อนุสรณ์ประชาธิปไตย ไม่ได้มีแค่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จและทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483

อนุสรณ์ที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทยที่รู้จักกันกว้างขวางโดยทั่วไปคงต้องยกให้ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” บริเวณถนนราชดำนินกลาง แต่ยังมีอนุสรณ์อีกหลายแห่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อระลึกถึงการมีประชาธิปไตยเช่นกัน ทั้งที่เป็นอนุสาวรีย์, วัด, สะพาน และถนน ฯลฯ เช่น

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ที่มีการก่อสร้างตามจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2470-2480 ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคอีสาน ปัจจุบันกลับหลงเหลืออนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญอยู่เพียง 6 แห่ง ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดบุรีรัมย์

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบางแห่งยังมีมาก่อนหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ (เปิด 24 มิถุนายน 2482) เสียอีก เช่น อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม ที่ก่อสร้างใน พ.ศ. 2477 และยังเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกของประเทศที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์ที่กรุงเทพฯ, อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดสุรินทร์ (บริเวณหน้าศาลากลาง) และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดร้อยเอ็ด (กลางบึงพลาญชัย) ทำพิธีเปิดในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 ฯลฯ

วัดพระศรีมหาธาตุ เดิมชื่อ “วัดประชาธิปไตย” สร้างในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยกำหนดให้ก่อสร้างในบริเวณใกล้ๆ กับ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ทำพิธีเปิดทางเป็นทางการ หรือถวายเป็นเสนาสนะ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 ซึ่งตรงกับวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยครบ 10 ปี และก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้หน้าพระอุโบสถ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย และบรรจุอัฐิของสมาชิกคณะราษฎร

สะพานเกษะโกมล เป็นสะพานข้ามคลองสวัสดิเปรมประชากร ส่วนถนนอำนวยสงคราม (เริ่มต้นจากสะพานเกษะโกมลถึงถนนสามเสน) ทั้งชื่อสะพานและถนนมาจากชื่อสกุลและนามบรรดาศักดิ์ของ พันโทหลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 8 เป็นหนึ่งในคณะร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

รัฐบาลให้เกียรตินำชื่อสกุลและนามบรรดาศักดิ์ของพันโทหลวงอำนวยสงครามมาตั้งเป็นชื่อสะพานและถนน เนื่องจากการสละชีวิตในสมรภูมิทุ่งบางเขนครั้งปราบกบฏบวรเดช ที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช นำกำลังทหารจากหัวเมืองยกเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อบังคับรัฐบาลในสมัยนั้นให้ลาออก ได้ปะทะกับทหารรัฐบาลที่ทุ่งบางเขน พันโทหลวงอำนวยสงคราม ผู้อำนวยการปราบกบฏได้นำทหารเข้าโจมตีต่อสู้ทหารฝ่ายกบฏ จนฝ่ายรัฐบาลได้รับชัยชนะ

ถนนพหลโยธิน มีชื่อเดิมว่า “ถนนประชาธิปัตย์” เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ที่เชื่อมภาคกลางกับภาคเหนือ สมัยรัฐบาลจอมพล ป. มีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็นถนน “ถนนพหลโยธิน” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2493 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เชษฐบุรุษแห่งระบอบประชาธิปไตย และนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย

ฯลฯ

คลิกอ่านเพิ่มเติม:


ข้อมูลจาก

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. “มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2561

ชาตรี ประกิตนนทการ. “วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน : วัดสัญลักษณ์ประชาธิปไตยยุคคณะราษฎร” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2550

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมือง, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 7 สิงหาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2564