ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หากนึกถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษในคุก คำว่า “สะดวกสบาย” ไม่น่าจะผุดขึ้นในสมอง แต่นั่นก็อาจไม่เสมอไป ชุลี สารนุสิต หนึ่งในสมาชิก กบฏบวรเดช เขียนบันทึกเหตุการณ์ระหว่างที่ถูกกุมขังใน คุกบางขวาง 6 ปี ช่วงหนึ่งเอ่ยถึงรายการอาหารที่บางจานประชาชนทั่วไปซึ่งอยู่นอกคุกหลายคนก็อาจไม่เคยลิ้มลองไว้ว่า
“ชีวิตปีแรกในคุกบางขวางการกินอยู่ของพวกเราฟุ่มเฟือยมาก มื้อเช้า กาแฟ ขนมปังกรอบฮันทเลย์แอนด์ปาลเมอร์ เนยตราวัว นมข้นหวานตราหมี ตับห่านกระป๋อง มื้อกลางวันขนมปังสดหรือขนมปังอบกับแฮมหรือไส้กรอกจากซุ่ยเฮงหรือโอเรียนเต็ลโฮเตล หากมีญาติมาเยี่ยม อาจได้กินไอศกรีมจากออนล็อกหยุ่น เค็กจากมอนโลเฮียง หูฉลามร้อนๆ จากแป๊ะม้อ ผลไม้ตามฤดูกาลจากตลาดบางลำภูหรือสพานหัน”
แต่เวลาแห่งความสุขสบายก็หมดไปในปีแรก ความจริงที่เจ็บปวดก็แสดงตัวออกมา เมื่อขึ้นปีที่สอง ชุลีบันทึกว่า
“บัดนี้ส่วนมากในพวกเรามีอัตราโทษประทับไว้บนหน้าผากชัดแจ้งแล้ว การติดคุกมีเวลานับเปนปีๆ ทำให้ต้องระงับตัดทอนความฟุ่มเฟือยลง เพราะเราไม่มีทางจุนเจือระดับอยู่กินของเราให้คงที่อยู่ได้
ยังเหลืออยู่ก็แต่การว่าจ้างผูกอาหารประจำเป็นรายเดือนซึ่งมีพวกแม่ค้าในตลาดจังหวัดนนทบุรีรับทำส่ง และบัดนี้เราก็กำลังดำริห์ที่จะต้องตัดทอนไปอีก เราไม่ยอมเสียรายจ่ายเลยจนสตางค์แดงเดียว เพราะทุกๆ สตางค์ ที่เราจ่ายออกไป มันหมายถึงน้ำพักน้ำแรงความเหน็จเหนื่อยของแม่บังเกิดเกล้า หรือภริยาผู้จงรัก เราจะไม่ยอมจ่ายอะไรเลยจนสตางค์แดงเดียว
แต่อาหารคุกก็เหลือที่จะกลืน! ไม่ต้องกล่าวถึงก็ได้ว่าแกงเผ็ดของคุกมีรสชาติอย่างไร เพียงแต่แกงส้มก็ยังมีรสทำให้ลิ้นชา อาหารของคุกไม่แต่มีรสจัดในทางเผ็ด ทางเค็ม ทางเปรี้ยว ยังมีกลิ่นอับๆ และฝีมือในการปรุงแต่งที่ร้ายกาจอีกด้วย หมูผัดพริกผสมผักบุ้งนั้น หมูมีเนื้อ หนัง มัน ขน เสร็จในตัว, ข้างผักบุ้งก็มีทั้งต้น ใบ ดอก โคนต้น และราก…” [จัดย่อหน่าใหม่ และสั่งเน้นคำ – กองบก.ออนไลน์]
ส่วนชื่อผู้ดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอาหารจานหรูที่นักโทษในคดีกบฏบวรเดชกินกันใน คุกบางขวาง, เหตุที่จ่าย และเลิกจ่ายเพราะอะไร ผู้เขียน (ชุลี สารนุสิต) ไม่ได้บันทึกไว้
อ่านเพิ่มเติม :
- “สู่สมรภูมิบางเขน” กำเนิดและจุดสุดท้ายของกบฏบวรเดช (ชมคลิป)
- บทบาทพลเมืองสยามปราบกบฏบวรเดช ลางาน 7 วันพิทักษ์รธน. ถึงรวมกันบู๊ไล่ทหารได้
- ปมกระสุนปริศนาปลิดชีพพระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้สกัดการติดตามของรัฐบาลขณะกบฏบวรเดชหนี
ข้อมูลจาก :
ชุลี สารนุสิต. แดนหก, โรงพิมพ์สมรรถภาพ พ.ศ. 2488.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2564