนปกรณ์นิติธาดาติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสม่ำเสมอ เฝ้าปรึกษาหารือ และมักดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชประสงค์ นับตั้งแต่เรื่องใหญ่โตอย่างการให้เจ้านายอยู่เหนือการเมือง ไปจนถึงเรื่องปลีกย่อยอย่างการเลือกใช้คำ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกเมื่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเอนเอียงไปในทางอนุรักษนิยม ซึ่งนี่ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ทรงแสดงท่าทีเชิงบวกอย่างเด่นชัด”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยพระองค์ทรงเป็นผู้เสนอให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม และทรงเสนอให้เชิญคณะทูตานุทูตเข้าร่วมชมพระราชพิธี ทั้งยังให้โหรหลวงประจำราชสำนักไปหา “ฤกษ์สำหรับพระราชทานรัฐธรรมนูญ” ด้วย
การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเขียนลงบนสมุดไทยด้วยก็เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระองค์เอง ดังที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาชี้แจงว่า “โดยที่ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้นต้องการเขียนลงใส่สมุดไทย”
เมื่อมี “เส้นตาย” ตามฤกษ์ ที่กำหนดไว้แล้ว และยังต้องมีการจารึกลงสมุดไทยซึ่งต้องใช้เวลานาน ทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องเร่งรัดกับทางสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาจนเสร็จสิ้นให้ทันตามขั้นตอนที่วางแผนไว้โดยแถลงต่อสภาขอให้ “รีบปรึกษาเสียแต่เช้าไปตลอดวัน และถ้าสามารถก็จะให้จนถึงกลางคืนด้วย”
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งคือ การร่างคำประกาศที่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความตอนหนึ่งบอกถึงเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญว่า “ข้าราชการทหารพลเรือน และอาณาประชาราษฎรของพระองค์ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากรุณา ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาแล้วว่า หลังราชวงศ์จักรีได้บริหารบ้านเมืองมายาวนาน “ประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบาย…สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศสยาม” ดังนั้น “จึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์”
ซึ่งตรงนี้ ดร. ภูริ กล่าวว่า ผู้ร่างคำประกาศดังกล่าว คือ พระสารประเสริฐ ร่างขึ้นตามแนวทางอนุรักษ์นิยม ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานกำเนิดรัฐธรรมนูญตามคำกราบบังคมทูลของประชาชน มีการเน้นย้ำเรื่องความราบรื่น แต่ไม่มีการพูดถึงคณะราษฎร หรือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่อย่างใด “รัฐธรรมนูญจึงถือกำเนิดขึ้นจากการพระราชทานตามคำกราบบังคมทูล หาใช่จากการยึดอำนาจ หรือการปฏิวัติ”
รูปแบบของพระราชพิธี ดร. ภูริ ก็ชี้ว่า “ถูกออกแบบมาด้วยความระมัดระวังช่วยให้พระมหากษัตริย์ครองสถานะเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับถาวร กฎหมายสูงสุดเป็น ‘ของพระราชทาน’ จากเบื้องบนจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หาใช่คณะราษฎร”
พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นความปราชัยของฝ่ายคณะราษฎร ที่ถูกลดทอนความหมายจนแทบไม่มีบทบาท ซึ่งส่งผลต่อความรับรู้ของสังคมในลำดับต่อๆ มา ขณะที่ทูตฝรั่งเศสในขณะนั้นก็ได้แสดงความชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในรายงานที่ส่งไปยังกรุงปารีส เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ว่า
“พระราชอำนาจถูกเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่ง…วัตถุประสงค์ของพระราชพิธีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมคือ เพื่อทำให้เชื่อ (Faire croire) ว่า [รัฐธรรมนูญ – ภูริ] ได้ถูกพระราชทาน (Octroyée) จากองค์อธิปัตย์…หลังทรงลงพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ทรงยื่นรัฐธรรมนูญให้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับมันไปขณะกำลังคุกเข่าอยู่กับพื้น
“ดังนั้น ในหลายวาระตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พระราชอำนาจที่เพิ่มพูนขึ้นของพระองค์ได้ถูกยืนยัน พระองค์…ทรงก้าวเดินออกจากวิกฤตินี้พร้อมด้วยพระเกียรติที่ถูกฟื้นฟู และ…อำนาจทั้งปวงในประเทศนี้ที่ยังผูกอยู่กับแนวคิดว่าด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”
อ่านเพิ่มเติม :
- พานรัฐธรรมนูญ : การช่วงชิงอำนาจหลังปฏิวัติบนสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์
- 27 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ “ชั่วคราว” แก่คณะราษฎร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ: นัยยะแห่งการเมือง สัญญะแห่งอำนาจ” โดย ภูริ ฟูวงศ์เจริญ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2560