เส้นทางสู่กำเนิด “อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ” ที่ขอนแก่น และการเคลื่อนไหวในอีสานทศวรรษ 2480

ภาพประกอบเนื้อหา - อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เกิดประดิษฐกรรมว่าด้วยเรื่องชาติ อันสืบเนื่องมาจากการผลักดันสำนึกว่าด้วยเรื่อง “ชาติไทย” อย่างแพร่หลาย การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างก็เริ่มส่งอิทธิพลไปสู่ระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่แถบอีสาน ซึ่งปรากฏความเคลื่อนไหวสร้าง อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ในหลายจังหวัด รวมถึงในขอนแก่น

ในบทความเรื่อง “มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน” โดยศรัญญู เทพสงเคราะห์ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2561 บทความนี้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารเก่าและเอกสารทางวิชาการซึ่งสะท้อนสภาพและบทบาทของพลเรือนในแง่มุมที่เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญและระบอบใหม่หลายประการ แง่มุมที่ศรัญญู หยิบยกมานำเสนอเพื่อสะท้อนภาพก็คือแง่มุมเรื่องการมีส่วนร่วมในอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2480 ปรากฏส.ส. รุ่นใหม่ในหลายจังหวัดแสดงให้เห็นว่าระบอบใหม่เปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นก้าวเข้าสู่การเมืองระดับชาติอย่างเท่าเทียม ส่วนของพลเมือง ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อธิบายไว้ว่า พลเมืองอีสานพยายามมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญและระบอบใหม่อย่างกระตือรือร้น

แง่มุมที่สะท้อนภาพข้างต้นคือ ข้าราชการและประชาชนในอีสานร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองเป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงคุณค่าและความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2480 ที่ประชาชนในอำเภอขุหลุ จังหวัดอุบลราชธานี ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ชี้ว่า แม้รัฐบาลจะไม่เห็นด้วยกับการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในระดับอำเภอ เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญฉบับจำลองประจำในแต่ละจังหวัดแล้ว แต่ยังเปิดช่องว่า ถ้าประชาชนในท้องถิ่นประสงค์ออกค่าใช้จ่ายสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในระดับอำเภอด้วยความสมัครใจ รัฐบาลก็ไม่ขัดข้อง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงพบเห็นว่า เริ่มมีจังหวัดอื่นๆ เคลื่อนไหวลักษณะนี้ตามติดกันมา ในจังหวัดขอนแก่นการเคลื่อนไหวจัดสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองปรากฏในจังหวัดขอนแก่น ช่วงพ.ศ. 2482-83

สำหรับจังหวัดขอนแก่น ข้าราชการและประชาชนขอนแก่นพยายามร่วมแรงร่วมใจในการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการส่งเสริมรัฐธรรมนูญในจังหวัดของตน แม้ว่าจะถูกทัดทานจากส่วนกลาง แต่ยังผลักดันโครงการอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่ขอนแก่นมีลักษณะเป็นวงเวียนที่ประชาชนที่สัญจรผ่านสามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัด รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งช่วยเสริมภูมิทัศน์ของเมืองให้ทันสมัยมากขึ้น

นอกจากนี้ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ยังระบุว่า ปรากฏหลักฐานที่ชี้ว่ากรมการจังหวัดขอนแก่นมีแนวคิดสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 โดยอาศัยงบประมาณจากการเรี่ยไรเงินชาวขอนแก่น กระทรวงมหาดไทยมีความเห็นว่า การส่งเสริมรัฐธรรมนูญโดยการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ รัฐบาลยังไม่มีความประสงค์ที่จะจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้นในการขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญมานี้ จะต้องพิจารณาถึงสถานที่และอาณาบริเวณว่ามีความเหมาะสมเพื่อเป็นการส่งเสริมและเชิดชูรัฐธรรมนูญ [1]

