พานรัฐธรรมนูญ : การช่วงชิงอำนาจหลังปฏิวัติบนสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์

พานรัฐธรรมนูญ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 คณะราษฎรพยายามเผยแพร่แนวคิดเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ปรากฏผ่าน “พานรัฐธรรมนูญ” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ “ระบอบใหม่” ให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไป โดยในช่วงสัปดาห์แรกหลังการปฏิวัติ คณะราษฎรส่งตัวแทนไปเยือนสถานศึกษาระดับสูงในพระนคร เพื่อแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นไม่นานก็ส่งตัวแทนลงพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

แต่ทำได้เพียงไม่กี่เดือน ทุกอย่างค่อย ๆ เงียบหายไป แม้แต่หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปี 2475 แล้วนั้น รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ไม่ได้เผยแพร่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ล่วงเข้าถึงสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐบาลกลับมาให้ความสนใจการเผยแพร่รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง โดยมีผู้ผลักดันคือ หลวงวิจิตรวาทการ

หลวงวิจิตรวาทการต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายปกป้องรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมาธิการพิจารณาหาทางว่าทำอย่างไรจึงจะให้รัฐธรรมนูญมั่นคงอยู่ได้” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2476 มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ มีแผนการที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการส่งหน่วยโฆษณาการลงพื้นที่ทุกตำบล เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องนี้

ทว่าในวันที่ 11 ตุลาคม ขณะที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกำลังอธิบายแผนการต่อคณะรัฐมนตรีอยู่นั้น ก็ได้ทราบข่าวด่วนว่า “คณะกู้บ้านเมือง” หรือ “กบฏบวรเดช” ได้ยกกำลังทหารเข้าประชิดพระนคร การประชุมคณะรัฐมนตรีจึงยุติลงทันที

เหตุการณ์กบฏบวรเดชทำให้รัฐบาลตระหนักถึงการสร้างสำนึกต่อรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน แต่จะใช้วิธีการแบบเดิม ๆ คงไม่สำเร็จผลเท่าใดนัก รัฐบาลจึงได้พยายามนำเสนอรัฐธรรมนูญผ่านความ “ศักดิ์สิทธิ์” ให้เป็นตัวแทนของบางสิ่งบางอย่างที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมืองประเทศชาติด้วยพลังกึ่งเหนือธรรมชาติ กล่อมเกลาให้สังคมมองรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเคารพบูชา เกษียร เตชะพีระ อธิบายว่า คณะราษฎรฉายภาพให้รัฐธรรมนูญมี “รูปร่างเห็นชัดจับต้องได้” และมีสถานะไม่แตกต่างจาก “ของขลัง”

ในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง รัฐบาลจึงได้ก่อตั้ง “สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ” มีจุดประสงค์ 4 ประการ คือ หนึ่ง สนับสนุนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, สอง ปลูกความสามัคคีในระหว่างชนชาวสยามด้วยกัน, สาม ช่วยรัฐบาลและประชาชนในอันจะยังความเจริญให้บังเกิดแก่ชาติและราษฎรทั่วไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ และสี่ อมรบสมาชิกให้มีคุณลักษณะที่สามารถทำประโยชน์แก่ชาติยิ่งขึ้น

ในประกาศของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งได้สะท้อนการตื่นตัวการเผยแพร่รัฐธรรมนูญของรัฐบาล อันเนื่องมาจากกบฏบวรเดช ความว่า “ครั้นมาเมื่อภายหลังที่เหตุการณ์กบฏได้บังเกิดขึ้นแล้ว ก็ยิ่งมีความรู้สึกอันแรงกล้า ว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งสำหรับผูกพันความสามัคคีกลมเกลียวกัน เพื่อรักษารัฐธรรมนูญให้ยืนยงมั่นคงอยู่ตลอดการ…”

พระยาพหลพลพยุหเสนาเองก็มีแนวคิดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ดังที่เคยกล่าวว่า “จะรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม โดยจะต้องช่วยกันรักษาให้มีความศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ คือต้องพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ ไม่ใช่เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ…”

