มรดกคณะราษฎรผ่านสถาปัตยกรรมความเป็น “สมัยใหม่” สู่เมืองมหาสารคาม

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475  ในยุคของ “คณะราษฎร” นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ วัฒนธรรมประเพณีของคนไทยในสมัยนั้นถูกเปลี่ยนแปลงไป ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี งานด้านสถาปัตยกรรมในยุคของคณะราษฎรก็ได้มีการก่อให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากยุคก่อนหน้าและหลังจากนั้นอย่างชัดเจน 

สถาปัตยกรรมในยุคนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวและความหมายที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสถาปัตยกรรมแบบชั่วคราวที่สร้างขึ้นภายในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นการสะท้อนให้เห็นความหมายและอำนาจที่ถูกถ่ายทอดออกมาทางสถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” ที่สร้างขึ้นมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ของเมืองมหาสารคามที่เห็นได้ชัดเจนเป็นอย่างแรกเลยนั่นก็คือ การสร้างอนุสาวรีย์พานเทอดรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะมีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้ ซึ่งคณะราษฎรได้เลือกสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ โดยมีการจัดทำแบบพานรัฐธรรมนูญส่งไปตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักอนุสาวรีย์เหล่านี้

ส่วนมากจะตั้งอยู่ที่ภาคอีสาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้แทนราษฎรแสดงบทบาทอย่างโดดเด่น และประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงหลังปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ในปัจจุบันอนุสาวรีย์ยังมีเหลืออยู่ 6 แห่ง ได้แก่ ที่จังหวัดมหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ขอนแก่น และบุรีรัมย์

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์เมื่อแรกสร้างมีฐานเป็นทรงกระบอก (ซ้าย) และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์หลังจากเปลี่ยนแปลงฐานเป็นเสาสูงลายธงชาติ (ภาพจาก เฟซบุ๊กบุรีรัมย์ น่าอยู่)

อนุสาวรีย์พานเทอดรัฐธรรมนูญ

อนุสาวรีย์พานเทอดรัฐธรรมนูญที่จังหวัดมหาสารคาม เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกของสยาม  ซึ่งเมื่อแรกสร้างอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญนี้ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม (หลังเก่า) ศาลากลางหลังเก่าอยู่บริเวณตรงข้ามกับโรงเรียนผดุงนารี แต่ ณ ปัจจุบันนี้ได้มีการเคลื่อนย้ายไปตั้งที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม อนุสาวรีย์พานเทอดรัฐธรรมนูญนี้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477  เป็นการร่วมมือกันสร้างระหว่างข้าราชการและพลเมืองจังหวัดมหาสารคาม คาดว่าอาจเป็นช่างชาวเมืองมหาสารคามหรืออาจจะมีช่างชาวญวณเป็นผู้ก่อสร้างร่วมด้วย เนื่องจากช่างญวณที่อยู่ในจังหวัดมหาสารคามค่อนข้างเก่งในการใช้ปูนสำหรับก่อสร้าง

อนุสาวรีย์มีลักษณะเป็นฐานสูง มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญอยู่ด้านบน ใต้ฐานของพานรัฐธรรมนูญยังมีการสลักเกี่ยวกับหลัก 6 ประการ คือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา เมื่อสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเสร็จก็มีการฉลองรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนที่ศาลากลางหลังเก่า

เหตุการณ์ความไม่สงบ

การสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่เมืองมหาสารคามนี้ก็เพื่อให้พลเมืองชาวมหาสารคามรำลึกถึงและเห็นคุณค่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การสร้างอนุสาวรีย์นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว การสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญในเมืองมหาสารคามก็เนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในจังหวัดมหาสารคาม  ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐบาลกลาง ของกลุ่มคนที่เรียกว่า กบฏผู้มีบุญ ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

จากบันทึกเกี่ยวกับเรื่องกบฏผู้มีบุญในจังหวัดมหาสารคามโดย นายบุญช่วย อัตถากร นายกเทศมนตรีคนแรกของจังหวัดมหาสารคาม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2480-2511) กล่าวไว้ว่า ต้นพ.ศ. 2476 ได้เกิดภัยธรรมชาติ เมืองมหาสารคามฝนตกหนักมาก ทุ่งนาที่ปลูกข้าวเสียหาย  จึงเกิดกบฏขึ้นมาเรียกว่า กบฏหมอลำน้อย 

กบฏกลุ่มนี้มีนายชาดา หรือ คำสา สุมังกะเศษ เป็นผู้นำ ได้เที่ยวร้องรำอ้างว่าเป็นผู้วิเศษที่มาสั่งสอนและทำนายแก่ประชาชนจังหวัดมหาสารคาม การร้องรำของกบฏกลุ่มนี้จะเป็นการยุยงให้ประชาชนไม่จ่ายภาษี ไม่ให้ส่งเด็กไปเรียน ไม่ให้กราบไหว้พระสงฆ์ รวมถึงทำนายว่าคนอีสานกับคนภาคกลางจะมีการรบต่อสู้กัน ผู้ที่จะปกครองและมีอำนาจก็คือกบฏหมอลำน้อยเอง แต่ในที่สุดกบฏกลุ่มนี้ก็ถูกจับจำคุก