ปลัดกระทรวงมหาดไทยยังมีความเห็นว่า “การสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญนี้เป็นความเห็นชอบของท้องถิ่นโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ทางกระทรวงไม่ควรจะล่วงล้ำให้มากเกินควรก็จะได้ตอบอนุมัติและตักเตือนกำชับในเรื่องความเหมาะสมของสถานที่และแบบแปลน” [2]

ถึงแม้ว่าทางกระทรวงมหาดไทยจะยินยอมให้คณะกรมการจังหวัดขอนแก่นสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ แต่หลวงเชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งข้อสังเกตและขอให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการเรี่ยไรเงินจากประชาชนที่อาจนำไปสู่ข้อครหาได้ และแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับการส่งเสริมระบอบรัฐธรรมนูญของจังหวัดขอนแก่นว่า

“อนึ่งการจะเพาะหรือปลูกฝังความมั่นคงในระบอบรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่การสร้างอนุสสรณ์ที่เป็นเสาหิน หรือรูปจำลอง แต่อยู่ที่การปฏิบัติของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองที่จะชักจูงด้วยวิธีอื่น ฉะเพาะอย่างยิ่ง คือการปฏิบัติตนให้สมกับสมัยรัฐธรรมนูญ” [3]

หากพิจารณาที่ตั้งของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นแล้วจะพบว่า แตกต่างจากอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแห่งอื่นในอีสานที่สร้างขึ้นก่อนหน้านี้ โดยอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ข้าหลวงประจำจังหวัดได้กำหนด อันสะท้อนถึงอำนาจการตัดสินใจของข้าราชการส่วนภูมิภาคในการสร้างอนุสาวรีย์แต่ละแห่ง แต่ที่ตั้งของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่น กลับมาจากการตัดสินใจของเทศบาลเมืองขอนแก่นสมัย นายโสภัณ สุภธีระ เป็นนายกเทศมนตรี โดยอนุสาวรีย์มีลักษณะเป็นวงเวียนที่เรียกว่า “วงเวียนประชาสำราญ” หรือ “วงเวียนรัฐธรรมนูญ” อันเป็นจุดตัดระหว่างถนนศรีจันทร์กับถนนประชาสำราญ [4] และเป็นที่น่าสังเกตว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับศาลหลักเมืองแห่งใหม่ที่เพิ่งย้ายมาตั้งใน พ.ศ. 2485 เทวสถานแม่ธรณีที่สร้าง พ.ศ. 2486 และบ้านของนายกเทศมนตรี [5]

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นมีลักษณะเป็นป้อมหกเหลี่ยม ด้านบนมีพานแว่นฟ้าประดิษฐานรัฐธรรมนูญ โดยป้อมหกเหลี่ยมสะท้อนนัยยะหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งหากพิจารณาจากสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์มีลักษณะคล้ายคลึงกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่สร้างชั่วคราวในงานฉลองวันชาติ พ.ศ. 2483 เพียงแต่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นไม่มีปีกทั้ง 4 ด้าน และบริเวณป้อมมีประตูเพียงแห่งเดียว โดยหันไปหาทางเข้าบ้านของนายกเทศมนตรีพอดี นอกจากนี้เหนือซุ้มประตูยังมีตัวเลข “๒๔๘๖” ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นปีที่เปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้

 


เชิงอรรถ

[1] หจช. มท.5/63 เรื่องคณะกรมการจังหวัดขอนแก่นขออนุญาตทำการเรี่ยไรเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์รัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2481).

[2] เรื่องเดียวกัน.

[3] เรื่องเดียวกัน.

[4] งานพระราชทานเพลิงศพ นายโสภัณ สุภธีระ ณ เมรุวัดหนองแวง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พุทธศักราช 2525, (กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2525), ไม่มีเลขหน้า.

[5] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดขอนแก่น. (กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร, 2542), น. 61.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงข้อมูลจากบทความ “มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน” โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2561 (เนื้อหาในออนไลน์ได้ปรับเชิงอรรถใหม่)

เผยแพร่เนื้อหานี้ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2563