สมาคมคณะรัฐธรรมนูญประกอบด้วยองค์กรใหญ่สององค์กรคือ “ชุมนุมใหญ่” และ “คณะกรรมการกลาง” โดยชุมนุมใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้สถาปนาสมาคม ตลอดจนบุคคลที่มีส่วนในการโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และปราบกบฏบวรเดช ซึ่งชุมนุมใหญ่จะแต่งตั้งคณะกรรมการกลางให้มาบริหารสมาคมตามนโยบายที่ให้ไว้

แม้สมาคมคณะรัฐธรรมนูญจะจดทะเบียนเป็นเอกชน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาล แต่ในทางปฏิบัติสมาคมนี้มีภาครัฐคอยให้การส่งเสริมอย่างขะมักเขม้น สมาชิกประกอบไปด้วยนักการเมือง ผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ทหาร ข้าราชการ อัยการ ผู้พิพากษา พ่อค้าคหบดี ประชาชน ฯลฯ ทำให้สมาคมเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดและครอบคลุมทั่วประเทศในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ปลายเดือนมกราคม ปี 2477 ระหว่างที่สมาคมคณะรัฐธรรมนูญกำลังได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศอยู่นั้น จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน มีจดหมายถึงคณะรัฐมนตรี เสนอให้รัฐบาลควรให้ผู้แทนราษฎรแต่ละคน “อัญเชิญ” รัฐธรรมนูญไปสู่จังหวัดของตนมื่อหมดสมัยประชุมสภาฯ ในจดหมายตอนหนึ่งเขียนว่า

“ครั้งรัฐบาลเก่า เมื่อมีกระแสพระบรมราชโองการแลสารตราเจ้าพระยาจักรีมีไปถึงเจ้านายประเทศราชก็ยังทำพิธีแห่แหนมีตำรวจนำกระทำความเคารพ มาเทียบกับสมัยนี้ไม่มีอะไรจะมีเกียรติสูงไปยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐบาลจะให้เคารพรัฐธรรมนูญ…จะกรุณาโปรดสั่งข้าหลวงประจำจังหวัด ปกป่าวแก่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรผู้แทนตำบล ตั้งกระบวนรับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหัวใจของชาติ…เป็นนโยบายจูงใจราษฎรให้มีความเคารพแลรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญมีประโยชน์ แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แลราษฎรอย่างไร”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับรถลาก) ทอดพระเนตรร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2476 (ภาพจาก The Illustrated London News)

กลางเดือนเมษาปีเดียวกันนั้น จำรัส มหาวงศ์นันทน์ มีจดหมายถึงคณะรัฐมนตรีอีกฉบับหนึ่ง เรียนขอ “รัฐธรรมนูญจำลอง” เป็นสมุดข่อย อัญเชิญไปยังศาลากลางจังหวัดเพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวเป็นหลักที่พึ่ง และยังเป็นการเผยแพร่รัฐธรรมนูญด้วยอีกประการหนึ่ง ซึ่งทำให้รัฐบาลคล้อยตามและสนใจแนวคิดของจำรัส มหาวงศ์นันทน์

คณะราษฎรมีแนวคิดและความพยายามที่จะนำรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทนที่สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหม่ ยากที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากมีความเป็นนามธรรม จึงพยายามทำให้สิ่งนี้เป็นรูปธรรม ด้วยการทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็น “สัญลักษณ์ทางการเมือง”

ดังนั้น รัฐบาลเห็นสมควรให้สร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น 70 ชุด นำไป “ประดิษฐาน” ไว้ทุกจังหวัด โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ควบคุมดูแลเรื่องนี้ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ และอธิบดีกรมศิลปากร จากนั้นได้ประสานงานกับหลวงประดิษฐมนูธรรมในเรื่องการออกแบบ สรุปว่าให้ช่างฝีมือของกรมศิลปากรทำสมุดไทยลงรักปิดทองเป็นสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ วางบนพาน 2 ชั้น เป็น “พานรัฐธรรมนูญ” สะท้อนแนวคิดให้เป็น “ของบูชา”

การจัดสร้างพานรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม ปี 2477 โดย 69 ชุด จะส่งไปประดิษฐานตามแต่ละจังหวัด อีก 1 ชุด สำหรับที่ทำการใหญ่ของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญที่พระราชอุทยานสราญรมย์

