27 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ “ชั่วคราว” แก่คณะราษฎร

รัฐธรรมนูญ พานรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทางคณะราษฎรได้จัดแจงระบบระเบียบและร่างข้อกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม” ไว้อย่างเรียบร้อย ร่างขึ้นโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ และคณะกรรมการคณะราษฎรบางส่วน ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย แต่ทว่าฉบับที่พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยนี้ เป็นเพียง “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว”

สาเหตุที่พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามเป็นฉบับ “ชั่วคราว” นั้นเพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงเติมพระอักษร” กำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า “ชั่วคราว” และมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่า ให้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับนี้เป็นการชั่วคราว และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อปรับปรุงข้อกฏหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความเสถียรภาพมากขึ้นกว่าฉบับชั่วคราว

ส่วนหลักฐานที่ว่าด้วยพระองค์ “ทรงเติม” คำว่าชั่วคราวด้วยจุดประสงค์ใด หาที่มาอย่างแน่ชัดมิได้ แต่ก็มีคำอธิบายเนื่องด้วยเหตุใดจึงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในหนังสือ “พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า

“…จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นการชั่วคราว พอให้สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฏร ได้จัดรูปงานดำเนินประศาสโนบายให้เหมาะแก่ที่ได้เปลี่ยนการปกครองใหม่…”

จากข้อความที่ยกมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อให้เริ่มปกครองสยามประเทศในรูปแบบใหม่ เพื่อจัดระเบียบเสียก่อนที่จะมีการตั้งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และมีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ “ชั่วคราว” ของรัชกาลที่ 7 เป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะว่าหลักสำคัญของการปกครองระบอบดังกล่าว จะต้องมีกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้ร่วมกันในสังคม จึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ และ “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” นี้ ก็ยังเป็นแม่แบบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่ถูกใช้และปรับเปลี่ยนมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2524

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยาม, 2519

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475” สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2562. จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พ.ศ._2475


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2562