“พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7” เคยเกือบถูกสร้างแทนที่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ซึ่งอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 (องค์เดิม) ซึ่งวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี 2566 ได้มีพิธีบวงสรวงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) แรกเริ่มเดิมทีเป็นโครงการที่จะก่อสร้างขึ้นแทนที่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” บนถนนราชดำเนินกลางมาก่อน โดยสัมพันธ์กับนัยยะทางการเมืองในช่วงเวลานั้นอย่างมาก แต่ท้ายสุดความคิดดังกล่าวก็ต้องล้มเลิกไปด้วยเหตุผลหลายประการ

ภายหลังรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ปิดฉากบทบาททางการเมืองของคณะราษฎร เปิดทางให้กลุ่มนิยมเจ้าและกลุ่มอนุรักษนิยมได้กลับมามีบทบาททางการเมือง พร้อมกับการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในสังคมไทย หลักฐานที่ชัดเจนคือรัฐธรรมนูญ ปี 2492 ที่เพิ่มบทบาทและพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์อย่างมาก

รวมไปถึงมีการผลิตงานเขียนต่าง ๆ สร้างคำอธิบายประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยว่า เกิดจากการพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ผลงานเรื่อง “เบื้องหลังประวัติศาสตร์” “ฝันจริงของข้าพเจ้า” “เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ” ฯลฯ ทำให้ความทรงจำว่าด้วยบทบาทของรัชกาลที่ 7 ในฐานะกษัตริย์นักประชาธิปไตย เริ่มซึมซาบสู่สังคมไทย

เมื่อเกิดรัฐประหารวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2494 ซึ่งมีสาเหตุจากความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มทหารภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับกลุ่มนิยมเจ้า นำสู่การยุติบทบาททางการเมืองของกลุ่มหลัง ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2492 และนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 ซึ่งจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจอมพล ป. ต้องการประนีประนอมกับกลุ่มนิยมเจ้าและกลุ่มอนุรักษนิยม เป็นที่มาของแนวคิดในการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 เพื่อลดกระแสต่อต้านจากกลุ่มนิยมเจ้า สะท้อนจากคำกล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2494 ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุก สันติคุณ วิบุลราศี แก่อาณาประชาชน ตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล เอนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร สมควรจะได้สร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้นไว้ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นที่เคารพสักการะสืบไป”

ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 31 มกราคม ปี 2495 ที่ประชุมได้พิจารณาเลือกสถานที่ 2 แห่งในการก่อสร้าง คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม และ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ประชุมมีมติเลือกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ก่อสร้าง ดังคำกล่าวของ พลตรี บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการดำเนินการสร้าง ความว่า

“ควรจะสร้างตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปตัยปัจจุบันนี้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็นอนุสาวรีย์ซึ่งเป็นของสิ่งหนึ่งคือรัฐธรรมนูญ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน จึงมิใช่พระองค์ท่าน เป็นเพียงวัตถุสิ่งของเท่านั้น ฉะนั้นเหตุใดจึงไม่เอาพระบรมรูปของพระองค์ท่านตั้งแทน”

ด้านจอมพล ป. ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้คัดค้านประการใด แต่ผู้เคลื่อนไหวคัดค้านกลับเป็น พลตรี ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎร ซึ่งขอให้จอมพล ป. หาทำเลใหม่ในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 แทน แต่การคัดค้านไม่เป็นผล

โครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ แม้ฝ่ายราชสำนักจะพยายามกดดันให้มีการก่อสร้างอย่างเร่งด่วน แต่กระทรวงการคลังไม่อาจจัดหาเงินมาให้ได้ เพราะจะทำให้มีปัญหาในการจัดสรรงบประมาณประจำปี ท้ายสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2496 คณะกรรมการจึงทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ระงับการจัดสร้างไว้ก่อน ซึ่งจอมพล ป. รับทราบ พร้อมแสดงความเห็นว่า

“เมื่อยังไม่มีเงินก็ให้รอไปก่อน ส่วนการสร้างที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางนั้น ดูจะไม่เหมาะสม”

โครงการดังกล่าวจึงเงียบหายไป และไม่มีการนำเรื่องกลับมาพิจารณาอีกตลอดสมัยรัฐบาลจอมพล.ป อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ความจริงแล้วจอมพล ป. อาจไม่เห็นด้วยกับการสร้างแทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผลงานการก่อสร้างในยุคที่จอมพล ป. เป็นนายกฯ สมัยแรกในปี 2482 และเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอุดมการณ์คณะราษฎร อันมีตัวเขาเป็นผู้นำนั่นเอง

การก่อสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในปี 2517 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ 10 ธันวาคม ปี 2523 โดยประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่หน้าอาคารสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ก่อนอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. “การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2494” ใน ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2556.

ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระองค์เดิม) ประดิษฐานบนพระที่นั่งพุดตาน ณ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา ชั้น MB1 อาคารรัฐสภา. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เข้าถึงจาก https://web.parliament.go.th/view/7/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2/97973/parcy/TH-TH


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2566