โดยสรุปแล้ว ผู้ต้นคิดเรื่องสร้างพานรัฐธรรมนูญก็คือ จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ส่วนการออกแบบสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญให้เป็นพานรัฐธรรมนูญก็มีที่มาจากกรมศิลปากร โดยการปรึกษาหารือเรื่องการออกแบบระหว่างหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร กับหลวงประดิษฐมนูธรรม

พานซ้อนกันสองชั้นในลักษณะนี้เรียกอีกอย่างว่า “พานแว่นฟ้า” ซึ่งการใช้พานแว่นฟ้านี้สะท้อนถึงการบูชาของสูง เพราะใช้รองรับสิ่งของที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันพุทธศาสนา เช่น ใช้รองรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระบรมสารีริกธาตุ หรือผ้าไตร แม้แต่ในพระราชลัญจกรรัชกาลที่ 4 ที่ริมขอบทั้ง 2 ข้างก็มีพานแว่นฟ้ารองรับพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง และรองรับสมุดตําราข้างหนึ่ง

รัฐธรรมนูญ พานรัฐธรรมนูญ งานฉลองวันรัฐธรรมนูญ
ถ้วยรางวัล ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อ 10 ธันวาคม 2480 ด้านหลังเป็นฉากที่มีการจำลองรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้า

เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ อธิบายว่า การนำพานแว่นฟ้าซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใช้กับสถาบันทางการเมืองโดยคณะราษฎรนั้น เป็นความพยายามที่จะสถาปนาให้เรื่องประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อพิจารณารูปทรงทางกายภาพแล้ว พานรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความแตกต่างอันใดกับพานแว่นฟ้าที่ใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์เลย

เหตุที่ต้องเป็นพานรัฐธรรมนูญนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่า “หากรัฐธรรมนูญเป็นของพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ตัวแทนของประชาชนก็พึงรับเอารัฐธรรมนูญนั้นจากพระหัตถ์เพื่อน้อมใส่เกล้า เป็นการรับของจากพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยรับพระราชทานปริญญาบัตร ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีพานแว่นฟ้ารองรับอีกทอดหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม เป็นเพราะตัวแทนของประชาชนจะทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยต่างหาก จึงต้องทอดรัฐธรรมนูญนั้นลงบนพานแว่นฟ้า เพื่อจะได้นำทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธยด้วยความเคารพในองค์พระมหากษัตริย์ตามธรรมเนียมไทย เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่อยู่บนพานแว่นฟ้า จึงหมายถึงรัฐธรรมนูญที่ส่งจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ไม่ใช่ส่งจากข้างบนลงมาข้างล่าง”

การสร้างพานรัฐธรรมนูญถูกวางด้วยแนวคิดที่ต้องการทำให้เป็นของบูชา เป็นของขลัง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่แนวคิดของการสร้างพานรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังมีเรื่องของ “พิธีกรรม” เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้รัฐธรรมนูญเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้นไปอีก

ในวันที่ 28 สิงหาคม ปี 2477 ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ มีพิธีการส่งมอบพานรัฐธรรมนูญให้กับผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด โดยสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ เป็นประธานในพิธี ทรงเจิมพานรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ท่ามกลางเสียงปี่พาทย์และเสียงสวดมนต์อวยชัยจากพระสงฆ์ 70 รูป เช้าวันต่อมาก็มีพิธีเวียนเทียนสมโภช จากนั้นนำไปประดิษฐานร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในระหว่างรอการส่งมอบให้แต่ละจังหวัด

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ มหาสารคาม รัฐธรรมนูญ พานรัฐธรรมนูญ
อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2477 เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อมีการอัญเชิญพานรัฐธรรมนูญไปประดิษฐานในแต่ละจังหวัดก็ทำกันอย่างใหญ่โต มีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ ซ่อมแซม ตกแต่งบ้านเรือนให้งดงาม รวมถึงการขนส่งก็ทำกันอย่างเอิกเริก เช่น จังหวัดเพชรบุรีโดยทางรถไฟ จังหวัดปราจีนบุรีโดยทางรถปืน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยทางเรือรบหลวง จังหวัดน่านโดยทางเครื่องบิน นักข่าวในสมัยนั้นถึงกับอธิบายว่า “รัฐธรรมนูญได้รับความสักการะบูชาประหนึ่งว่า เป็นพระพุทธปฏิมากร เคยถูกแห่แหนทั้งทางบก ทางน้ำ ทางเวหา”

