ที่มาของ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ”

อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กบฏบวรเดช พระองค์เจ้าบวรเดช ตุลาคม ปี 2476
"งานทำบุญอุทิศแก่ทหารและตำรวจผู้เสียชีวิตในคราวปราบกบฏ" ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ภาพจากสมุดภาพจอมพล ป. ในพิพิธภัณฑ์ทหารอาคารโรงเรียน จปร. ๑๐๐ ปี จังหวัดนครนายก)

“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” มีที่มาอย่างไร เกี่ยวพันประการใดกับ “กบฏบวรเดช” ที่นำโดย พระองค์เจ้าบวรเดช ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ถ่ายทอดไว้ในบทความ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กับการรำลึกวีรชนผู้พิทักษ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2556 ดังนี้ (จัดวรรค ย่อหน้าใหม่ และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์)


 

Advertisement

ที่มาของการสร้าง “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” มีความสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อมีบุคคลคณะหนึ่งที่ประกอบด้วยทหารและพลเรือน เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” มี นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้นำ ได้นำทหารจำนวนมากจากหัวเมือง ทั้งจากอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มายึดบริเวณดอนเมือง เพื่อบีบบังคับให้ รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ลาออก หรือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมือง

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับ คณะกู้บ้านเมือง ให้ล้มเลิกความคิดล้มล้างรัฐบาล และถอนทหารกลับสู่ที่ตั้งแต่กลับไม่เป็นผล ดังนั้น พระยาพหลฯ จึงตั้งให้ หลวงพิบูลสงคราม เป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารออกปราบปรามฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง โดยมีการปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองได้พ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีน แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลได้สูญเสียทหารและตำรวจจำนวน 17 นาย ในการปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญครั้งนี้

หลังเหตุการณ์สงบเรียบร้อย รัฐบาลได้นำศพของผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และได้จัดพิธีฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่บนท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดงานศพของสามัญชนบนท้องสนามหลวง

จากนั้นได้บรรจุอัฐิไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองตามประเพณีของทหาร และตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย เป็นเวลา 3 ปี ต่อมาเมื่อทางราชการสร้าง อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จึงนำอัฐิของวีรชน 17 นาย มาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์

ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ เริ่มปรากฏนับตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2476 ก่อนที่จะมีพิธีฌาปนกิจทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบ “กบฏบวรเดช” ณ ท้องสนามหลวง โดยในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2477 พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติด่วนเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมคมนาคมกรุงเทพพระมหานครกับดอนเมือง และเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พ.ศ. 2476”

“งานทำบุญอุทิศแก่ทหารและตำรวจผู้เสียชีวิตในคราวปราบกบฏ” ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ภาพจากสมุดภาพจอมพล ป. ในพิพิธภัณฑ์ทหารอาคารโรงเรียน จปร. ๑๐๐ ปี จังหวัดนครนายก)

เหตุผลสำคัญในการเสนอญัตตินี้คือ การตัดถนนจากสนามเป้าไปยังดอนเมือง เพื่อเหตุผลยุทธศาสตร์ทางการทหารในการควบคุมพื้นที่ดอนเมือง และต้องการพัฒนาสนามบินดอนเมืองในเชิงพาณิชย์ ขณะที่การสร้างอนุสาวรีย์เป็นผลพลอยได้จากการตัดถนนเส้นนี้

ดังสะท้อนได้จากเมื่อ นายไสว อินทรประชา ส.ส. สวรรคโลก ถามรัฐบาลว่า ‘…สร้างอนุสาวรีย์นี้สำหรับทหารผู้ปราบกบฏที่ได้เสียชีวิตหรือหมายความว่าทหารทุกคนผู้ปราบกบฏ’ พระยาพหลฯ ได้ตอบว่า ‘ในเรื่องอนุสาวรีย์นี้ ความประสงค์เดิมเราไม่ได้คิดว่าจะสร้างเลย แต่เมื่อบังเอิญสร้างถนนเช่นนี้ก็ประจวบเหมาะ จึ่งเลยถือโอกาสสร้างอนุสสาวรีย์นี้ด้วย’

ทั้งนี้ ตามกฎหมายข้างต้น อนุสาวรีย์ปราบกบฏจะถูกสร้างขึ้นบริเวณลานกว้างบนถนนที่ตัดระหว่างถนนสายกรุงเทพฯ-ดอนเมือง หรือถนนประชาธิปัตย์ ต่อมาใน พ.ศ. 2493 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพหลโยธิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งเป็นถนนใหญ่จากถนนยิงเป้า (สนามเป้า) ไปยังดอนเมือง กับถนนที่ตัดจากสถานีรถไฟหลักสี่ (ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของถนนแจ้งวัฒนะ) โดยลานนี้มีขนาดกว้าง 122.50 เมตร ยาว 90.00 เมตร และตามกฎหมายฉบับนี้ให้ถือว่าลานนี้เป็นส่วนหนึ่งของถนน…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กับการรำลึกวีรชนผู้พิทักษ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475” เขียนโดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2561