นอกจากนี้ยังคงมีการเคลื่อนไหวในแบบลักษณะกบฏผู้มีบุญขึ้นอีกในเมืองมหาสารคาม  คือ กบฏเกือกขาว (พ.ศ. 2476) ที่อำเภอตลาด นายบุญช่วย อัตถากร บันทึกไว้ว่า นายชาลี มหาวงศ์ เป็นผู้นำ กับพวกได้อ้างว่าเป็นผู้วิเศษเหาะเหินได้ ถ้าผู้ใดมาเรียนธรรมด้วยจะสามารถเหาะเหินได้เช่นกัน ราษฎรที่ยังโง่เขลาก็คล้อยเชื่อตามไปด้วย  นายชาลี อ้างว่าก่อนที่จะเหาะเหินได้จะต้องสวมรองเท้าสีขาว เพื่อไม่ให้เท้าถูกดิน ราษฎรก็พากันไปซื้อรองเท้าสีขาวสวมใส่ เหตุที่เรียกว่ากบฏเกือกขาวก็น่าจะมาจากการที่ให้สวมใส่รองเท้าสีขาว ต่อมาก็ถูกจับจำคุก 

เมื่อ พ.ศ. 2477 ยังเกิดกบฏพวกสอนธรรม เป็นกลุ่มสอนธรรมวิเศษ ที่อ้างว่าเป็นผู้วิเศษ ชักจูงประชาชนก่อความวุ่นวายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อกบฏต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองมหาสารคามนี้ได้ยุติลงแล้ว หลวงอังคณานุรักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม เห็นว่าชาวมหาสารคามยังไม่เห็นค่าของรัฐธรรมนูญ เพราะว่ายังมีประชาชนที่เชื่อฟังคำทำนายกบฏผู้มีบุญ ดังนั้น จึงพยายามปลูกฝังให้ชาวมหาสารคามได้มีความตระหนักรู้คุณค่าของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเสนอให้กรมการจังหวัดมหาสารคามสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวมหาสารคามได้รับรู้อย่างทั่วถึงเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย และหลวงอังคณานุรักษ์ยังเห็นว่าชาวจังหวัดมหาสารครามจะมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ถ้าหากว่ามีความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเอง 

สถาปัตยกรรม “สมัยใหม่”

จะเห็นได้ว่าในการสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญขึ้นมาที่จังหวัดมหาสารคามนี้เป็นการสร้างสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” ขึ้นความเป็น “สมัยใหม่” ของศิลปสถาปัตยกรรมนั้นอาจจะมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 หรืออาจจะพึ่งมีเมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 แต่เมื่อประเทศไทยเปิดรับวัฒนธรรมและเทคโนโลยีจากชาติตะวันตก ประเทศไทยต้องการปรับปรุงประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ในด้านสถาปัตยกรรมประติมากรรมก็เช่นเดียวกัน ก็ย่อมเริ่มที่จะยอมรับแบบแผนอย่างชาติตะวันตกเช่นการมีพระบรมรูปต่าง ๆ

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในสมัยรัชกาลที่ 7 อนุสาวรีย์แบบตะวันตกเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้บุกเบิกและวางรากประติมากรรมแบบใหม่ในประเทศไทย

ในยุคใหม่อนุสาวรีย์เริ่มมีลักษณะเชิงสัญลักษณ์มากขึ้น มีความเป็นศิลปกรรมสาธารณะ สื่อความหมายได้ง่ายขึ้น ประจวบกับหลัง พ.ศ. 2475 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี อยากจะให้ประเทศไทยมีความเป็นอารยประเทศมากขึ้น อีกทั้งเหตุผลในการต้องการที่จะประกาศประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับการความเป็นสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” ดังนั้น สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นที่เมืองมหาสารคามจึงเป็นสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” ที่เป็นสถาปัตยกรรมการแสดงออกในนัยด้านทางการเมืองที่ต้องการจะสื่อถึงอำนาจของระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านการสร้างสถาปัตยกรรมหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถือว่าเป็นนัยหรือสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยได้ดีเลยทีเดียว

นอกจากนี้ อนุสาวรีย์นี้ยังสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์หรือนัยยะในการหลอมรวมประชาชนชาวมหาสารคามให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดได้ยุติลงก็มีการใช้อนุสาวรีย์นี้เพื่อให้ประชาชนได้รำลึกถึงเห็นค่าของระบอบการปกครองประชาธิปไตย และจะทำให้ประชาชนนั้นมีความสามัคคีกลมเกลียวกันมากยิ่งขึ้น

 


อ้างอิง : 

ชาตรี ประกิตนนทการ. คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม “อำนาจ”.กรุงเทพฯ: มติชน, 2548

ทองเลี่ยม เวียงแก้ว ผู้ให้สัมภาษณ์ กิตติยา มหาวงษ์ เป็นผู้สัมภาษณ์ ณ บ้านเลขที่ 488 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

โชติช่วง นาดอน. อีสานสะเทือน. ทางอีศาน 1, 2 (มิ.ย. 2555) 29-32

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. ศิลปวัฒนธรรม. มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน, 2561

อิริยา อรุณินท์. อนุสรณ์สถาน:ภูมิทัศน์แห่งความทรงจำ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 24 มิถุนายน 2562