“อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ” ในอีสาน “อนุสรณ์รำลึกประชาธิปไตย” แห่งแรกของไทย

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม, อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ
อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ” ชื่อที่เราส่วนใหญ่ไม่คุ้นหู ลองค้นหาในกูเกิ้ล แม้จะแสดงผลการค้นหาประมาณ 131,000 รายการ หากคำตอบที่ได้เกือบทั้งหมดเป็น “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อเปลี่ยนคำค้นหาเป็น “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ผลการค้นหาจะเพิ่มเป็นประมาณ 650,000 รายการ นั่นคือการเสาะหาในโซเชียลมีเดีย

แต่ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นคว้ากลับไปในเอกสารเก่าของประเทศที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเอกสารวิชาการอีกหลายสิบรายการ เพื่อเป็นข้อมูลใช้เขียนเป็นบทความ ชื่อ “มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2561

ทำให้เรารู้ว่า นอกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 1 แห่งแล้ว ยังมีที่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงประชาธิปไตยของชาติอีกหลายแห่งนั่นก็คือ “อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ”

โดยในช่วงปลายทศวรรษ 2470 จนถึงปลายทศวรรษ 2480 มีการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญกระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคอีสาน

อนุสาวรีย์บางแห่งในภาคอีสานยังมีมาก่อนหน้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่กรุงเทพฯ (เปิด 24 มิถุนายน 2482 ) เสียอีก เช่น อนุสาวรีย์จังหวัดสุรินทร์ (บริเวณหน้าศาลากลาง) และจังหวัดร้อยเอ็ด (กลางบึงพลาญชัย) ทำพิธีเปิดในวันที่ 10 ธันวาคม 2479

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ
อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด จากภาพเป็นคณะปศุสัตว์อำเภอถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ (ภาพจาก สุรินทร์สโมสร ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๖ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๑))

หรืออนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม ที่ก่อสร้างใน พ.ศ. 2477 ก็เป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกของประเทศที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญก่อนอนุสาวรีย์ที่กรุงเทพฯ เช่นกัน

ขอยกตัวอย่างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดสุรินทร์ ที่ตั้งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัด  ตามข้อมูลที่ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ได้ค้นคว้า ดังนี้

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ออกแบบก่อสร้างให้สื่อถึงแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยของคณะราษฎร โดย อนุสาวรีย์มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าตั้งอยู่บนฐาน 2 ชั้น ที่ฐานชั้น 2 มีแผ่นโลหะจารึกรายชื่อผู้บริจาคเงินจำนวน 137 ราย (ตั้งแต่ 5-80 บาท)

ฐานด้านล่างเป็นหกเหลี่ยม แต่ละด้านของฐานมีเสาหัวบัวอยู่ด้านละต้น รวมทั้งหมด 6 ต้น  ที่ด้านล่างของเสาจารึกข้อความว่า “1 เอกราช 2 ความปลอดภัย 3 ความสามัคคี 4 ความเสมอภาค 5 เสรีภาพ 6 การศึกษา”

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ
จารึกรายนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ (ภาพจาก ฉวีวรรณ ดวงจันทร์)

อนึ่งแผ่นโลหะจารึกรายชื่อผู้บริจาคที่กล่าวไปข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นว่า มีบุคคลหลายอาชีพต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างอนุสาวรีย์ในครั้งนั้น เช่น

กลุ่มนักการเมืองในจังหวัดสุรินทร์และพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ ขุนรักษ์รัษฎากร (จาน ไมยรัตน์) ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์, ขุนพิเคราะห์คดี (อิน อินตะนัย) ผู้แทนราษฎรจังหวัดขุขันธ์ ฯลฯ

กลุ่มพ่อค้าและกิจการชาวจีน ได้แก่ นายหยงเทียน จินดาประเสริฐ, นายพิมพ์ เจริญพันธ์, ยี่ห้ออังกำเฮง, ยี่ห้อลิ่มหลีฮวด, โรงสีไฟไชเซ่งหลี ฯลฯ

กลุ่มข้าราชการ ขุนมูลศาสตร์สาทร (พงษ์ มูลศาสตร) นายอำเภอสังขะ, พระอินทเบญญา (นักบุสราคำ วัตถา) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์, นายมั่น เพ็ชร์ศรีสม ครูโรงเรียนสุรวิทยา, นายแก้ว กนกนาก ทนายความจังหวัดสุรินทร์ ฯลฯ

นอกจากนี้ “อนุสาวรีย์จำลองแบบชั่วคราว” ของจังหวัดชัยภูมิที่สร้างขึ้นในคราวฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ที่ทำจากคอนกรีตอย่างแข็งแรง จึงหลงเหลืออยู่แห่งเดียวและเปลี่ยนอนุสาวรีย์ชั่วคราวเป็นอนุสาวรีย์ถาวร

บรรยากาศงานฉลองวันชาติจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง การกล่าวปาฐกถาของข้าหลวงประจำจังหวัด และการจัดขบวนแห่ฉลองวันชาติ (ภาพจาก รูปต่างๆ จากหนังสือท่องเที่ยวสัปดาห์ ตั้งแต่ก.ค.-มี.ค. ๒๔๘๒ และปีที่ ๓ ตั้งแต่เม.ย.-ธ.ค. ๒๔๘๓)

ไม่เพียงแต่อนุสาวรีย์รำลึกประชาธิปไตยเท่านั้นที่ชนบทอย่างอีสานมี การเฉลิมฉลองวันชาติ แต่ละจังหวัดก็จัดงานในลักษณะคล้ายคลึงกับในพระนคร คือ มีการตกแต่งสถานที่ราชการ ร้านค้า บ้านเรือน, มีการออกร้านและประกวดสินค้า, มีการละเล่นประเภทต่างๆ, มีการทำบุญตามวัดต่างๆ ฯลฯ

ทั้งหมดนั่นคงเป็นการสะท้อนความตื่นตัวของคนอีสาน

ความตื่นตัวของคนอีสานหลังการปฏิวัติ 2475 ที่ผู้เขียน (ศรัญญู เทพสงเคราะห์) อธิบายให้เห็นว่า ดังเช่น

ขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) นายอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ชี้แจงถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญว่า “กฎหมายว่าอำนาจสูงสุด จุดที่หมายเป็นของไพร่ราษฎร์ เป็นอำนาจทั่วๆ กันไป บ่อมีใผได้มีอำนาจลื่น” ซึ่งมีความหมายว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยมีราษฎรเป็นศูนย์กลางในการปกครอง ราษฎรมีอำนาจเสมอภาคกัน ไม่มีผู้ใดมีอำนาจมากหรือน้อยไปกว่ากัน

ขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) นายอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี (ภาพจาก “คือผู้อภิวัฒน์…ถึงรัฐมนตรีอีสาน ถึงกวีพื้นบ้าน คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย”)

หรือเมื่อเกิดกบฏบวรเดช เดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ฝ่ายกบฏที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตแม่ทัพที่นครราชสีมา คาดหวังว่าหัวเมืองอีสานจะเป็นกำลังสนับสนุนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย แต่การไม่ได้เป็นเช่นนั้น ข้าราชการและพลเมืองของจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม ฯลฯ กลับจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครต่อต้านฝ่ายกบฏ หรือจับกุมทหารฝ่ายกบฏ

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนที่อธิบายความสำคัญของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภาคอีสานฉายภาพสะท้อนสำนึกพลเมืองในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2562