เมื่ออัญเชิญรัฐธรรมนูญมาถึงจังหวัดของตนแล้ว บางจังหวัดก็นำพานรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนบุษบก แล้วจัดขบวนแห่ไปรอบเมือง จากนั้นทำพิธีการที่ศาลากลางจังหวัดหรือสนามกีฬา ให้ประชาชนเข้าสักการะบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และมีการปฏิญาณตนต่อหน้าพานรัฐธรรมนูญ

ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้อยู่ในเหตุการณ์การอัญเชิญพานรัฐธรรมนูญมาประดิษฐานที่จังหวัดนครศรีธรรมราชบันทึกไว้ว่า “รัฐบาลทำรัฐธรรมนูญจำลองเหมือนตัวจริงเป็นสมุดข่อยใส่พานแว่นฟ้าเท่าจำนวนจังหวัดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำไปประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดของตน…นายมงคล นัตยวิตร ส.ส. นครศรีธรรมราช ประคองพานรัฐธรรมนูญลงจากรถไฟ กลดกางขึ้นทันที นายมงคลอุ้มพานรัฐธรรมนูญเดินตรวจพลข้าราชการ มีคนกลางกลดไปตลอดแถว ดูรัฐธรรมนูญกลางกลดแล้วเหมือนจริง ๆ พระเจ้าแผ่นดิน สมกับ ‘พระมหากษัตริย์รัฐธรรมนูญ’…”

ความศักดิ์สิทธิ์ของพานรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นนี้ ได้ผสานเข้ากับวิถีชีวิตให้เป็นวัฒนธรรมของประชาชนในระยะเวลาอันรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นจากการตื่นตัวเรื่องพานรัฐธรรมนูญที่มีมากขึ้นทุกขณะ

โดยตั้งแต่ปลายปี 2477 เป็นต้นมา หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นหลายอำเภอได้ร้องขอมายังรัฐบาลว่า ในระดับอำเภอควรให้มีพานรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเอง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาหารือถึงเรื่องนี้ หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่า เป็นการไม่สมควร มองว่าการจัดสร้างพานรัฐธรรมนูญ 70 ชุดเมื่อครั้งแรกนั้น ได้กระทำพิธีการประหนึ่งหล่อพระ แต่มาขณะนี้กลับจะมาขอสร้างพานรัฐธรรมนูญกันโดยง่าย ตั้งคำถามว่า ใครเรี่ยไรเงินมาขอให้สร้าง ก็ให้สร้างอย่างนั้นหรือ

เช่นเดียวกับหลวงนาถนิติธาดากล่าวไปในทิศทางเดียวกับหลวงวิจิตรวาทการว่า หากยินยอมให้ระดับท้องถิ่นมีพานรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง ก็กังวลว่าจะประดิษฐานในที่ไม่เหมาะสม และยังเป็นการทำพร่ำเพรื่อ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมลง

ขณะที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ทรงเห็นว่า “พานรัฐธรรมนูญนี้ถือว่าขลัง เผยแพร่ไปมากเก๊งตามจิตต์วิทยาว่าขลัง หรือสงวนไว้ขลัง ถ้าถือว่าแพร่หลายไปทำให้คนรู้จัก และเลื่อมใสยิ่งขึ้น ก็ควรทำให้แพร่หลายไป”

ท้ายที่สุด รัฐบาลยินยอมให้มีการสร้างพานรัฐธรรมนูญในระดับท้องถิ่นได้ แต่จะต้องทำเรื่องผ่านสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ และมอบหมายให้กรมศิลปากรมีหน้าที่รักษาแบบพานรัฐธรรมนูญ

ครั้นเมื่อมีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ภายในงานก็ยังมีพิธีกรรมเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่รัฐธรรมนูญ มีการประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้กราบไหว้ มีพิธีสมโภช พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ฯลฯ

ไม่เพียงแต่พิธีกรรมเท่านั้น ในด้านสถาปัตยกรรมก็มีการยกรัฐธรรมนูญให้เทียบเคียงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยภายในงานฉลองรัฐธรรมนูญมีการสร้างพลับพลาจตุรมุขสำหรับประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญ ซึ่งพลับพลาจตุรมุขถือเป็นสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูง ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายว่า การสร้างพลับพลาจตุรมุขนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความตั้งใจที่จะยกรัฐธรรมนูญให้มีสถานะที่สูงส่ง ให้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์เทียบเคียงกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ชาตรี ประกิตนนทการ ตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามที่จะสร้างพิธีกรรมเสริมมิติความศักดิ์สิทธิ์แก่สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ เพื่อแทนที่ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมและสัญลักษณ์เดิมในระบอบเก่า โดยพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรัฐธรรมนูญ อาจเทียบได้กับพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ เช่น การใช้คำศัพท์ประเภท อัญเชิญ ประดิษฐาน สักการะ กับพานรัฐธรรมนูญ รวมถึงการใช้เจ้าพนักงานภูษามาลามาอัญเชิญรัฐธรรมนูญ

“อาจมองได้ว่า เป็นความพยายามที่จะแย่งชิงและแข่งบารมีทางการเมืองกับกลุ่มอำนาจเก่า โดยสื่อผ่านพิธีกรรมใหม่และสัญลักษณ์ใหม่ในงานศิลปกรรม” ชาตรี ประกิตนนทการ กล่าว

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า คณะราษฎรพยายามทำให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวิธีการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงรัฐธรรมนูญโดยง่ายที่สุด ผ่านพานรัฐธรรมนูญ อันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ใช้ประกาศยืนยันสถานะของรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศ

เกษียร เตชะพีระ วิเคราะห์ว่า “เนื้อแท้ของกระบวนการทำให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นไทยนั้นคือทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นวัตถุของขลัง (Constitutional Fetishism) นั่นเอง ผ่านการทำให้มันมีรูปร่าง (Reification) ทำให้มันศักดิ์สิทธิ์ (Monumentalization) เพื่อหวังผลบั้นปลายให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอันชอบธรรมในระบอบใหม่ เทียบเคียงกับสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่านั่นเอง”

เรื่องพานรัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า “ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ” (Cult of The Constitution) นอกจากนี้ ยังปรากฏสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกมากมายหลายรูปแบบ ทว่า พานรัฐธรรมนูญดูจะเป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุดแบบหนึ่ง ปรากฏให้เห็นทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์พานเทิดรัฐธรรมนูญในหลายจังหวัด ตรามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตราเทศบาลนครราชสีมา นนทบุรี พัทลุง บุรีรัมย์ หาดใหญ่ ฯลฯ เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมทั้งภาพเขียน หรือปูนปั้นตามวัด และอื่น ๆ อีกมากที่มีพานรัฐธรรมนูญประกอบเป็นส่วนหนึ่ง

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อธิบายว่า ภายหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา ทำให้เกิดลัทธิ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ขึ้นแทนที่ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ เป็นผลทำให้รัฐบาลเลิกเอาจริงเอาจังกับการเผยแพร่รัฐธรรมนูญไปในที่สุด และกล่าวสรุปว่า

“จึงไม่น่าแปลกใจนักว่า ทำไมลัทธิบูชารัฐธรรมนูญของสยามถึงหายสาบสูญไปได้อย่างรวดเร็วและแทบไม่เหลือร่องรอย…ตราบใดที่ยังถูกรับรู้ใต้เงาของสิ่งอื่น รัฐธรรมนูญย่อมขาดโอกาสที่จะหยั่งรากลงในจิตสำนึกของผู้คนอย่างแนบแน่น และเป็นตัวของตัวเอง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มานิตย์ นวลละออ. (2540). การเมืองไทยยุคสัญลักษณรัฐไทย. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองรัตน์พริ้นติ้ง.

ชาตรี ประกิตนนทการ. (2552). ศิลปะ-สถาปัตยกรรม คณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ : มติชน.

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (ธันวาคม, 2558). “ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ” กับสยามสมัยคณะราษฎร. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 2.

ศราวุฒิ วิสาพรม. (กรกฎาคม, 2557). การเมืองช่วงรุ่งอรุณแห่ง “ระบอบประชาธิปไตย” กับชีวิตประจำวันประชาชน. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 35 ฉบับที่ 9.

เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (21-27 มิถุนายน, 2556). ‘พานแว่นฟ้า’ บนหน้าบัน จาก ‘พระราชลัญจกร’ สู่ ‘พานรัฐธรรมนูญ’. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1714.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2563